Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

พฤติกรรมที่ไม่ควรทำกับลูก หากต้องการให้ลูกเชื่อฟัง

พฤติกรรมที่ไม่ควรทำกับลูก หากต้องการให้ลูกเชื่อฟัง

เป็นธรรมดาค่ะที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เชื่อฟังในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอน แต่ด้วยความเป็นเด็ก เขาก็จะมีความอยากลอง อยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง นั่นจึงทำให้ลูกกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอน แต่รู้หรือไม่คะว่า บางครั้งพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เองที่ทำให้ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง วันนี้โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาสำรวจตัวเองกันซักหน่อยดีกว่าค่ะว่าเคยมีพฤติกรรมตามนี้บ้างหรือเปล่า

มีความลำเอียง ทำตามอารมณ์ของตนเอง

ด้วยธรรมชาติของเด็กมักจะชอบความเท่าเทียม เป็นระบบ และความสม่ำเสมอ ข้อนี้คุณแม่จะเห็นได้ชัดหากมึลูกมากกว่า 2 คน เช่น ตื่นเช้ามาคุณแม่ต้องชุดนักเรียนให้ลูกคนเล็ก ในขณะที่คนโตก็อยากให้คุณแม่แต่งให้เหมือนกัน แต่คุณแม่บอกกับลูกคนโตว่า “หนูโตแล้ว แต่งเองได้แล้ว

ตักเตือนลูก โดยที่ไม่บอกถึงผลลัพธ์ที่ตามมาหากลูกยังกระทำแบบเดิม

เช่น หลังล้างมือลูกชอบเอาผ้าเช็ดมือมาเช็ดปากด้วย แต่คุณแม่บอกกับลูกแค่ว่า “ไม่ทำอย่างนี้อีกนะ อย่าให้ต้องพูดบ่อย ๆ” แต่คุณแม่ไม่ได้บอกว่าถ้าลูกเอาผ้ามาเช็ดปากอีก ลูกจะเป็นอย่างไร และคุณแม่จะทำอะไร เป็นต้น

กำหนดบทลงโทษ และใช้บทลงโทษที่ไม่แน่นอน

ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของคุณแม่ ถ้าวันไหนคุณแม่อารมณ์ดี ลูกเอาปากกาเขียนกำแพง ลบไม่ออกก็ไม่ว่าอะไร แถมยิ้มให้ลูกอีก ต่อมาอีกวัน ลูกเห็นว่าวันก่อนยังเขียนได้ก็เอาดินสอสีวาดกำแพง เพื่อที่จะได้มีสีสัน พอคุณแม่เห็นเท่านั้น ลงโทษลูกด้วยวิธีการที่รุนแรง แบบนี้คิดว่าลูกเข้าใจและเชื่อฟังคุณแม่ไหมน้า…

ไม่ให้ทางเลือกกับลูก

เช่น ถ้าวันหยุดนี้ลูกบอกอยากไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่คุณแม่บอกว่า “ไม่ไป” ลูกถามต่อด้วยความสงสัยว่าเพราะอะไร แต่คุณแม่ก็ตอบได้เพียงว่า “บอกว่าไม่ไปก็ไม่ไปไง” สิ่งที่ลูกทำได้อย่างเดียวคือ เดินคอตก พร้อมเครื่องหมายคำถามในใจตัวโต ๆ ค่ะ

ไม่เคารพในสิ่งที่ลูกเลือก ไม่เคารพการตัดสินใจของลูก

ด้วยความหวังดีของคุณแม่อีกเช่นเคย ที่อยากให้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับลูกนั้นออกมาดีที่สุด แต่ในบางเรื่องถ้าลูกสามารถตัดสินใจเองได้ คุณแม่ก็ควรปล่อยให้ลูกได้ตัดสินใจเองบ้างนะคะ เพราะเขาก็จะได้เรียนรู้ถึงผลลัพธ์ที่เขาเลือกเองอีกด้วยค่ะ

ใช้น้ำเสียงโทนเดียวตลอด

จริงอยู่ การพูดด้วยโทนเสียงที่ดังเป็นการเรียกความสนใจของเด็กได้ดี แต่การที่คุณแม่ใช้โทนเสียงที่ดังเพียงโทนเสียงเดียวตลอด ก็จะทำให้เด็กไม่สนใจคุณแม่ ไม่สนใจในสิ่งที่คุณแม่พยายามจะสื่อสาร ในขณะที่การแยกโทนเสียงที่ดังบ้าง โทนปกติบ้าง หรือกระซิบบ้างก็จะเป็นการเพิ่มความสนใจให้ลูกได้

พูดประชดประชัน

เช่น ลูกไม่อยากกินกับข้าวมื้อนี้ แต่คุณแม่ทุ่มเททำเต็มที่ เมื่อลูกบอกว่า “หนูไม่กิน หนูไม่ชอบ” คุณแม่หงุดหงิด จึงตอบลูกไปว่า “ไม่กินก็ไม่ต้องกิน” หลังจากนั้นลูกลุกเดินออกจากโต๊ะอาหาร นั่นเป็นเพราะเด็กยังไม่เข้าใจว่าการประชดปะชันคืออะไร เพราะเด็กจะรู้สึกอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ตัวเองรู้สึกอย่างไรก็พูดอย่างนั้นค่ะ

ไม่โฟกัสหน้าลูกขณะที่พูด

ลูกจะเข้าใจว่าคุณแม่ไม่พอใจเขา ลูกรับรู้ได้นะคะ และอีกแง่มุมหนึ่งก็คือ การพูดที่ไม่มองหน้าลูกก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มระยะห่างระหว่างแม่และลูกค่ะ

จับผิดลูกในทุกเรื่อง

ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรานะคะ ไม่มีใครอยากถูกจับผิดในทุกเรื่องหรอก จริงไหมคะ

มีแต่คำว่า “ห้าม” “อย่า”

อย่ากระโดด อย่าปีน อย่าวิ่ง อย่านั่งแบบนี้ อย่าเคาะ” และอีกสารพัดจะห้าม ลองจินตนาการตามนะคะ ว่าถ้าเป็นเราจะเบื่อแค่ไหน อะไร ๆ ก็ห้ามไปซะทุกอย่าง

การห้ามลูกไม่ทำอะไรนั้น ห้ามได้ค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรให้เหตุผลกับลูกด้วยว่าที่ห้ามเพราะอะไร? ลูกก็จะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจว่าเพราะอะไรคุณพ่อคุณแม่ถึงต้องห้าม

พูดคำไหนคำนั้น

เช่น เมื่อวานอนุญาตให้ลูกไปวิ่งเล่นหน้าบ้านได้ แต่วันนี้ไม่ให้ และไม่มีเหตุผลที่จะอธิบายกับลูก แบบนี้จะทำให้เด็กสับสนได้ค่ะ

การเลี้ยงลูกต้องมีทั้ง “พฤติกรรมและคำพูด” ควบคู่กันไป ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีแต่คำพูด คำสอนที่ดี และพฤติกรรมที่เป็นต้นแบบที่ดี แบบนี้ลูกเชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่แน่นอนค่ะ