Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

แยกห้องนอนลูก เริ่มอย่างไร? กี่ขวบดี?

วัฒนธรรมการแยกห้องนอนนั้นเป็นวัฒนธรรมของตะวันตก เพราะต้องการให้ลูกรู้จักเรื่องการดูแลและรับผิดชอบตัวเอง รวมไปถึงเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมในอนาคต

กลับมาบ้านเราที่เป็นสังคมไทยมีวัฒนธรรมครอบครัวที่อบอุ่น ไม่อยากปล่อยให้เค้าต้องอยู่โดดเดี่ยว สงสารลูก แต่อีกใจก็อยากให้เค้าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลตัวเองได้ ก็เลยจำเป็นต้องแยกห้อง แต่…จะแยกห้องตอนกี่ขวบดีล่ะ? ต้องเริ่มอย่างไรก่อนดี? หันซ้ายหันขวาเริ่มไม่ถูก แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ วันนี้ผู้เขียนมีเทคนิคมาแนะนำ ไปดูกันเลยค่ะ

แยกห้องนอนตอนลูกกี่ขวบดี?

การแยกห้องนอนกับลูกนั้นอันที่จริงก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรตายตัว ถ้าเป็นเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อาจถามความสมัครใจก่อน เพื่อดูความพร้อมทางด้านจิตใจ แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าต้องการแยกห้องกับลูก ก็สามารถทำได้ตั้งแต่ลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่หากคุณพ่อคุณแม่ยังห่วงลูก ยังมีกังวลอยู่ อย่างช้าการแยกห้องไม่ควรปล่อยให้เค้าอายุเกิน 3 ขวบค่ะ

แยกห้องนอน เริ่มอย่างไร?

ค่อยๆ ให้ลูกปรับใจ

  • เริ่มแรกให้ลูกนอนแยกเตียงกับคุณพ่อคุณแม่ก่อน แต่ยังอยู่ในห้องเดียวกัน จนกว่าเค้าจะชิน แล้วค่อยแยกห้อง
  • เพราะความที่คุณพ่อคุณแม่ยังคงเป็นกังวล ยังห่วงลูกอยู่ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เลือกห้องที่อยู่ติดกับห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ ถ้ามีประตูเชื่อมถึงกันได้ก็จะดีมากค่ะ
  • ก่อนพาลูกเข้านอนที่ห้องของเค้า คุณพ่อคุณแม่ควรพาเค้าไปเดินสำรวจรอบๆ ห้องก่อน ว่ามีของอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อให้เค้าได้รู้สึกปลอดภัย
  • กลางดึก หากได้ยินเสียงลูกร้อง คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าไปหาลูก เพื่อให้เค้ารู้สึกอุ่นใจ รู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ยังอยู่ใกล้ๆ เค้า ไม่ได้ทอดทิ้งไปไหน แต่…ไม่ควรเข้าไปหาเกิน 2 ครั้งต่อคืนนะคะ เพราะไม่อย่างนั้นลูกจะร้องหาแต่คุณพ่อคุณแม่ทั้งคืนแน่นอน
  • หากลูกกลัวก็ให้เปิดไฟดวงเล็กๆ หรือไม่ก็แง้มประตูให้แสงไฟส่องเข้ามาได้
  • หากลูกยังมีอาการหวาดกลัวมาก ในระยะแรกให้คุณพ่อคุณแม่อยู่เป็นเพื่อนเค้าจนกว่าเค้าจะหลับ หาหมอนหรือตุ๊กตามาวางข้างๆ ตัวลูกให้เค้ารู้ว่าเค้ามีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ เค้าตลอดเวลา

เตรียมห้องนอนในสไตล์ที่ลูกชอบ

  • ช่วงที่ตกแต่งห้องนอนให้ลูกนั้น หากเป็นเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ให้พาเค้าไปเดินเลือกซื้อของตกแต่งห้องหรือเครื่องใช้ต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น ลวดลายหรือสีของผ้าปูที่นอน โคมไฟ ฯลฯ เพื่อให้เค้าได้รู้สึกตื่นเต้นและอยากนอนห้องใหม่ของตัวเอง
  • เตียงของลูกควรวางไว้ติดผนังด้านใดด้านหนึ่ง และควรหาหมอนมาวางกั้นขอบเตียงอีกด้าน ป้องกันลูกตกเตียง
  • ถ้าห้องของลูกอยู่ตรงกับบันได ให้ติดที่กั้นขึ้น-ลง และควรปิดประตูทุกครั้ง
  • ไม่ควรมีเก้าอี้ที่ลูกสามารถปีนได้ไว้ในห้อง เพราะลูกอาจปีนเล่นและพลัดตกได้
  • ไม่เก็บของเล่นไว้บนตู้เสื้อผ้าหรือบนชั้นสูงๆ เพราะลูกอาจเหนี่ยวตู้ ตู้อาจล้มมาทับ
  • หากในห้องจำเป็นต้องมีลิ้นชัก ควรหาที่ปิดลิ้นชักมาติดไว้ ป้องกันลูกเล่นลิ้นชักและอาจหนีบนิ้วได้รับบาดเจ็บ และตู้ลิ้นชักควรเป็นแบบเตี้ยๆ เพื่อไม่ให้เวลาที่ลูกพยายามดึงลิ้นชัก แล้วอาจล้มลงมาทั้งตู้
  • ไม่เก็บยาหรือสารเคมีไว้ในห้องลูก
  • ไม่มีสิ่งของตกแต่งห้องที่เป็นแก้วหรือกระเบื้อง เพราะเสี่ยงต่อการแตก เสียหาย เศษกระเบื้องหรือกระจกอาจะเป็นอันตรายต่อลูก

