Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกไม่ยอมให้วาง วางแล้วตื่น เพราะอะไร? เข้าใจสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ

ลูกไม่ยอมให้วาง วางแล้วตื่น เพราะอะไร? เข้าใจสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ

“วางเป็นร้อง” , “วางปุ๊บตื่นปั๊บ” , “ลูกติดมือ” , “ลูกไม่ยอมให้วาง”

ปัญหาคลาสสิกของคุณพ่อคุณแม่ทุกคน ลำพังจะให้อุ้มก็อุ้มได้อยู่หรอก แต่บางครั้งก็เมื๊อย เมื่อย คุณแม่ก็อยากจะพักบ้างไรบ้าง แต่ลูกก็ไม่ยอมให้วางเลย ซึ่งก่อนที่เราจะไปดูวิธีรับมือ โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ลูกร้องกันก่อน เพื่อที่จะได้รับมือ และตอบสนองลูกได้ถูกต้องค่ะ

สาเหตุที่ลูกไม่ยอมให้วาง

ลูกยังไม่ได้หลับลึก

ส่วนใหญ่แล้วทารกจะหลับลึกได้นั้นต้องอาศัยเวลามากกว่า 20 นาที หลังจากนั้นถึงจะวางลูกลงได้ แต่…ก็อาจจะไม่ใช่เด็กทุกคนนะคะที่ 20 นาทีแล้วหลับ บางคนอาจต้องใช้เวลาถึง 30 นาทีก็มี ในขณะที่บางคนก็มากกว่านั้น

อีกหนึ่งวิธีสังเกตว่าลูกหลับสนิทหรือยัง ให้สังเกตที่มือของลูกค่ะ ถ้าหลับแล้วแต่มือยัง “กำ” อยู่ แสดงว่ายังหลับไม่สนิท แต่ถ้ามือ “แบ” คือ กางออกทั้ง 5 นิ้ว แสดงว่าหลับลึกแล้ว

ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย

เป็นธรรมดาที่ลูกจะรู้ไม่ปลอดภัย เพราะทารกยังไม่คุ้นกับการที่ต้องแยกห่างจากคุณแม่ ลูกจึงรู้สึกไม่ปลอดภัย พอคุณแม่วางลูกตื่น เพราะลูกจะคิดว่าคุณแม่หายไป เมื่อไหร่คุณแม่จะมาอยู่ข้าง ๆ หนูเสียที ซึ่งแต่เดิมลูกอยู่ในท้อง คุ้นเคยกับเสียงพูดของคุณแม่ เสียงหัวใจเต้น เสียงท้องร้อง ฯลฯ ดังนั้น เมื่อลูกต้องแยกจากตัวของคุณแม่สิ่งที่ลูกต้องการคือ “อยากอยู่ใกล้แม่ตลอดเวลาเหมือนตอนอยู่ในท้อง

ถ้าช่วงที่ลูกร้องไห้ แต่คุณแม่ยังไม่ว่าง ให้คุณแม่ส่งเสียงตอบลูกน้อยไปก่อนด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน อย่างน้อยลูกก็จะอุ่นใจได้ว่า คุณแม่รับรู้แล้วนะ เขาจะได้ไม่รู้สึกว่าอยู่คนเดียว หรือถูกทอดทิ้ง

ลูกยังกินไม่อิ่ม แต่หลับเสียก่อน

ทารกจะเป็นกันเยอะค่ะ โดยเฉพาะเวลาที่เข้าเต้า ทารกบางคนพอเข้าเต้ากินนมแม่แล้ว พอใกล้จะอิ่ม เริ่มสบายตัวขึ้น ไม่หิวแล้ว ทารกก็จะเคลิ้มหลับคาเต้า พอคุณแม่จะวางทารกจึงรู้สึกตัวตื่น และจะยังร้องเข้าเต้าต่อ เพราะเขายังไม่อิ่ม

