Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

7 เทคนิคปรับพฤติกรรมลูกกินยาก

ลูกกินยาก” เป็นอีกหนึ่งปัญหาคลาสสิก หรือจะเรียกให้เข้าใจกันง่าย ๆ ก็คือ ปัญหาโลกแตกนั่นเองค่ะ หลายครอบครัวจะต้องเจอ ทำเอาคุณพ่อคุณแม่หลายคนเหนื่อยใจกันมากเลยทีเดียวที่ต้องคิดสรรหาอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่…เรื่องนี้มีทางออกค่ะ จะออกทางไหน วันนี้โน้ตขออาสาพาไปค่ะ

Youtube : 7 เทคนิคปรับพฤติกรรมลูกกินยาก

สาเหตุที่ลูกกินยาก

ก่อนที่เราจะไปดูวิธีปรับพฤติกรรม โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาดูถึงสาเหตุกันก่อนซักนิดนะคะ

ไม่ได้ฝึกลูกให้กินเป็นเวลา


เช่น เริ่มกินกี่โมง และให้เสร็จภายในกี่โมง เป็นต้น

ท้องผูก


เพราะกินอาหารที่มีกากใยน้อย หรือดื่มน้ำน้อยเกินไป

เคยมีอาการแพ้อาหาร


เช่น มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน จึงทำให้ไม่กล้าทานอะไรใหม่ ๆ

เคยสำลักอาหารหรือเคยถูกดูดเสมหะ


จึงเกิดประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับการกินอาหาร แนะนำเวลาที่กินอาหารควรนั่งกิน ไม่กระโดด วิ่งไปวิ่งมา และไม่ควรกินคำใหญ่เกินไป

บรรยากาศในการกินข้าวไม่ดี


เช่น คุณแม่ชอบดุ หรือชอบบังคับให้เค้ากินนั่นกินนี่ บังคับให้เคี้ยวเร็ว ๆ เป็นต้น

กินขนมอื่น ๆ มาก่อนหน้าจนอิ่มแล้ว


โดยเฉพาะอาหารขยะ น้ำหวาน รวมถึงขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ

ลูกต่อต้าน


ด้วยความหวังดีของคุณแม่จึงอาจกลายเป็นการบังคับลูกแทน เมื่อสะสมนาน ๆ เข้า กลายเป็นลูกต่อต้านทุกสิ่งที่คุณแม่อยากให้กิน

มีสิ่งเร้ารอบตัวเยอะ


เช่น เปิดทีวี แทปเล็ต หรือมือถือทิ้งไว้ ทำให้สมาธิของลูกไปอยู่ที่หน้าจอหมด ส่งผลให้ไม่อยากกินข้าวแล้ว หรือถ้ากินก็จะกินแค่ไม่กี่คำ เพราะจะรีบไปที่หน้าจอต่อ

7 เทคนิคปรับพฤติกรรมลูกกินยาก

อ่ะ…จากสาเหตุด้านบน เรายังมีวิธีแก้อีกหลาย ๆ วิธี ด้วยกัน ดังนี้ค่ะ

วิธีที่ 1 จัดระเบียบของว่างให้ดี


ของว่าง หรือ ขนม” รับรองไม่ว่าเด็กคนไหนได้ยินคำนี้เข้า เป็นต้องตาลุกวาวกันทุกคน รู้สึกเหมือนได้ขึ้นสวรรค์อย่างไงอย่างงั้น และไม่ใช่ว่าเราจะไม่ให้ลูกกินขนมเลย เพียงแต่ต้องจัดการเรื่องเวลาให้ดี

  • ไม่ให้ลูกกินขนม หรือของหวาน ใกล้มื้ออาหาร แต่ควรให้ลูกทานก่อนมื้ออาหารอย่างน้อย 1-1 ½ ชั่วโมง
  • จะให้ดี ควรมีช่วงเวลาในการให้กินขนมที่แน่นอน เพื่อลูกจะได้เรียนรู้ได้ว่าเค้าจะได้ทานขนมก็ต่อเมื่อถึงเวลานี้เท่านั้น จะทำให้เค้าไม่กล้ารบเร้าขอกินนอกเวลา
  • ต้องใจแข็ง ไม่ใช่ฝึกลูกนะคะ แต่ฝึกคุณพ่อคุณแม่เองค่ะ ต้องทนต่อเสียงรบเร้า และแววตาที่อ้อนวอนของลูกที่น่ารักให้ได้ ไม่อย่างนั้นคุณพ่อคุณแม่เองก็จะปวดหัวไม่เลิกกับเรื่องของการกินขนมไม่เป็นเวลาเหมือนเคย

