Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

SQ คือ เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว และรู้จักการปรับตัวต้องทำอย่างไร

SQ (Social Quotient) เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว และรู้จักการปรับตัวต้องทำอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต่างปรารถนาให้ลูกเติบโตประสบความสำเร็จในชีวิต มีความพร้อมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเป็นคนเก่ง ฉลาด มีไหวพริบ จิตใจดี เป็นคนดี และสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้
สมัยก่อนเรามองว่า หากลูกเป็นเด็กที่ฉลาดจะสามารถอยู่รอดได้ในสังคม ดังนั้น การส่งเสริมหรือสนับสนุนเด็กในด้านการพัฒนา “ความฉลาดด้านสติปัญญา (Intelligence Quotient = IQ )” จึงเกิดขึ้นมากมาย ต่อมาความฉลาดอย่างเดียวไม่พอที่จะเด็กประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เราจึงหันมาให้ความสำคัญกับ “ความฉลาดทางด้านอารมณ์ (Emotional Quotient = EQ)” ซึ่งก็คือ การที่เด็กรับรู้ เข้าใจและรับมือกับอารมณ์ของตนเองได้ รู้จักที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งทั้ง IQ และ EQ เชื่อว่าคุณแม่คงเคยได้ยินมาแล้ว
ณ ปัจจุบันหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต IQ กับ EQ ไม่เพียงพอสำหรับลูกน้อยแล้วล่ะค่ะ เพราะเราจะมี “Q” เพิ่มเข้าเป็นสมาชิกอีกหนึ่งตัว นั่นก็คือ “SQ” นั่นเอง เรามาดูกันค่ะว่า “SQ” คืออะไร? ลักษณะของคนที่มี SQ ที่ดีเป็นอย่างไร? ที่สำคัญ…จะสอนลูกอย่างไรให้เป็นเด็กที่มี SQ?

SQ คืออะไร?

SQ ย่อมาจาก Social Quotient คือ “ความฉลาดในการเข้าสังคม” การมีทักษะที่ดีในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และสามารถปรับตัวได้ดีกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในสังคม หรือจะขยายความอีกนิดก็คือ มีความคิดวิเคราะห์รู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ อะไรควรทำเวลาไหน เป็นต้นค่ะ

ลักษณะของคนที่มี SQ ดีเป็นอย่างไร?

  • มีทัศนคติบวก มองโลกในแง่ดี
  • สามารถเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ ทั้งทางด้านความคิด อารมณ์ และความรู้สึก
  • มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น สามารถสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
  • รู้กฎระเบียบของสังคม และสามารถนำออกมาใช้ได้อย่างเหมาะสม
  • รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง เช่น มีวินัย ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ
  • มีความเป็นห่วงเป็นใยและคำนึงถึงผู้อื่น
  • เปิดใจ เปิดตัวเอง ยินดีและพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามา มีความคิดสร้างสรรค์
  • ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ
  • สามารถทำงานเป็นทีมได้

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ลูกต้องมีต้นแบบที่ดีด้วยนะคะ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครเป็นคุณพ่อคุณแม่ และผู้ที่เลี้ยงดูนั่นเองค่ะ

ดังนั้น คนที่มี SQ ที่ดีจะเป็นคนที่ใครๆ ก็อยากเข้าหา เข้าใกล้ อยากอยู่ และอยากร่วมงานด้วย เป็นที่รักของทุกคน

เลี้ยงลูกให้มี Social Quotient แบ่งตามช่วงวัย

  • วัยแรกเกิด – 6 เดือน : วัยนี้เป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ ตอบสนองลูกน้อยทันที และต้องถูกจุด เช่น หากปล่อยให้ลูกน้อยนอนร้องไห้นานเกินไป จะทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดความไม่มั่นคงทางอารมณ์เมื่อโตขึ้น
  • วัย 6 – 12 เดือน : วัยนี้จะเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกลูกน้อยในช่วงนี้ให้รู้จักการรอคอยได้ค่ะ เช่น ถ้าอยากได้อะไรต้องรอซักพักหนึ่ง เพราะคนอื่น ๆ อาจจะยุ่งอยู่ เป็นต้นค่ะ
  • วัย 1 – 3 ปี : วัยนี้เด็กจะเริ่มเรียนรู้เรื่องการปรับตัวได้มากขึ้น การพาลูกออกไปเดินเล่น หรือทำกิจกรรมกันในวันหยุด ได้พบปะผู้คน รู้จักกับคนรอบข้าง รู้จักการเล่นกับเพื่อน แบ่งปันกัน แบบนี้ก็จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ในเรื่องของการเข้าสังคมมากขึ้น
  • วัย 3 – 5 ปี : เป็นวัยอนุบาล ช่วงนี้เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องกฎ ระเบียบของความเป็นสังคมจากโรงเรียนมากขึ้น เป็นโอกาสในการพัฒนาเรื่อง Social Quotient ได้เป็นอย่างดี

