Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

Terrible Two (วัยทอง 2 ขวบ) คืออะไร? ข้อดีของ Terrible Two

Terrible Two (วัยทอง 2 ขวบ) คืออะไร? ข้อดีของ Terrible Two

Terrible Twos” บางคนแปลตรงๆ เลยว่า “2 ขวบสยอง” แต่ถ้าจะให้อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เด็กๆ ไม่ว่าหญิงหรือชายที่มีอายุเข้า 2-3 ขวบ เค้าจะเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จากเด็กที่ว่านอนสอนง่ายเริ่มกลายเป็นเด็กดื้อ บอกอะไรก็ไม่ทำ ขัดใจไม่ได้ ทำเอาคุณพ่อคุณแม่หงุดหงิด โมโหไปตามๆ กันTerrible Twos มีพฤติกรรมอะไรที่มากกว่านี้หรือไม่ พฤติกรรมนี้จะหายไปได้เองหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่ต้องรับมืออย่างไร

กลับกันนะ ผู้เขียนมองว่า Terrible Twos ไม่ได้สยองอย่างที่คิด แต่มีข้อดีมากกว่า เอ๊ะ…ยังไง? เราไปไล่เรียงกันทีละข้อเลยค่ะ

Terrible Two คืออะไร?

คือ เด็กน้อยในวัย 2 – 3 ขวบ ช่วงเวลาที่ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่เริ่มเติบโตและแข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะทางความคิด เค้าจะเริ่มมีความคิดเป็นของตนเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเองทุกอย่าง อยากมีส่วนร่วมในการเลือกหรือการตัดสินใจ และด้วยความที่ลุกน้อยเติบโตขึ้นนี้เองจึงส่งผลให้พฤติกรรมของลูกน้อยเปลี่ยนไปตามวัยอีกด้วยค่ะ มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เรามาดูกันเลยดีกว่าค่ะว่าพฤติกรรม Terrible Twos มีอะไรกันบ้าง

  • มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อยากทำนู่นเอง ทำนี่เอง
  • ไม่พอใจหากมีใครมาบังคับ เค้าต้องการอิสระ ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่บอกให้เค้าทำอะไร แล้วไม่ทำ สิ่งนี้แหละค่ะ ที่เราเรียกเค้าว่า “เด็กดื้อ
  • แสดงอาการต่อต้านหรือมีพฤติกรรมขัดขืน เมื่อได้รับการปฏิเสธหรือการออกคำสั่ง
  • มีการต่อรอง และหวังให้คุณพ่อคุณแม่ Say Yes อย่างเดียว
  • ร้องกรี๊ด เมื่อไม่ได้ดั่งใจหรือถูกขัดใจ เด็กบางคนเป็นหนักมากจนถึงขั้นดึงผมตัวเอง เอาหัวโขกเสาหรือกำแพงเลยก็มี ในบางรายก็ทุบตี หรือกัดแขนคุณพ่อคุณแม่
  • เมื่อมีอารมณ์โกรธมากๆ จะชอบขว้างปาสิ่งของ
  • มีอาการหวงของอย่างมาก บางครั้งก็ไปแย่งของที่คนอื่นกำลังเล่น เพราะคิดว่าของอย่างต้องเป็นของตัวเอง ไม่รู้จักการแบ่งปันอย่างเหมาะสม

รัวิธีรับมือกับลูกน้อย Terrible Two

เคยมีงานวิจัยของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม

เด็กที่ถูกบังคับจากครอบครัว

จากงานวิจัยพบว่า คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่เข้าใจพฤติกรรมลูก ไม่ได้มีการเตรียมรับมือกับภาวะ Terrible Twos นี้ เมื่อลูกมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ หงุดหงิด เอาแต่ใจ ดื้อรั้น คุณพ่อคุณแม่ก็อาศัยการดุด่าว่ากล่าว การใช้กำลัง ใช้การตี เพื่อหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น หรือออกคำสั่งบังคับให้ทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลให้ลูกฟัง หรือไม่ยอมฟังเหตุผลลูก จะทำให้ลูกมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ต่อต้าน และในที่สุดเค้าก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นจากคุณพ่อคุณแม่ และส่งต่อไปยังคนรอบข้างของเค้าในอนาคต

