Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ถูกขัดใจทีไร ลูกร้องอาละวาด (Temper tantrums) ทุกที พ่อแม่รับมืออย่างไรดี

ถูกขัดใจทีไร ลูกร้องอาละวาด (Temper tantrums) ทุกที พ่อแม่รับมืออย่างไรดี

การที่ลูกร้องอาละวาด สาเหตุมักเกิดมาจากความโกรธ ความไม่พอใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เริ่มจากการถูกขัดใจ ส่วนใหญ่เวลาที่เด็กเล็กจะร้องอาละวาดนั้นจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 นาที หรือในบางรายอาจนานเป็นชั่วโมง เด็กจะเริ่มมีพฤติกรรมอาละวาดนี้ได้ตั้งแต่อายุ 12 เดือน จะพบได้บ่อยในอายุ 2-3 ปี และจะเริ่มหายไปเมื่ออายุเข้า 4 ปี ขึ้นไป พฤติกรรมนี้อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวได้ วันนี้โน้ตจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจกับพฤติกรรมนี้ก่อน เพื่อการแก้ไขให้ตรงจุดและถูกต้อง หลังจากนั้นจะไปในเรื่องของการรับมือนะคะ

อาการที่ลูกร้องอาละวาด

  • เริ่มจากอาการโกรธ
  • ไม่พอใจ
  • ร้องไห้อย่างรุนแรง
  • ลงไปดิ้นกับพื้น
  • ฟาดแขนฟาดขาไปมา
  • ทำร้ายตนเอง และ/หรือ คนอื่น
  • มีอาการร้องกลั้น (breath holding spell)

ลักษณะการอาละวาดของลูกที่เป็นปัญหา

  • เกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อย โดยเฉพาะที่โรงเรียน
  • มีอาการอาละวาดมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน แต่ละครั้งจะกินเวลานานมากกว่า 15 นาที
  • มีปัญหาพฤติกรรมในด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ ปัญหาด้านการนอน ปัญหาด้านการเรียน รวมถึงปัญหาด้านความสัมพันธ์กับเพื่อน
  • ทำลาย และ/หรือ เขวี้ยงข้าวของ
  • ทำร้ายตนเองและทำร้ายผู้อื่นด้วย

สาเหตุที่เด็กอาละวาด

คุณพ่อคุณแม่ลองมาดูสาเหตุกันก่อนนะคะ เพื่อทำความเข้าใจและเพื่อการแก้ไขพฤติกรรมลูกได้อย่างตรงจุดและถูกต้องค่ะ

พัฒนาการตามวัยปกติ

การอาละวาดเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมด้านการเรียนรู้ในการควบคุมอารมณ์ของเด็ก ซึ่งมักจะเกิดในช่วงอายุ 2-3 ปี เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่สามารถที่จะจัดการกับอารมณ์กับตัวเองได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ พัฒนาการในเรื่องการสื่อสารของเขาก็ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่เช่นกัน จึงเกิดอาการหงุดหงิดจนแสดงอาการที่ไม่เหมาะสมออกมา

ไม่สบาย

เด็กบางคนมีอาการเจ็บป่วยบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ที่อวัยวะส่วนบน อาทิ หูอักเสบ ภูมิแพ้ ฟันผุ มีอาการบาดเจ็บทางสมอง หรือเป็นโรคในระบบทางเดินอาหาร จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กอาละวาดได้ เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยเหล่านี้จะมีตัวยาที่ทำให้ง่วง อาทิ ยากันชัก หรือยาแก้แพ้ เป็นต้น

พื้นฐานอารมณ์ที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก

เด็กบางคนเลี้ยงง่าย บางคนเลี้ยงยาก เพราะฉะนั้นเด็กที่มีพื้นฐานการเลี้ยงยาก เช่น นอนยาก กินยาก ขับถ่ายไม่เป็นเวลา ปรับตัวเข้ากับสิ่งต่าง ๆ ยาก เด็กกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงที่จะอาละวาดได้ง่าย

ตามใจหรือเข้มงวดมากไป

อะไรที่มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี นอกจากนี้ยังรวมถึงการลงโทษที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ความรุนแรง แสดงอารมณ์ทางด้านลบบ่อย ๆ เด็กก็จะอาละวาดได้เช่นกัน

ลูกอาละวาด พ่อแม่รับมืออย่างไรดี

ป้องกันก่อนอาละวาด

  • กำหนดกิจวัตรประจำวันที่ทุกคนในบ้านทำเหมือนกัน
  • ใช้เวลากับลูก อยู่กับลูกจริง ๆ เช่น เล่นกัน พูดคุย อย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • ให้การเสริมแรงด้านบวก เช่น เมื่อเด็กทำดีคุณพ่อคุณแม่ควรชื่นชมลูกตามสมควร
  • คุณพ่อคุณแม่ควรจัดการอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก
  • หากมีการเปลี่ยนแปลงกติกาหรือกิจวัตรประจำวัน ควรบอกลูกก่อนล่วงหน้า
  • สอนให้ลูกใช้คำพูดแทนการใช้อารมณ์ แทนการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม

ขณะอาละวาด

  • เบี่ยงเบนความสนใจลูกหากเริ่มอาละวาด
  • คุณพ่อคุณแม่ควรสงบ เพิกเฉยต่อการอาละวาดของลูก เพราะหากผู้ใหญ่ไม่สนใจลูกก็จะเลิกเอง แต่ต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยด้วยนะคะ
  • หากมีการทำลายข้าวของ ให้พาลูกออกมาจากตรงนั้น แล้ว “กอด” ลูกจนกว่าเขาจะสงบลง
  • หากเขาอาละวาดเพราะไม่ได้ของเล่น ก็ให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ซื้อของเล่นเพื่อตามใจอีกนะคะ
  • เมื่อลูกสงบลง ให้เข้าไปพูดคุยกับลูกด้วยทีท่าที่อ่อนโยนและจริงใจ เพื่อให้ลูกเข้าใจอารมณ์ตัวเองมากขึ้น รวมถึงถามความคิดเห็นลูกว่าควรจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรดี

เรื่องของลูกอาละวาดแม้ว่าบางส่วนจะมาจากพฤติกรรมตามวัยปกติ ซึ่งสามารถหายเองได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรละเลยนะคะ เพราะหากลูกมีพฤติกรรมแบบนี้บ่อย ๆ อาจกลายเป็นนิสัยได้ในที่สุดค่ะ