Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

พัฒนาการพูด ภาษาเด็กเล็ก พูดกับลูก ช่วยลูกพูดไว

พัฒนาการพูด ภาษาเด็กเล็ก พูดกับลูก ช่วยลูกพูดไว

เมื่อถึงวัยหนึ่ง ลูกน้อยจะเริ่มมีการเรียนรู้ทักษะด้านภาษา ด้านการพูด เริ่มจดจำการพูด และการใช้ภาษาของคุณพ่อคุณแม่ “ภาษาเด็ก” ที่ส่งผ่านมาจากคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการฝึกลูกพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญ พูดกับลูกบ่อย ๆ จะช่วยให้ลูกพูดได้ไวขึ้นแน่นอนค่ะ

วิธีพูดกับลูก

พูดกับตัวเอง (Self-Talk)

การพูดกับตัวเอง หรือ Self-Talk นี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้ได้ โดยที่ขณะที่คุณพ่อคุณแม่กำลังจะทำอะไรอยู่นั้น ให้คุณพูดอธิบายให้ลูกได้ฟังไปด้วย ซึ่งไม่ได้คาดหวังว่าจะให้ลูกตอบสนองทุกครั้งไป คุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิธีนี้ในทุก ๆ วัน ซึ่งลูกน้อยจะได้เรียนรู้คำศัพท์ของสิ่งต่าง ๆ ไปด้วย พร้อมกับได้เรียนรู้ขั้นตอนของการทำสิ่งต่าง ๆ ที่มีแบบแผนที่มาที่ไป และเป็นเหตุเป็นผลกัน

ตัวอย่าง Self-Talk

  • พ่อกำลังหยิบเงินเพื่อไปซื้อของ เมื่อเราได้ของแล้ว เราก็เอาเงินให้แม่ค้า
  • นี่ อันนี้คือผ้าถูบ้าน แม่กำลังจะเอาไปซักค่ะ เพราะถูบ้านเสร็จแล้ว
  • แม่กำลังตอกไข่ลงในอ่างผสมที่มีแป้งอยู่ เพื่อที่จะทำบราวนี่ให้พ่อและหนูกิน

พูดแบบคู่ขนาน (Parallel Talk)

การพูดแบบคู่ขนานนี้ จะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การที่คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้พากย์เหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ลูกฟังนั่นเองค่ะ ซึ่งไม่ต้องคาดหวังการโต้ตอบจากลูกอีกเช่นกัน และที่สำคัญ คือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรถามลูกระหว่างการพูดคุยแบบคู่ขนานหรือ Parallel Talk นี้

ตัวอย่าง Parallel Talk

  • แม่กำลังหยิบบล็อกไม้สีเหลืองออกมาจากกล่องสี่เหลี่ยมแล้ว วางต่อท้ายบล็อกไม้สีแดง ทำไปเป็นรถไฟปู๊น ๆ เลย
  • หากคุณพ่อกำลังเล่นตุ๊กตามือเรื่องกระต่ายกับเต่าให้ลูกน้อยดู ให้คุณแม่เสริมได้ว่า ตอนนี้กระต่ายมาแอบหลับตรงนี้ซะแล้ว ส่วนเตาก็กำลังเดินมา แบบนี้ใครจะชนะกันน้า

ประโยชน์ของการฝึกลูกพูดแบบ Self-Talk และ Parallel Talk

ช่วยให้ลูกเรียนรู้คำศัพท์ได้ไวขึ้น

เพราะเด็กเล็กเป็นวัยที่ช่างจดจำและพร้อมที่จะเรียนรู้ การพูดคุยกับลูกด้วย 2 วิธีนี้ทุกวัย จะทำให้เด็กซึมซับคำศัพท์ เรียนรู้ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้เร็วขึ้น รู้จักลำดับขั้นตอน และเมื่อโตขึ้นเขาจะเป็นเด็กมีเหตุผล

ทำให้เด็กกล้าพูดกล้าแสดงออก

เนื่องจากเด็กมีพัฒนาการด้านภาษาอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับเขาได้เรียนรู้คำศัพท์มากมาย เวลาที่เขาต้องการสิ่งไหน หรือต้องการสื่อสารอะไร เขาก็จะนึกคำศัพท์นั้นได้ จึงสามารถสื่อสารออกไปได้นั่นเอง

สิ่งที่ควรรู้ เมื่อต้องใช้ Self-Talk และ Parallel Talk

พูดในเวลาสั้น ๆ

ไม่ควรใช้ Self-Talk ตลอดเวลา เพราะลูกอาจรู้สึกรำคาญ และสมาธิหลุดได้ แต่สิ่งที่ควรทำคือ สังเกตว่าลูกน้อยกำลังให้ความสนใจกับสิ่งใดอยู่ ให้คุณพ่อคุณแม่พูดเชื่อมโยงถึงสิ่งนั้นได้เลย

บรรยายในสิ่งที่ลูกสนใจ

คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้การพูดทั้งสองแบบได้ โดยดูว่าลูกกำลังสนใจเรื่องไหนอยู่ เน้นที่ตัวลูกเป็นหลัก ที่สำคัญ คือ ไม่ต้องกะเกณฑ์ว่าลูกจะฟังหรือไม่

วางความคาดหวังลงก่อน

เรื่องของความคาดหวังนี้ ให้คุณพ่อคุณแม่วางยาวเลยค่ะ อย่าเพิ่งคาดหวังว่าลูกจะพูดได้ภายในวันสองวัน เพียงแค่ให้คุณพ่อคุณแม่ทำซ้ำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เท่านั้นก็พอ

พูดให้กระชับ สั้น ง่าย

จากที่เคยพูดว่า “แม่เอาจานสีชมพูของหนูมาตักข้าวให้หนู” ก็เปลี่ยนเป็น “นี่จานของหนู” และ “แม่ตักข้าวอยู่ค่ะ” เป็นต้น

ลูกเปรียบเสมือนฟองน้ำที่ซึมซับทุกอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทำและพูด การพูดกับลูกในทุก ๆ วัน จะส่งผลให้ลูกพูดได้เร็ว เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้เร็ว ดังนั้น “พัฒนาการด้านภาษาและการพูดของทารกวัยแรกเกิด – 6 เดือน” จึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นพัฒนาการพื้นฐานที่ลูกน้อยควรได้รับการฝึกฝนซึ่งจะมีผลต่อความสุขในการใช้ชีวิตของลูกน้อยในอนาคตค่ะ


พัฒนาการด้านภาษาและการพูดของลูกน้อยแรกเกิด – 6 ปี มีอะไรบ้าง? ติดตามพัฒนาการด้านภาษาและการพูดของลูกน้อยแรกเกิด – 6 ปี ฉบับละเอียดยิบ ได้ที่นี่ค่ะ คลิกเลย

ข้อมูลอ้างอิง amarinbabyandkids.com , voathai.com