เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการกิน การเล่น และที่สำคัญ คือเรื่องของ “การนอน” เด็กบางคนหลับง่าย บางคนหลับยาก บางคนทำเอาคุณพ่อคุณแม่กล่อมตัวเองหลับไปก่อนแล้วแต่ลูกยังลืมตาแป๋วอยู่เลย วันนี้เราจะมีดูสาเหตุกันค่ะว่าเพราะอะไรนะลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ถึงหลับยากจัง และสิ่งที่ไม่ควรทำขณะที่ลูกหลับค่ะ
สารบัญ
สาเหตุที่ลูกหลับยาก
ลูกกินนมบ่อยครั้งเกินไป
เช่น ในเวลากลางวันคุณแม่จะให้นมลูกทุก 1 – 2 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่ลูกร้องก็จะให้กินนม คุณแม่มักจะเข้าใจผิดว่าที่ลูกร้องเพราะหิวนม แต่โดยธรรมชาติของเด็กเมื่อมีจุกนมหรือมีหัวนมแม่เข้ามาสัมผัสที่ปาก ระบบประสาทจะสั่งการให้ดูดโดยอัตโนมัติ คราวนี้เมื่อลูกดูด คุณแม่จึงเข้าใจไปว่า นั่นไง! ลูกหิวจริง ๆ เหล่านี้จะทำให้ลูกชินต่อการกินนมแบบนี้ เพราะฉะนั้นกลางคืนลูกก็จะตื่นบ่อยเพื่อกินนมเหมือนในเวลากลางวัน
ลูกกินนมในปริมาณที่มากเกินไป
เพราะความที่คุณแม่เห็นลูกร้องจึงคิดว่าลูกหิว จึงให้ลูกกินนม จึงส่งผลให้ลูกได้รับนมเกินความต้องการ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้หิว ลูกจึงเกิดอาการแน่นท้อง อึดอัด ส่งผลให้นอนไม่หลับ
สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้หลับ
การจัดห้องหรือการตั้งอุณหภูมิในห้องมีส่วนที่จะทำให้ลูกตื่นขึ้นมากลางดึกได้ เพราะหากอากาศร้อน ลูกจะมีเหงื่อ ไม่สบายตัว และคันตัว กลับกันหากอุณหภูมิเย็นเกินไปก็จะทำให้ลูกหนาวได้ ซึ่งไม่สบายตัวอีกเช่นกัน ดังนั้น อุณหภูมิทั่วไปที่เหมาะกับการนอนจะอยู่ที่ 24 – 26 องศาเซลเซียส รวมไปถึงห้องนอนที่มีเสียงดัง ก็ทำให้รบกวนการนอนหลับของลูกเช่นกัน
ลูกไม่สบาย
โดยเฉพาะทารกแรกเกิด อาจมีอาการโคลิก เป็นหวัด ไม่สบาย เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุให้ลูกหลับยากหรือนอนไม่หลับได้ทั้งนั้น
ลูกแพ้นม
ลูกแพ้นมแม้กินแต่เฉพาะนมแม่ ซึ่งเป็นไปได้ว่าลูกอาจแพ้สารอาหารบางอย่างที่ส่งผ่านมาทางน้ำนม เช่น แพ้นมวัว ชีส อาหารทะเล ชีส ฯลฯ หรือในเด็กบางรายอาจกินนมผสมก็ทำให้เกิดอาการแพ้นมวัวได้ ซึ่งจะมีอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก หายใจครืดคราด และไม่สบายตัว จนทำให้ลูกไม่สามารถนอนหลับได้
ทารกหลับไม่ควรทำแบบนี้
5 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำต่อทารก ขณะที่ทารกกำลังนอนหลับพักผ่อน
การนอนหลับในเวลาสั้นๆ ไม่นับว่าเป็นการนอน
คุณพ่อคุณแม่บางท่านเข้าใจว่า ถึงแม้ลูกหลับสะสมเอาวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ลูกก็น่าจะนอนได้เพียงพอ
แต่ความจริงแล้ว การที่จะเรียกว่า “ลูกนอนหลับ” ได้นั้น ทารกต้องนอนนานเกินกว่า 45 นาทีค่ะ หากเป็นครั้งละ 30 นาที ทารกยังพักผ่อนได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สังเกตได้ในช่วงเย็นๆ หงุดหงิด งอแงมากเป็นพิเศษ
เฉลี่ยระยะเวลาการนอนของเด็กแต่ละช่วงวัย
เนื่องจากเด็กแต่ละคนต่างกัน ระยะเวลาที่ใช้ในการนอนก็ต่างกัน แต่ผู้เขียนมีแนวทางคร่าวๆ มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ดูไว้เป็นไอเดียนะคะ
- ทารกแรกเกิด : จะนอนประมาณ 15 ชั่วโมงต่อวัน รวมทั้งกลางวันและกลางคืน
- อายุ 3 เดือน : จะเริ่มนอนมากขึ้นในเวลากลางคืน แลนอนน้อยลงในช่วงกลางวัน แต่เฉลี่ยรวมกันก็ยังประมาณ 15 ชั่วโมงค่ะ
