Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

Self Esteem ต่ำ ทำให้เด็กขี้วีน ทำไมต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก

Self Esteem ต่ำ ทำให้เด็กขี้วีน ทำไมต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก

“เดี๋ยวนะ…Self Esteem มันคือเรื่องการเห็นคุณค่าในตนเองไม่ใช่หรอ แล้วเกี่ยวอะไรกับการที่เด็กขี้วีนคือเด็กที่มี Self Esteem ต่ำด้วยล่ะ?”

เปิดเรื่องมาด้วยคำถามก่อนเลย ต้องบอกก่อนเลยว่าเมื่อก่อนเรื่อง “Self Esteem หรือ การเห็นคุณค่าในตนเอง” นั่น แม่โน้ตก็เคยได้ยินมาแต่ก็ไม่ได้ให้น้ำหนักมันมากเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านอยู่แล้ว เห็นแม่ๆ หลายคนอาจติดปัญหาเรื่องลูกเป็นคนขี้โมโห อารมณ์ร้ายอยู่บ่อยครั้ง ก็เลยให้เวลากับเรื่องนี้พอสมควร ซึ่งอารมณ์ขี้โมโห ขี้วีน ขี้หงุดหงิดนี้สามารถติดไปจนโตได้นะคะ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่รีบแก้ไขเสียตั้งแต่วันนี้ อนาคตอาจเหนื่อยกว่านี้แน่นอน

วันนี้แม่โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาคุยกันก่อนค่ะว่า เจ้า Self Esteem คือ อะไร ทำไมต้องปลูกฝัง แล้ววิธีการปลูกฝังลูกนั้นมีอะไรบ้าง แล้วค่อยมาต่อกันในเรื่องของเด็กขี้วีนเกี่ยวอะไรกับการที่มี Self Esteem ต่ำ

สารบัญ

Self Esteem หรือ การเห็นคุณค่าในตนเอง นั้นคืออะไร?

การเห็นคุณค่าในตนเอง หรือ Self Esteem ความรู้สึก ความคิดที่มีต่อตัวเอง ซึ่งจะส่งผลต่อการกระทำ ความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต รวมไปถึงความสามารถในการรับมือกับอารมณ์และเหตุการณ์ต่างๆ โดย…

ผู้ที่มี Self Esteem สูง – จะมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง มีมุมมองในการใช้ชีวิตในแง่บวก
ผู้ที่มี Self Esteem ต่ำ – จะมีทัศนคติลบต่อตนเอง มองทุกอย่างเป็นแง่ลบ จะขาดความกระตือรือร้นในการดำเนินชีวิต

ลักษณะของผู้ที่มี Self Esteem ต่ำ

  • รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการ ไม่เป็นที่รักของใคร
  • รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
  • เกลียดตัวเอง
  • ไม่มีความมั่นใจ
  • โทษตัวเอง
  • ไม่มีความสุข
  • มักพบปัญหาในเรื่องการตัดสินใจ
  • แม้ได้รับคำชมจากผู้อื่น ก็ไม่เชื่อ

จากทัศนคติด้านบน จะเห็นว่าสุดท้ายแล้วเด็กกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นเด็กที่ชอบเก็บตัวเงียบ แล้วเอาเรื่องทุกเรื่องที่ตนเองคิดไปเองว่าไม่ดีมาสุมไว้กับตัวเอง ท้ายที่สุดแล้ว บางรายอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้

ทำความเข้าใจพฤติกรรมเด็กในวัย 2-5 ขวบ

ในกรณีสำหรับเด็กเล็ก อายุประมาณ 2-5 ขวบ ถ้าเด็กเหล่านั้นเป็นเด็กที่ขี้วีน ขี้เหวี่ยง ขี้โมโห โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้สังเกตพฤติกรรมและหาสาเหตุจริงอาจทำให้ปัญหาถูกมองข้ามไป และแก้ไขไม่ถูกจุด เมื่อแก้ไม่ถูกจุด พฤติกรรมเหล่านี้ก็ติดตัวเด็กไปจนโตทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้โมโห ขี้หงุดหงิดได้ค่ะ

“ทำไมลูกเป็นเด็กขี้โมโห ขี้หงุดหงิด และขี้วีน?”

