Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิครับมือเจ้าตัวแสบโวยวาย อาละวาด

เทคนิครับมือเจ้าตัวแสบโวยวาย อาละวาด

มีบ้านไหนบ้างคะที่เวลาลูก ๆ ในวัย 1-3 ขวบ เมื่อมีอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจก็จะโวยวาย อาละวาด และท่าไม้ตาย (ที่ลูก ๆ คิดอย่างนั้น) ก็คือ การลงไปนอนกองกับพื้น หรือเคยเห็นเด็กคนอื่น ๆ เป็นไหมคะ

จะบอกว่าเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคนก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะเด็กบางคนอาจไม่ได้พีคถึงขึ้นสุด (ลงนอนกับพื้น) แต่ถ้าหากเรื่องเด็กโวยวาย หงุดหงิดน่ะมีแน่ เด็กบางคนอาจใช้วิธีกระทืบเท้าแทนการนอน ซึ่งวันนี้โน้ตมีเทคนิคที่จะรับมือกับเด็ก ๆ เหล่านี้มาฝากค่ะ แต่ก่อนที่จะไปถึงเทคนิควิธีแก้นั้น โน้ตอยากให้คุณพ่อคุณแม่หันมาทำความเข้าใจกับพัฒนาการของเด็กทางด้านจิตใจในวัย 1-3 ขวบกันสักนิดก่อนค่ะ

Youtube : เทคนิครับมือเจ้าตัวแสบโวยวาย อาละวาด

พัฒนาการด้านจิตใจของเด็กในวัย 1-3 ขวบ

เด็กวัย 1-1 ½ ขวบ

ต้องการที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง ชอบควบคุมผู้อื่น มักมีการปฏิเสธอยู่บ่อยๆ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่สามารถทนต่อภาวะที่ถูกขัดใจหรือคับข้องใจได้ เริ่มมีพฤติกรรมติดตุ๊กตา ของเล่น หรือผ้าห่ม

เด็กวัย 1 ½-2 ขวบ

จะมีปฏิกิริยาที่เป็นบวกหรือลบค่อนข้างแรง เริ่มมีการใช้คำพูดหรืออารมณ์ออกมา เช่น ไม่เอา หวงของ หรือซ่อนของเวลาที่มีเด็กตนอื่นเข้ามาเล่นด้วย ชอบส่องกระจก ชอบนั่งตัก และกอดคอผู้ใหญ่ที่เค้ารักและสนิทด้วย

เด็กวัย 2-2 ½ ขวบ

ลูกเริ่มเรียนรู้ว่าหากพ่อแม่ไม่อยู่ในช่วงเวลาหนึ่งแต่ก็จะกลับมา หวาดระแวงและกลัวตามสิ่งที่ผู้ใหญ่กลัว เช่น จิ้งจก หนู และแมลงสาบ เป็นต้น กลัวความมืด ความสิ่งแปลกใหม่ กลัวเสียงดัง รู้สึกภูมิใจในตัวเองถ้ามีคนรัก มีคนชม หรือได้รับการยอมรับ

เด็กวัย 2 ½-3 ขวบ

อึดอัดและคับข้องใจเวลาที่พูดอะไรแล้วผู้ใหญ่ไม่ฟัง หรือฟังแล้วไม่เข้าใจเค้า เมื่อเวลาที่ต้องการอะไรก็จะยืนยันเสียงแข็งต้องเอาให้ได้ ไม่มียืดหยุ่น บางครั้งก็ดูเหมือนลูกมีอารมณ์แปรปรวนบ่อย

ผลเสียที่ตามมาหากลูกมีพฤติกรรมโวยวาย อาละวาด

เพราะลูก ๆ ยังมีคำศัพท์ในหัวน้อย ผนวกกับพฤติกรรมเบื้องต้นที่กล่าวไป จะมีผลเสียตามมาดังนี้ค่ะ

  • มีการทำลายข้าวของ เขวี้ยงของ
  • ทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้ได้รับบาดเจ็บ
  • อารมณ์ด้านลบจะเป็นตัวขัดขวางในการเรียนรู้ของเด็ก
  • มีปัญหาด้านการเข้าสังคมและความสัมพันธ์