5 วิธีสอนลูกให้มี SQ

ให้ลูกได้มีโอกาสเล่นกับเพื่อน

ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนจากโรงเรียนหรือในหมู่บ้าน จริงๆ ข้อนี้ก็หมายรวมถึง พี่ๆ หรือ น้องๆ ด้วยนะคะ เพราะการที่ให้ลูกได้เข้าไปเล่นกับเพื่อน พี่หรือน้องนั้น จะฝึกให้ลูกน้อยได้คุ้นเคยที่จะอยู่กับคน ทำให้น้องกล้าแสดงออกทั้งการกระทำและความคิด ที่สำคัญอีกอย่างคือ สอนให้ลูกน้อยเรียนรู้การเอาตัวรอดเวลาที่เขาต้องอยู่กับคนหมู่มาก
สำหรับคุณแม่ที่มีลูกอายุไม่ถึง 4 ขวบ ลูกน้อยอาจจะยังเล่นกับเพื่อนไม่เก่ง แต่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ ใจเย็นๆ ค่อยฝึกไปค่ะ

ชวนให้ลูกทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน

คุณพ่อคุณแม่ลองชวนลูกมาทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ด้วยกัน เช่น ช่วยคุณแม่ตากผ้า ล้างผัก ช่วยคุณพ่อเอาดินมาลงเพื่อจะปลูกต้นไม้ หรือช่วยลดน้ำต้นไม้ก็ได้นะคะ
หรือหากเป็นกิจกรรมนอกบ้านที่มีคนอื่นร่วมด้วยก็ได้ค่ะ เพราะถือเป็นการฝึกให้ลูกน้อยรู้จักการทำงานเป็นทีมและเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

สอนให้ใช้คำว่า “สวัสดี” “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” ให้เป็น

เพราะ 3 สิ่งนี้เป็นการแสดงมารยาทและเป็นการเข้าสังคมอย่างอ่อนน้อม ผู้ใหญ่ก็มักจะให้การเอ็นดู หรือหากนำไปใช้กับเพื่อน ก็จะแสดงออกถึงความจริงใจและกาลเทศะค่ะ

สอนให้เห็นถึงคุณค่าของการแบ่งปัน

คุณพ่อคุณแม่อาจทำให้ดูเป็นตัวอย่างอย่างสม่ำเสมอนะคะ และสอนให้ลูกน้อยเห็นว่าถ้าเราแบ่งปันสิ่งที่เรามีให้คนอื่นบ้าง วันหนึ่งเขาอาจจะแบ่งปันเราคืนเช่นกัน หรือถ้าลูกน้อยโตขึ้นอีกหน่อยสามารถสอนลูกได้อีกขึ้นหนึ่งค่ะว่า “การแบ่งปันโดยไม่หวังผลตอบแทนก็เป็นสิ่งที่ดี” ให้ลูกน้อยได้เห็นว่า “การแบ่งปันหรือการช่วยเหลือผู้อื่นไม่ใช่เรื่องแปลก

การแบ่งปัน ไม่จำเป็นต้องให้ลูกแบ่งในทุกเรื่องนะคะ เช่น ถ้าเขามีของเล่นที่เป็นของรักของหวง เขามีสิทธิที่จะไม่แบ่งได้ค่ะ เพราะหากยังบังคับให้ลูกแบ่งในสิ่งที่เขารัก เป็นไปได้ว่าเขาจะเกลียดเรื่องการแบ่งปัน เพราะเขารู้สึกว่า “การแบ่งปัน คือ การพรากสิ่งที่เขารักไป

ชื่นชมลูกเมื่อเห็นว่าลูกสามารถทำงานเข้ากับผู้อื่นได้ดี

กำลังใจ” จากคุณพ่อคุณแม่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกน้อยได้มีแรงมีกำลังใจในการเรียนรู้สิ่งดีๆ ในชีวิตนะคะ เช่น หากลูกสามารถเล่นกับเพื่อนๆ ได้ดี โดยไม่แกล้งกัน หรือลูกทำงานกลุ่มกับเพื่อน แล้วผลงานออกมาดี เป็นต้น ไม่ต้องกลัวลูกเหลิงค่ะ กลับกันจะทำให้ลูกรู้สึกภูมิใจและพร้อมที่จะเดินไปในแนวทางนี้ค่ะ

การสร้างหอไอเฟลไม่สามารถสร้างเสร็จได้ในวันเดียวฉันใด การสร้าง SQ ให้ลูกน้อยก็ต้องใช้เวลาฉันนั้น” ค่ะ