ลูกรู้สึกไม่สบายตัว

อันเนื่องมาจากสภาพอากาศ หรืออาจจะเพราะผ้าอ้อมชื้นแฉะ

วิธีรับมือลูกไม่ยอมให้วาง

  • สังเกตมือลูก : ก่อนวางลูก สังเกตที่มือของลูกก่อนนะคะ ว่ามือลูกกำหรือแบ ถ้าแบแสดงว่าหลับลึกแล้ว สามารถวางลูกได้
  • วิธีการวางลูกไม่ให้ลูกตื่นขณะวาง : ให้มือคุณแม่ข้างที่ช้อนก้นอยู่ ค่อย ๆ ประคองส่วนก้นวางแตะพื้นก่อน หลังจากนั้นค่อย ๆ ประคองส่วนหัวลงตาม ก่อนเอามือออกจากหัวลูก ให้เอามืออีกข้างหนึ่งประคองจนมือคุณแม่สัมผัสเบาะ จึงปล่อยได้เบา ๆ
  • นอนข้าง ๆ ลูก : ในบางครั้งที่ลูกยังไม่ได้หลับ พอวางแล้วก็ตื่น ให้คุณแม่นอนข้าง ๆ ลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าอบอุ่น และปลอดภัย เพราะมีคุณแม่อยู่เคียงข้าง
  • สภาพอากาศ : หากเป็นเพราะสภาพอากาศ ให้คุณแม่เลือกเสื้อผ้าที่เข้ากับสภาพภูมิอากาศ เนื้อผ้าควรเป็นผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่มีตะเข็บหรือรอยเย็บที่ทำให้ลูกระคายเคืองผิว
  • ผ้าอ้อมชื้นแฉะ : หากลูกตื่นเพราะชื้นแฉะจากผ้าอ้อม ให้คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนผ้าอ้อมผืนใหม่
  • จับลูกอาบน้ำ : หากช่วงไหนที่อากาศร้อนมาก ก็เป็นธรรมดาที่ลูกจะไม่สบายตัว ขนาดผู้ใหญ่ก็ยังหงุดหงิดเลย ทางที่ดีจับลูกอาบน้ำค่ะ แบบนี้ก็จะช่วยได้เยอะเลย
  • ห่อตัวลูก : การห่อตัวจะช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่น และปลอดภัยขึ้น แต่ไม่ควรใช้ผ้าที่หนาเกินไป หรือห่อแน่นเกินไป รวมทั้งไม่ควรห่อตัวทั้งวันจนลืมสัมผัสร่างกายกันนะคะ
  • เป้อุ้มเด็ก : อีกหนึ่งตัวช่วยที่ไม่ทำให้คุณแม่ต้องเหนื่อยเกินไป แต่ควรใช้กับเด็กที่คอแข็งแล้วนะคะ

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อลูกร้องให้อุ้ม

การปล่อยให้ลูกร้องจนหลับไปเอง” ข้อนี้เป็นกฎเหล็กเลยค่ะ ไม่ควรทำเด็ดขาด เพราะการที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกร้องไห้จนหลับไปเองนั้น เท่ากับเป็นการเพิ่มความกลัว ความวิตกกังวล และความไม่ปลอดภัยให้ลูก ลูกจะรู้สึกว่าเขาไม่ปลอดภัย เขาโดนทิ้ง การร้องไห้เพื่อที่จะสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่รู้นั้นก็ยังไม่ช่วยอะไรเลย

เข้าใจว่าคุณแม่เหนื่อยถึงเหนื่อยมากค่ะ แต่การที่ปล่อยให้ลูกร้องจนหลับนั้นส่งผลเสียมากกว่าที่คิด เพราะลูกจะเรียนรู้ว่าในเมื่อพ่อแม่ไม่สนใจเขา เมื่อเขาโตขึ้นเขาก็ไม่จำเป็นต้องสนใจพ่อแม่ได้เหมือนกัน นี่ไม่ใช่การแก้แค้น เพราะเด็กยังไม่รู้จัก แต่เป็นผลพวงจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่เอง

อีกหนึ่งตัวช่วยเพื่อให้ลูกหลับได้ง่าย และนานขึ้นคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เสียงไวท์นอยซ์ (White Noise) ช่วยกล่อมลูกได้นะคะ ติดตามรายละเอียดได้ในบทความ


ลูกหลับแป๊บเดียวก็ตื่น ทำยังไงให้ลูกได้หลับเต็มที่ หลับนานกว่านี้? White Noise ช่วยได้ค่ะ พร้อมลิ้งค์เพลงเพื่อให้ลูกน้อยหลับฝันดี และหลับได้นานขึ้น คลิกที่นี่