Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกวัย 1 ขวบ เบื่ออาหาร สาเหตุ และวิธีแก้ไข

ลูกวัย 1 ขวบ เบื่ออาหาร สาเหตุ และวิธีแก้ไข

ปัญหาลูกวัย 1 ขวบ เบื่ออาหาร ไม่ยอมกินข้าว นับเป็นปัญหาคลาสสิกที่ทุกครอบครัวต้องเจอโดยเฉพาะในเด็กวัย 1 – 7 ปี เพียงความรุนแรงของปัญหาอาจต่างกันไปในแต่ละคน

จากการศึกษาของ พญ.วรุณา กลกิจโกวินท์ พบว่าแม่ที่มีลูกวัย 1- 3 ปี รายงานว่าลกมีปัญหาการกินร้อยละ 35.3 ส่วนวัย 3 – 5 ปี มีปัญหาร้อยละ 40.6 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่าปัญหาการกินของเด็กช่วงอายุ 4 ปี มีถึงร้อยละ 42
ข้อมูลอ้างอิง si.mahidol.ac.th

สาเหตุ ลูกวัย 1 ขวบ เบื่ออาหาร

เมื่อลูกน้อยไม่ยอมกินข้าว ซึ่งด้วยความไม่รู้ ความเข้าใจผิด และความรักความห่วงใยของคุณพ่อคุณแม่จึงเกิดเป็นความวิตกกังวลว่าลูกน้อยจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งนำมาสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด ดังนี้

เข้าใจว่าเด็กอ้วนคือเด็กที่แข็งแรง

ข้อนี้เป็นค่านิยมที่ผิด คิดว่าเด็กที่มีน้ำหนักมากเกินเกณฑ์ปกตินั้นน่ารัก คุณพ่อคุณแม่จึงยัดเยียดอาหารให้

เข้าใจไปเองว่าลูกน้ำหนักน้อย

เมื่อคุณพ่อคุณแม่นำลูกตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นในวัยเดียวกันที่มีน้ำหนักเกิน จึงทำให้ลูกน้อยดูว่าผอมเกินไป

ไม่รู้ว่าธรรมชาติของเด็กอายุ 1 ขวบจะสนใจเรื่องกินน้อยลง

โดยปกติของเด็กแล้วในขวบปีแรกยังสนุกกับการกิน กินเก่ง โตเร็ว เด็กจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว เช่น น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 3 กก. และจะเพิ่มเป็น 9 กก. เมื่ออายุได้ 1 ปี หลังจากนี้ไปจนถึง 10 ปี น้ำหนักจะขึ้นเฉลี่ยที่ 2 กก. โดยประมาณเท่านั้น

ไม่รู้ ไม่แน่ใจว่าลูกควรกินอาหารมาก-น้อยเท่าไหร่ต่อวัน

ส่วนใหญ่แล้วคุณพ่อคุณแม่จะห่วงกลัวลูกจะกินไม่อิ่ม จึงตักอาหารให้ซึ่งมักจะมากกว่าปริมาณที่ลูกกิน พออาหารเหลือจึงทำให้เข้าใจว่าลูกกินน้อย

ไม่รู้ว่าบางวันที่ลูกกินน้อยนั้น คือ เรื่องปกติ

เด็กคนเดียวกันก็มีความต้องการอาหารในแต่ละมื้อ แต่ละวันไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง อาทิ กิจกรรมที่ทำในวันนั้น สภาพอารมณ์และจิตใจ ความเจ็บป่วย แม้แต่สภาพอากาศก็มีผลเช่นกัน

ไม่รู้ว่าความต้องการปริมาณอาหารของเด็กต่างกันในแต่ละคน

แม้ว่าเด็กจะมีน้ำหนักเท่ากัน แต่ในแต่ละคนก็อาจกินอาหารที่มาก-น้อยต่างกันได้มากทีเดียว ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับอัตราในการใช้พลังงาน การย่อย การดูดซึม รวมถึงอัตราการเผาผลาญอาหารของเด็กแต่ละคนด้วยเช่นกัน