เทคนิคการรับมือเจ้าตัวแสบโวยวาย อาละวาด

ตั้งสติ ควบคุมอารมณ์และวิธีการพูดของตัวเอง

หากลูกกำลังโวยวาย หรือคุณแม่สังเกตเห็นแล้วว่าซึนามิของลูกกำลังจะมา ให้คุณแม่หลับตา shut down ภาพลูกแล้วนับ 1-5 ในใจ เพื่อตั้งสติ เพื่อการควบคุมอารมณ์ของคุณแม่ให้ได้ก่อน เพราะหากคุณแม่ปล่อยพลังออกมาเหมือนลูก จะส่งผลต่อคำพูดที่พรั่งพรูตามอารมณ์เช่นกัน นอกจากนี้ จะยิ่งทำให้ลูกเห็นว่า “แม่ยังทำได้ หนูก็ทำได้เหมือนกัน
ให้คุณแม่ใจเย็น ๆ เพื่อที่จะอธิบายให้ลูกฟัง แต่หากลูกยังอยู่ในอารมณ์อาละวาดอยู่ ก็ต้องปล่อยให้ลูกระบายออกมาก่อน

ให้ลูกได้ลองทำในสิ่งที่ต้องการ

แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องนะคะ คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาก่อนว่าสิ่งที่ลูกอยากทำนั้น เกินขอบเขตไปหรือเปล่า หรือไม่อย่างนั้นลองสร้างทางเลือกให้ลูกในกิจกรรมที่ใกล้เคียงและไม่เสี่ยงเกินไป โดยที่ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าเค้าถูกบังคับนะคะ

กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน

ก่อนลงมือทำทุกครั้ง ควรกำหนดขอบเขตว่าอะไรทำได้ และอะไรทำไม่ได้ให้ชัดเจน อธิบายให้ลูกเข้าใจ การพูดคุยควรมีท่าทีที่จริงจังทุกครั้ง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเคร่งครัดในการใช้กติกาที่ตั้งขึ้นมาเช่นกัน

เพิกเฉย

สำหรับข้อนี้ คุณพ่อคุณแม่เพิกเฉย แต่แนะนำว่า “ไม่ควรเดินหนีลูก” นะคะ เพราะถ้าทำแบบนั้นก็จะยิ่งทำให้ลูกร้องกรี๊ด และดิ้นหนักเข้าไปใหญ่ เพียงแต่ให้คุณพ่อคุณแม่เพิกเฉยไม่มองเค้า แต่ยังอยู่ตรงนั้นกับเค้าก่อน เมื่อเค้าเห็นว่าไม่ได้ผล เค้าจะเลิกเอง

ใช้ทฤษฎี Time In

คำถามแรก “ทำไมไม่ Time Out?
เพราะว่าการใช้ “Time Out” คือ การปล่อยให้เด็กอยู่กับตัวเองแล้วนั่งทบทวนถึงการกระทำของตัวเองที่ผ่านมา ซึ่งวิธีนี้จะใช้ไม่ได้ผลกับเด็กทุกคน บางคนคิดได้ บางคนคิดไม่ได้ แถบยิ่งไปในด้านลบมากขึ้น พื้นฐานของเด็กต้องการ “ความรัก และความเข้าใจ” จากคุณพ่อคุณแม่ การใช้ “Time In” คือ การที่คุณพ่อคุณแม่เข้าหาลูก กอดเค้า และพูดกับเค้าด้วยความเข้าใจ เข้าใจในความต้องการของเค้า ลูกจะเกิดความเชื่อมั่นในตัวคุณพ่อคุณแม่ว่าเค้ายังเป็นที่รักอยู่

สำหรับเรื่อง Time Out and Time In โน้ตเคยเขียนเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ ลองไปอ่านเพิ่มเติมกันได้นะคะ

เวลาที่ลูกงอแง โวยวาย หรือมีอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ การเข้าหาลูก และอธิบายถึงเหตุผลที่ถูกต้องให้เค้าฟัง จะช่วยได้ค่ะ (แต่การอธิบายต้องกระชับนะคะ) อย่าเพิ่งคิดแทนลูกว่าลูกไม่เข้าใจ การให้เหตุผลแบบผู้ใหญ่จะทำให้เมื่อลูกโตขึ้น เค้าจะเข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้นค่ะ