แม่โน้ตอยากให้คุณพ่อคุณแม่นึกย้อนไปเรื่องของพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยก่อนนะคะ

เด็กอายุ 2-5 ปี – จากทารกที่ยังสื่อสารได้ไม่เป็นคำพูด จนเริ่มโตขึ้น เริ่มมีคำศัพท์ในหัวมากขึ้น (แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะสื่อสารในเรื่องที่ซับซ้อน) จะเริ่มมีความคิดเป็นของตนเอง อยากมีส่วนร่วม อยากทำโน่น นี่ นั่น เอง อยากให้คุณพ่อคุณแม่ชมเชยเค้าในสิ่งที่เค้าพยายามทำ อยากให้คุณพ่อคุณแม่ยอมรับในตัวเค้า และสุดท้ายอยากให้คุณพ่อคุณแม่…รักเค้า

สาเหตุที่เด็กขี้โมโห ขี้หงุดหงิด และขี้วีน

เด็กไม่เคยได้รับคำชมจากพ่อแม่

เริ่มแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อนค่ะว่าเด็กทุกคนต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจในตัวเค้า ด้วยการ “ให้คำชมเชยตามสมควร” ไม่ใช่นึกชื่นชมในใจ อย่างนี้เด็กก็ไม่สามารถรับรู้ได้ค่ะ

ไม่ยอมรับความคิดเห็นของเด็ก

เพราะความที่คุณพ่อคุณแม่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะกว่า จึงมั่นใจว่าวิธีการแก้ปัญหาได้ดีกว่า จึงไม่ยอมรับความคิดเห็นของลูก สุดท้ายเมื่อเด็กเจอบ่อยๆ เข้า เค้าจะรู้สึกว่า เค้าเป็นคนที่แก้ปัญหาไม่เก่ง และไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ไม่ปล่อยให้ลูกได้แสดงความสามารถ

ย้อนกลับหัวข้อก่อนหน้าที่แม่โน้ตบอกว่า ลูกทุกคนอยากทำให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวทีให้เค้าแสดงออก เค้าก็จะรู้สึกว่า “ฉันเป็นคนไม่มีความสามารถอะไรเลย ทำอะไรก็ไม่เป็น

สาเหตุที่เด็กขี้โมโห ขี้หงุดหงิด และขี้วีน

  • เด็กไม่เคยได้รับคำชมจากพ่อแม่
  • ไม่ยอมรับความคิดเห็นของเด็ก
  • ไม่ปล่อยให้ลูกได้แสดงความสามารถ

คุณพ่อคุณแม่ลองค่อยๆ คิดตามนะคะ

“คนทั่วไปเวลาที่เค้าถูกกระทำอะไรซักอย่างในด้านอารมณ์ เค้าจะสามารถเก็บไว้และปล่อยวางได้เลยไหม?” …ก็ไม่ถูกไหมคะ แต่จะมีการแสดงออกถึงพฤติกรรมอยู่เพียง 2 อย่าง คือ

เงียบ เก็บกด ทำร้ายร่างกายตัวเอง

เป็นพฤติกรรมที่ระบายออกมากับตัวเอง เป็นการทำให้ลูกต้องยอมรับไปดุษฎีว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ ไม่เป็นที่รักของใคร โทษตัวเอง นั่นเพราะ คุณพ่อคุณพ่อคุณแม่ไม่เคยเปิดโอกาสให้เค้าได้แสดงความสามารถ ความคิดเห็น หรือไม่เคยชื่นชมในตัวลูกเลย

บางครอบครัวหนักกว่านั้น คุณพ่อคุณแม่ชื่นชมคนอื่นให้ลูกฟังอีก…เศร้าแพร้บ แล้วจะเหลืออะไรกับจิตใจลูก

ก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง ขี้โมโห เป็นพฤติกรรมที่ระบายออกมากับคนอื่นหรือคนรอบข้าง

นี่แหละค่ะ…ข้อนี้เองที่คุณพ่อคุณแม่ต้องซูมเข้ามาใกล้ๆ เลย เพราะ…เด็กเล็กเค้าเก็บอาการไม่เป็น ปล่อยวางไม่ได้ ซึ่งการแสดงออกด้วยอารมณ์รุนแรงนั้น ก็เป็นเพราะว่า ที่ผ่านมา…

  • ลูกพูดอะไร คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยเชื่อเค้า
  • ไม่เคยให้เค้าได้มีส่วนร่วม หรือแสดงความสามารถ
  • ไม่เคยให้เค้าได้ลองผิด ลองถูกเอง

เหล่านี้ทำให้เค้าคิดว่า “เค้าไม่มีค่าในสายตาคุณพ่อคุณแม่เลย” นานๆ เข้า ความคิดเหล่านี้ก็ฝังหัวเด็ก ทั้งๆ ที่ความคิดพื้นฐานของเด็ก คือ “อยากให้คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเค้ามีความสามารถ และยอมรับในตัวเค้า

เค้าจึงต้องแสดงออกด้วยการพูดเสียงดังๆ เอาไว้ก่อน และพยายามหาเหตุผลต่างๆ นาๆ เท่าที่เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะคิดได้ ซึ่งจะผิดหรือถูกก็ไม่รู้ เด็กรู้แต่เพียงว่าอยากให้คุณพ่อคุณแม่เชื่อและยอมรับในความคิดของเค้าบ้างก็เท่านั้น ความก้าวร้าวหรืออารมณ์รุนแรงจึงเกิดขึ้น