เทคนิคช่วยให้ลูกอยากกินอาหาร

  • เสิร์ฟทีละน้อย ๆ ก่อน ถ้าลูกกินหมดแล้ว ค่อยเติมให้ใหม่ หากกลัวว่าลูกไม่อิ่ม
  • งดของว่างระหว่างมื้อ โดยเฉพาะหากก่อนมื้ออาหารหลัก 1 ชั่วโมง
  • จำกัดเครื่องดื่มระหว่างมื้ออาหาร รวมถึงของเหลวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหวาน น้ำผลไม้ นม รวมถึงน้ำเปล่า เนื่องจากไปกินพื้นที่ในกระเพาะลูกน้อยทำให้ไม่หิวและกินข้าวได้น้อย
  • ใช้ Finger Food หรืออาหารที่ลูกน้อยสามารถหยิบจับมากินเองได้ โดยเตรียมไว้เป็นชิ้น ๆ นอกจากลูกจะได้ความสนุกแล้ว ยังเป็นการฝึกกระตุ้นพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ทำงานประสานกันกับสายตาอีกด้วย
  • เตรียมอาหารที่มีสีสันและรูปร่างที่น่าสนใจ
  • ลองให้กินอาหารแบบเดียวกับที่คุณพ่อคุณแม่กิน บางครั้งลูกอาจเบื่ออาหารแบบเด็ก ๆ ก็เป็นได้ค่ะ
  • ให้ลูกนั่งกินข้าวด้วยกันกับคุณพ่อคุณแม่ และสร้างบรรยากาศในการกินที่ดี ลูกจะรู้สึกสนุกกับการที่ได้นั่งกินข้าวกันพร้อมหน้า
  • ปิดสิ่งเร้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทีวี แท็บเล็ต หรือมือถือ
  • ชวนเพื่อน ๆ มากินอาหารด้วยกันในบางมื้อ ลูกก็จะรู้สึกสนุกกับการกินมากขึ้น
  • หลังเสิร์ฟอาหารแล้ว ให้รอดูทีท่าลูกประมาณ 20 นาที หากลูกยังเขี่ยข้าว เราค่อยออกปากเตือน หากเวลาผ่านไป 45 นาที ลูกยังคงเขี่ยอยู่ ไม่ยอมกิน คุณแม่สามารถเก็บโต๊ะไปได้เลย ไม่ติดสินบนลูก หรือแสดงอาการหงุดหงิด

คุณแม่ควรทำความตกลงกับลูกก่อนการกินอาหารค่ะ ว่าจะให้เวลากินกี่นาที โดยทั่วไปสามารถกำหนดได้ตั้งแต่ 30 – 45 นาที ค่ะ

  • ไม่บังคับให้ลูกกินข้าว เพราะความอยากอาหารและปริมาณอาหารที่เด็กต้องการในแต่ละวันนั้นต่างกัน
  • ชวนลูกทำกิจกรรมนอกบ้าน เป็นการใช้พลังงาน เพื่อให้ลูกเกิดความอยากอาหาร

ก่อนการแก้ไขปัญหาอะไรก็ตามหากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจในธรรมชาติของลูก รู้ถึงปัญหาที่แท้จริงของลูกแล้ว การแก้ไขปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ เพียงแต่ต้องใจเย็นและอาศัยระยะเวลาสักนิด อาจเริ่มจากการที่คุณแม่คิดเมนูใหม่ ๆ “เมนูเพิ่มน้ำหนักลูก 1 ขวบ” แบบนี้ก็ได้ค่ะ แล้วสังเกตว่าลูกชอบเมนูไหน หลังจากนั้นก็ค่อยดัดแปลงเมนูอื่นเรื่อย ๆ ปัญหาลูกเบื่ออาหารก็จะค่อย ๆ ลงลง


อยากหาเมนูใหม่ให้ลูกวัย 1 ขวบ เผื่อลูกจะกินได้เยอะขึ้น? พบกับ 5 เมนูที่เพิ่มน้ำหนักให้ลูกน้อยวัย 1 ขวบ ได้ที่นี่ รับรองถูกใจแม่ ติดใจลูก คลิกเลย