วิธีที่ 2 ฝึกลูกให้มีสมาธิในการกิน

มีหลายครอบครัวที่เคยชินกับการเปิดทีวีไปกินข้าวไป บอกจะได้ไม่เหงา จริงค่ะ ไม่เหงา ลูกก็ไม่เหงาเลยเช่นกัน หันหาหน้าจอตลอด คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยปากเปียกปากแฉะเรียกให้หันกลับมานั่งกินตลอด อย่างนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เหงาปาก แต่…การเปิดทีวีไปกินข้าวไปนั้น จะทำให้ลูกไม่มีสมาธิในการกินข้าวเลย เด็กบางคนกินจริง แต่ก็เพียงไม่กี่คำ แค่พอให้ได้ชื่อว่ากินข้าวแล้วเท่านั้น ทำให้ลูกกินไม่อิ่ม ส่งผลต่อร่างกาย ตัวเล็ก ไม่เติบโตสมวัย เพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

วิธีที่ 3 หยุดป้อน และให้ลูกกินข้าวเอง

  • ควรทำความตกลงกันภายในครอบครัว และญาติพี่น้องก่อนว่าจะไม่มีใครตามป้อน
  • ให้ลูกนั่งเก้าอี้ และป้อนข้าวเอง
  • กำหนดช่วงเวลากินข้าวที่แน่นอน หากยังกินไม่หมดภายในเวลาที่กำหนดให้เก็บจานนั้นออกมา ทันที เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าเค้าควรกินให้เสร็จภายในกี่โมง
  • หากลูกกินเองแล้วหกเลอะเทอะ ไม่ต้องดุลูกนะคะ แต่ค่อย ๆ สอนวิธีการกินที่ถูกต้องให้ลูกแทน เมื่อลูกได้เรียนรู้การกินที่ถูกต้อง เค้าจะรู้สึกสนุกกับการได้กินเอง การได้เลือกอาหารเข้าปากเอง

วิธีที่ 4 กำหนดเวลาในการกินให้ชัดเจน


เวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ 30 นาที หากลูกกินไม่หมดตามเวลานี้ ให้คุณพ่อคุณแม่เก็บจานทันที และไม่มีขนมหรือนมสำรองไว้ให้นะคะ ไม่อย่างนั้นลูกจะย่ามใจว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวคุณแม่ก็ให้ขนมอีก

วิธีที่ 5 ชวนลูกทำอาหาร

เพราะอะไรต้องชวนลูกทำอาหาร?

ก็เพราะว่าเวลาที่ลูกได้มีส่วนร่วมในการทำอาหารลูกจะรู้สึกเพลิน และสนุก ซึ่งที่สำคัญคือจะเป็นการกระตุ้นให้ลูกอยากชิมฝีมือของเค้าเอง อาจเริ่มจากอะไรง่าย ๆ ก่อน เช่น การล้างผัก การเด็ดผัก เป็นต้น

วิธีที่ 6 สร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างการกินอาหาร


ข้อนี้บทบาทอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวล้วน ๆ ค่ะ ไม่มีคนอื่นปน^^ การสร้างบรรยากาศที่ดี เช่น ชมเชยลูกเมื่อลูกสามารถลองกินสิ่งใหม่ ๆ ได้ หรือสามารถกินผักอย่างที่เราอยากให้ลูกได้ลอง เป็นต้น เป็นการสร้างกำลังใจให้ลูกค่ะ

วิธีที่ 7 เป็นแบบอย่างที่ดีในการกิน


ลูกมักมีพฤติกรรมเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ แต่สิ่งสำคัญที่นอกเหนือจากการที่คุณพ่อคุณแม่ควรกินผักให้ลูกเห็นเป็นประจำแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ “กับข้าว” อ่อ…ใช่ค่ะ คงไม่มีใครกินข้าวเปล่าโนะ^^ แต่กับข้าวที่ว่านี้เป็นกับข้าวที่มีผักเป็นส่วนประกอบ หรือจะเป็นผัดผักเลยยิ่งดี ควรมีวางบนโต๊ะกินข้าวในทุกมื้อ เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกเห็นว่าที่การกินผักของที่บ้านนี้เป็นเรื่องปกติ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ 7 เทคนิคในการปรับพฤติกรรมลูกกินยาก คือต้องบอกก่อนนะคะว่าการปรับพฤติกรรมนี้ (หรือจะปรับพฤติกรรมอะไรก็ตาม) ต้องใช้เวลา ใช้ความอดทนของคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก แต่หากทำได้คุณพ่อคุณแม่หายเหนื่อยแน่นอนค่ะ