เด็กที่ไดรับความเข้าใจจากครอบครัว

สำหรับเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความเข้าใจ เข้าใจในภาวะ Terrible Twos ใช้เหตุผลในการพูดคุยกัน เวลาที่เด็กและคุณพ่อคุณแม่มีปัญหากัน เค้าจะเข้าหากันเองโดยอัตโนมัติ เพราะลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่มักมีเหตุผลให้เค้าเสมอ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัวได้

ภาวะ Terrible Two (วัยทอง 2 ขวบ)

ภาวะ Terrible Two ไม่ใช่โรคร้ายแรงมากนัก และความรุนแรงในการแสดงออกขึ้นอยู่กับพื้นฐานอารมณ์ของเด็กแต่ะละคนที่มีความแตกต่างกัน แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้เป็นพัฒนาการและเป็นธรรมชาติของเด็กค่ะ ที่เริ่มมีคำศัพท์ในหัวมากขึ้น เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากทดลอง และอยากทดสอบว่าความสามารถของเขานั้นมีขีดจำกัดแค่ไหน ซึ่งภาวะ Terrible Two นี้จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อลูกโตขึ้น เริ่มมีสมาธิขึ้น

ข้อดีของ Terrible Two

Terrible Two หรือช่วงที่หลายๆ คนเรียกลูกน้อยกันว่า ตัวป่วน หรือเด็กดื้อนี้ ผู้เขียนชวนคุณพ่อคุณแม่มองอีกมุมค่ะ
การที่ลูกเรามีช่วงของ Terrible Twos นั่นคือ การที่เค้ามีความคิดเป็นของตัวเอง อยากตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง อยากมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อยากมีอิสระ หรือแม้กระทั่งคุณพ่อคุณแม่บอกหรือเตือนอะไรก็ไม่ค่อยยอมทำตาม สิ่งเหล่านี้ ถ้าหากลูกของคุณพ่อคุณแม่ไม่มีตามช่วงวัยที่เค้าควรจะเป็น แต่เป็นในลักษณะตรงกันข้ามแทน เช่น บอกอะไรก็เชื่อฟัง ทำตามไปซะทุกอย่าง บอกให้นั่งนิ่งๆ ก็นิ่งจริง ๆ บอกให้นั่งเงียบๆ ก็เงียบจริง ๆ เรียบร้อยเกินไป แบบนี้น่าห่วงกว่านะคะ เพราะเค้าจะขาดในเรื่องทักษะการใช้ชีวิตไปเยอะเลย

ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าลูกกำลังอยู่ในภาวะนี้ที่เป็นเพียงช่วงเดียว แล้วปล่อยให้ลูกได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง ตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง เพียงแต่คอยดูแลให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะที่ควร พูดคุยกันอย่างใจเย็น ไม่ออกคำสั่งมากเกินไป เรื่อง Terrible Two วัยทอง 2 ขวบก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าปวดหัวอีกต่อไปค่ะ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่กำลังมีลูกอยู่ในวัยนี้ และเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และไม่แน่ใจว่าลูกจะเข้าสู่ภาวะ Terrible Two หรือวัยทอง 2 ขวบ หรือเปล่า? ถ้าใช่…จะรับมืออย่างไรดี? สามารถติดตามเพิ่มเติมได้จากบทความนี้ค่ะ “ลูก 2 ขวบเอาแต่ใจ ใช่ “วัยทอง” หรือเปล่า?


วัยทอง 2 ขวบมีจริงมั้ย? มีพฤติกรรมร้ายแรงหรือไม่? ต้องไปพบคุณหมอหรือเปล่า? และจะมีวิธีรับมืออย่างไร? พบกับคำตอบได้ที่นี่เลยค่ะ