ให้ลูกปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

  • คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกเข้านอนในห้องของเค้าให้เร็วขึ้นกว่าปกติ เพราะในคืนแรกๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่กับเค้าจนกว่าเค้าจะหลับ ก็คงใช้เวลานานพอสมควร และเพื่อที่จะได้มีเวลาอยู่คุยกับเค้า ให้เค้าคลายกังวลด้วยค่ะ
  • ให้ลูกหยุดเล่น ปิดทีวี ก่อนเข้านอน 1 ชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อสายตาคลายตัวลง แล้วพาลูกแปรงฟัน เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย เพื่อที่ลูกจะได้ไม่ตื่นมางอแง กลางดึก
  • เล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน โดยเลือกนิทานที่จบแบบ Happy Ending ไม่ควรเลือกเรื่องแนวผจญภัย หาขุมทรัพย์ สยองขวัญ ฯลฯ เพราะจะทำให้ลูกสนุกและตื่นเต้น จะทำให้ลูกนอนยากขึ้น หรือถ้าหลับก็จะฝันร้าย

ให้สิ่งของแทนตัว แทนใจ

ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่กลัวว่าลูกจะเหงา หรือจะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ให้คุณพ่อคุณแม่นำสิ่งของหรืออะไรบางอย่างที่เป็นของประจำตัวของคุณพ่อคุณแม่ อาทิ เสื้อคลุมนุ่ม ๆ หมอนหนุนเล็ก ๆ สักใบ เท่านี้ก็จะทำให้ลูกน้อยรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น และสามารถหลับได้ง่ายขึ้นค่ะ

คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็ง

ด้วยความที่ลูกยังไม่คุ้นชินกับการที่ต้องนอนคนเดียว ในช่วงแรก ๆ ลูกน้อยอาจเดินกลับมาหาคุณพ่อคุณแม่ที่ห้องนอนกลางดึก แบบนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็งนะคะ ค่อย ๆ พาลูกกลับไปที่ห้องของเขา โดยที่คุณพ่อคุณแม่อาจยืนดูลูกที่หน้าประตู ให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่เฝ้าดูหนูอยู่ แล้วค่อย ๆ หันหลังกลับช้า ๆ ที่สำคัญ คือ ไม่ดุด่า หรือต่อว่าเด็ดขาดค่ะ ไม่อย่างนั้นการฝึกให้ลูกนอนคนเดียวจะเป็นเรื่องยากมากขึ้น ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจลูกด้วยนะคะ ขึ้นชื่อว่า “การฝึก” แล้วต้องอาศัยระยะเวลาทั้งสิ้น

อย่าลืมชื่นชมลูกเมื่อลูกทำได้

ข้อนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ เรื่องของใจล้วน ๆ เพราะหลังจากที่ลูกได้ฝ่าฟันกับอุปสรรคต่าง ๆ และทำได้สำเร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรชื่นชม เพื่อเป็นการให้กำลังใจลูก และเขาจะมีกำลังใจ และเขาก็จะได้เรียนรู้ว่าถึงแม้ว่าเขาจะแยกห้องนอนกับคุณพ่อคุณแม่ไปแล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้ไปไหน สุดท้ายเขาจะคุ้นชินไปในที่สุดค่ะ

ทำไมต้องแยกห้องนอนกับลูก มีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง?” การแยกห้องนอนจะทำให้คุณพ่อคุณแม่มีเวลาส่วนตัวมากขึ้น และสามารถควบคุมเสี่ยงรบกวนต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าการที่มีลูกน้อยนอนด้วย ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นด้วยนะคะ


จะแยกห้องนอนกับลูกดีไหม? อยากรู้ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง? บทความนี้จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นแน่นอนค่ะ คลิกเลย