วิธีการปลูกฝัง Self Esteem

การปลูกฝัง Self Esteem สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ 2 ปีแรกเลยค่ะ เพราะบางคนก็เจอลูกแบบวัยทอง 2 ขวบ (Terrible Twos) แล้ว แต่ยังแก้ไขทันค่ะ

ยอมรับความคิดเห็นของลูก

แม้ลูกจะเห็นต่างจากเรา คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจรับฟังและยอมรับความคิดเห็นของลูก เพื่อที่ลูกจะได้กล้าแสดงออกมากขึ้น แต่ในบางอย่างถ้าลูกเห็นผิด เราสามารถค่อยอธิบายให้ลูกฟังได้นะคะ อย่าเออออทั้งๆ ที่เป็นตรรกะที่ผิด

ให้ลูกได้ลองผิดลองถูก หากเป็นเรื่องเล็กน้อย

เช่น เรื่องของการพับผ้า หากวิธีของคุณแม่พับหนึ่ง แต่ลูกพับอีกแบบหนึ่ง ก็ควรปล่อยให้เค้าได้ลองทำเอง เพราะสุดท้ายผลที่ได้คือ ผ้าถูกพับเหมือนกัน แม้อาจจะไม่เรียบร้อยเท่าคุณแม่แม่เราสามารถบอกลูกได้ว่า ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ก็จะดีกว่าวันนี้ เป็นต้นค่ะ

ให้เวทีในการแสดงออกกับลูกอย่างสร้างสรรค์

หมายถึง ถ้าลูกอยากทำอะไรไม่ว่าจะเรื่องเล็กอย่างการช่วยงานบ้านไปจนเรื่องใหญ่ๆ อย่างการขึ้นเวทีจริง อย่างนี้ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมค่ะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง รู้จักวิธีจัดการกับปัญหา และรู้จักการวางแผนได้อีกด้วยค่ะ

การติเตือน ควรเป็นติเพื่อก่อ ด้วยน้ำเสียงปกติ

เรื่องการติเตือน น้ำเสียงและท่าทางที่ใช้เป็นสิ่งสำคัญนะคะ เพราะเด็กจะรับรู้ได้ (ได้ดีเลยแหละ) ว่าคุณพ่อคุณแม่รู้สึกอย่างไร การใช้น้ำเสียงควรเป็นไปอย่างปกติ ติเพื่อก่อจริงๆ

ชมเชยทุกครั้งที่ลูกทำดี หรือสำเร็จ

การชมเชย สามารถทำได้ตลอดแม้ว่าบางครั้งลูกทำไม่สำเร็จ แต่ก็ได้พยายามแล้ว เพื่อแสดงให้ลูกได้เห็นว่า ลูกเป็นคนมีความสามารถ แต่ความสำเร็จอาจไม่ได้มาง่ายด้วยการลองเพียงครั้งเดียว

ฝึกให้ลูกมีคุณธรรม

เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ หากจะต้องโตไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เพราะคุณธรรมจะทำให้ลูกเป็นที่รักของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ความซื่อสัตย์ ความเมตตา การไม่อิจฉาริษยา และการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นต้น

ฝึกให้ลูกคิดบวก มองจุดดีของคนอื่น

เริ่มง่ายๆ ด้วยการที่ต้องมีคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างค่ะ แล้วเราค่อยตามด้วยคำสอน การคิดบวกจะทำให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อทั้งตนเองและคนอื่น ไม่ต้องห่วงว่าจะมีใครรักหรือไม่รัก

ให้เวลากับลูก “รักลูก กอดลูก”

หลายครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านกันทั้งคู่ แต่…ก็อยากจะบอกว่า ทันทีที่คุณพ่อคุณแม่มีเวลาควรให้กับลูกให้มากๆ รักเค้า แสดงออกมาว่ารักค่ะ เช่น การกอด การหอม เพราะความรักจากคุณพ่อคุณแม่ เปรียบเสมือนเกราะป้องกันให้เค้าได้เมื่อโตขึ้น เช่น ถ้าเค้าคิดจะทำไม่ดีอะไรซักอย่าง เค้าจะฉุกคิดถึงความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่มาก่อน แม้ไม่ได้ 100% แต่ก็ดีกว่า “รักแล้วไม่แสดงออก” เป็นไหนๆ

เห็นไหมค่ะ เรื่องของ Self Esteem มันสำคัญมากกว่าที่เราคิด พฤติกรรมตอนโต สืบเนื่องมาจากเรื่องราวในอดีตของเด็กคนหนึ่งทั้งสิ้น การแสดงออกของคนๆ หนึ่ง ในวันนี้ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ก็เป็นเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนเค้ามาแบบนั้นทั้งสิ้น รักลูก ควรปลูกฝัง Self Esteem นะคะ