Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกเอาแต่ใจ (Spoiled Child Problem) พ่อแม่ทำอย่างไรดี

ลูกเอาแต่ใจ (Spoiled Child Problem) พ่อแม่ทำอย่างไรดี

หลายครอบครัวที่มีลูกเล็กโดยเฉพาะลูกที่อายุ 2-5 ขวบ อาจได้เห็นพฤติกรรมลูกที่เปลี่ยนไป เริ่มเอาแต่ใจ คุณพ่อคุณแม่จะบอกจะสอนเท่าไหร่ก็ไม่ยอมเลิกพฤติกรรมนี้เสียที วันนี้โน้ตจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาจับเข่าคุย มาทำความเข้าใจในเรื่องลักษณะของเด็กที่เอาแต่ใจ สาเหตุว่าทำไมเด็กถึงมีพฤติกรรมแบบนี้ รวมไปถึงวิธีรับมือกันค่ะ

ลูกเอาแต่ใจ (Spoiled Child Problem)

เด็กเอาแต่ใจ (Spoiled Child Problem) หมายถึง เด็กที่มีอารมณ์โกรธรุนแรงเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่ไม่ยอมทำตาม จนส่งผลให้คนรอบข้างเกิดความเครียดไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ พี่ น้อง หรือครู

บ่อยครั้งเราพบว่าเด็กที่เอาแต่ใจตัวเองได้รับการวิเคราะห์หาสาเหตุที่เกินจริงไป โดยบอกว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder – ADHD) เหตุเพราะเด็กมีอารมณ์วู่วาม ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และในเด็กบางรายที่มีอารมณ์โกรธที่รุนแรงก็มักจะถูกวินิจฉัยว่าเป็น โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) ซึ่งต้องบอกว่าการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมของเด็ก หากเด็กได้รับการตอบสนองอย่างถูกต้อง ปัญหาเรื่องที่เด็กเอาแต่ใจนี้จะไม่เกิดขึ้น

ลักษณะของเด็กที่เอาแต่ใจ

  • ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เชื่อว่าความต้องการของตัวเองสำคัญที่สุด
  • พึงพอใจในสิ่งต่าง ๆ ได้ยาก
  • มักแสดงพฤติกรรมอาละวาด (Temper Tantrums) แม้ว่าจะเข้าวัยเรียนแล้วก็ตาม
  • บ่นว่าเบื่ออยู่เสมอ
  • ไม่มีความเคารพต่อกฎเกณฑ์ หรือกติกา
  • ก้าวร้าว หยาบคาบ
  • ปฏิบัติกับคนอื่นเหมือนเขาเป็นสิ่งของ ไม่ใช่คน
  • ไม่รู้จักประนีประนอม มักโต้เถียงอย่างไม่เลิกรา

ระดับความรุนแรงของพฤติกรรมเด็กเอาแต่ใจ

แบ่งได้ออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับร้ายแรง (Grandiose/malignant type)

เด็กจะมีอารมณ์โกรธและโมโหอย่างรุนแรงไม่สามารถระงับได้ พยายามบังคับผู้อื่นให้ทำตามในสิ่งที่ตนเองต้องการ เข้าใจว่าตนเองเป็นคนสำคัญมาก มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีความเป็นไปได้ที่จะโทษแต่คนอื่น

ระดับเปราะบาง (Fragile type)

เด็กยังมีความพยายามที่จะระงับความรู้สึกไม่พอใจและความรู้สึกที่เจ็บปวดอยู่ แต่ก็จะยังมีความกังวล และรู้สึกโดดเดี่ยว เขาจะพยายามไขว่คว้าถึงความรู้สึกของการได้เป็นคนสำคัญหรือคนพิเศษ นอกจากนี้ เด็กจะมีทัศนคติลบแฝงอยู่ภายในใจอันเนื่องมาจากความไม่พอใจที่เกิดขึ้น

ระดับเรียกร้องความสนใจ (Exhibitionistic) หรือมีความสามารถในการทำงานสูง (High Functioning)

เด็กจะมีความรู้สึกว่าตัวเองสำคัญมาก จนหลงตัวเอง แต่การหลงตัวเองนี้จะเป็นพลังบวก ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีมีความสามารถที่หลากหลาย อาทิ การพูด การเขียน และการเข้าสังคม เด็กจะมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ดี และมีความกระตือรือร้นอีกด้วยค่ะ

วิธีแก้ไขปัญหาและปรับพฤติกรรมเด็กเอาแต่ใจ

เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก

เพราะลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจะแสดงออกถึงความอดทน ความเสียสละ รวมถึงเรื่องของการควบคุมอารมณ์ของตนเอง

ไม่ปกป้องลูกมากไป

ไม่ต้องช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกกับลูกมากเกินไป หากไม่จำเป็น ควรให้ลูกเรียนรู้และรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เอง เพื่อเขาจะได้มีทักษะในการใช้ชีวิตมากขึ้น

ชมลูกแต่พอควร

เมื่อลูกสามารถทำสิ่งใหม่ หรือสิ่งที่ยากได้สำเร็จเท่านั้น

ฝึกให้ลูกมีความอดทน

เพราะไม่มีใครได้ทุกอย่างอย่างที่ต้องการ ไม่ใช่ว่าขอปุ๊บจะได้ปั๊บ ควรฝึกให้ลูกรู้จักการอดทนและการรอคอย เพื่อป้องกันตัวเองจากอารมณ์โกรธ

อย่าใจอ่อนเด็ดขาด

โดยเฉพาะเรื่องที่ลูกอาละวาด (Temper Tantrums) (ซึ่งวิธีการรับมือกับลูกอาละวาด โน้ตมีเขียนไว้ในบทความ ถูกขัดใจทีไร ลูกร้องอาละวาด (Temper tantrums) ทุกที พ่อแม่รับมืออย่างไรดี นี้แล้วค่ะ)

การรักลูก” ต่างจาก “การตามใจลูก” อย่างสิ้นเชิง (คัดลายมือมาค่ะ 1 หน้ากระดาษ A4^^)

แม้ว่าพฤติกรรมของเด็กในวัย 2-5 ขวบ จะมีพฤติกรรมที่หลายคนเรียกกันว่า “วัยทอง สองขวบ” (Terrible Two) จะเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ และอาจหายไปได้เองเมื่อโตขึ้น แต่หากคุณพ่อคุณแม่ละเลย พฤติกรรมที่เอาแต่ใจนี้ไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้เป็นนิสัยติดตัวไปจนโต เป็นนิสัยที่คนในสังคมไม่ยอมรับ เมื่อนั้นเราคงนั่งเครียดกันอีกครั้ง จดจำไว้นะคะว่า “การรักลูก” ต่างจาก “การตามใจลูก” อย่างสิ้นเชิง