- อายุ 6 เดือน : กลางคืนเด็กจะนอนประมาณ 11 ชั่วโมง และนอนกลางวันวันละ 2 รอบเท่านั้น (บางคนรอบเดียว แต่ก็เพียงพอสำหรับความต้องการของร่างกาย)
- อายุ 9 เดือน : เด็กจะนอนประมาณ 11-12 ชั่วโมงในเวลากลางคืน และนอนกลางวัน 2 รอบ รอบละประมาณ 2-3 ชั่วโมง
เมื่อลูกตื่น อย่าเพิ่งรีบเข้าหา
ทารกอาจมีการหลับๆ ตื่นๆ บ้าง ถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ แต่หากคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกตื่นปุ๊บเข้าหาปั๊บ อาจทำให้ทารกตื่นทันที ไม่นอนต่อแล้ว เพราะทารกก็เหมือนผู้ใหญ่แหละค่ะ ที่เวลานอนต้องการความเงียบสงบ ซักประมาณ 30 นาที ลูกก็จะหลับได้เอง
อย่าปลุกลูก
ข้อนี้หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีอะไรที่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรปลุกลูกที่กำลังหลับอยู่ โดยเฉพาะทารกอายุ 4 เดือนขึ้นไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่พอเห็นว่าลูกนอนนานๆ ก็กลัวว่ากลางคืนเค้าจะหลับยาก
เรื่องนี้ได้มีกุมารแพทย์ท่านหนึ่งเคยแนะนำว่า อย่าพยายามปลุกลูกที่กำลังหลับอยู่ เพราะเด็ก แม้จะหลับยาวในเวลากลางวัน เค้าก็สามารถหลับยาวได้ในเวลากลางคืนเช่นกัน
อย่าเพิกเฉย หากลูกง่วง
อาการง่วงของทารก บางครั้งไม่ได้เป็นการหาวง่วงอย่างเดียว ทารกบางคนเปลือกตาตก ตาโรย หงุดหงิด งอแง หรือร้องไห้เลยก็มี คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูก หากมีอาการดังกล่าว ควรกล่อมให้ลูกนอนทันที เพราะถ้าหากลูกยังไม่ได้พักผ่อน คุณพ่อคุณแม่จะงานเข้าค่ะ เพราะลูกจะหงุดหงิด งอแง เอาแต่ใจละทีนี้
ไม่ควรมีเครื่องนอนเยอะบนที่นอนทารก
ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง หมอนรอง หมอนข้าง ผ้านวม และผ้ารองผ้าห่ม สิ่งเหล่านี้ยังไม่ควรมาอยู่บนที่นอนของทารก หรือมาวางใกล้กับบริเวณที่ทารกนอน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารก ทำให้เกิดการตายอย่างเฉียบพลัน (Sudden Infant Death Syndrome – SIDS) ได้ เพราะเวลาทารกนอนพลิกตัวไปมา อาจทำให้หน้าไปซุกที่ผ้านวม ทำให้ผ้าอุดจมูก หายใจไม่ออก และอาจเสียชีวิตได้
SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรืออาการไหลตายในทารก มักเกิดกับเด็กในวัย 2-4 เดือน ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระลึกไว้ เพื่อป้องกันลูกให้ห่างจาก SIDS คือ
- จัดท่าให้ลูกนอนหงาย เพราะลูกจะได้รับปริมาณออกซิเจนมากกว่านอนคว่ำ ส่วนคุณพ่อคุณแม่บางท่านกลัวว่าถ้านอนหงาย หัวลูกจะไม่ทุยนั้น เราสามารถให้ลูกนอนคว่ำขณะตื่นได้ค่ะ
- ที่นอนลูกไม่ควรนิ่มหรือแข็งเกินไป และไม่แนะนำให้มานอนบนเตียงของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งมีผ้าห่ม หมอนข้าง เพราะลูกอาจกลิ้งไปกลิ้งมา หน้าอาจไปซุกที่ผ้าห่มได้
- ถ้าจะใช้ผ้าห่ม แนะนำว่าควรเป็นผ้าที่อากาศสามารถทะลุผ่านได้สะดวก เพื่อป้องกันเวลาผ้าห่มมาปิดหน้าลูก เค้าจะได้หายใจได้
- หากนอนห้องแอร์ อุณหภูมิที่ตั้งไม่ควรร้อนหรือเย็นเกินไป 25-26 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่พอเหมาะกับลูกน้อยค่ะ
เวลาผู้ใหญ่นอนไม่พอแล้วหงุดหงิด ฉันใดก็ฉันนั้นค่ะ ทารกก็เป็นเหมือนกัน แต่ทารกเค้ายังไม่สามารถสื่อสารกับเราได้มากนัก นอกจากการงอแง หงุดหงิด และร้องไห้ ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากเห็นลูกร่าเริงสดใส เติบโตสมวัย ที่สำคัญ ต้องให้ลูกนอนหลับได้อย่างสนิท ต้อง “7 วิธีที่จะทำให้ลูกหลับสบายในเวลากลางคืน” สามารถช่วยได้ค่ะ