Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

6ข้อที่พ่อแม่ควรรู้ ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นขโมย

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว” ใช่ไหมคะ? แต่ถ้าหากเด็กไปขโมยของคนอื่น หรือไปขโมยเงินของคนอื่น คุณพ่อคุณแม่อาจมองว่าเค้ายังเด็ก เค้ายังไม่รู้ ไม่เป็นไร เดี๋ยวโตเค้าก็จะเข้าใจเอง แบบนี้หรือเปล่าคะ?

หากคิดแบบนี้…เปลี่ยนความคิดใหม่เถอะค่ะ ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ หากเด็กย่ามใจ ทำแล้วทำอีก เพราะไม่เห็นคุณพ่อคุณแม่จะว่าอะไร สุดท้ายจาก “พฤติกรรม” จะกลายเป็น “นิสัย” และจะติดตัวเด็กไปจนโต มาแค่นี้ก็ไม่อยากจะคิดต่อแล้วนะคะว่า ถ้าโตไปเค้าไปเป็นภาระของสังคมมากแค่ไหน เพราะฉะนั้น วันนี้ เรายังสอนเค้าได้ เปลี่ยนพฤติกรรมเค้าได้ แต่นะมีวิธีอย่างไรบ้างนั้น เราจะไปไล่เรียงกันทีละข้อเลยค่ะ

เพราะอะไรเด็กถึงขโมย

ก่อนอื่น โน้ตจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุกันก่อนนะคะว่าอะไรเป็นแรงจูงใจให้เด็กตัดสินใจขโมย

เป็นพัฒนาการของเด็กเอง

เด็กๆ จะเข้าใจว่าของทุกอย่างบนโลกใบนี้เป็นของเค้า เพราะฉะนั้นเค้าจึงสามารถทำอะไรก็ได้ตามที่เค้าคิด

ลูกไม่ได้รับการสอน

เวลาที่ลูกอยู่ในบ้านกับคุณพ่อคุณแม่ ลูกสามารถหยิบจับอะไรก็ได้ทุกอย่าง ไม่ได้แบ่งว่าอันนี้ของใคร และหากลูกไม่ได้รับการสอนมาก่อน เมื่อออกไปข้างนอก ลูกก็จะยังคงเข้าใจว่าเค้าจะหยิบอะไรก็ได้เช่นกัน นั่นเป็นเพราะลูกไม่รู้ว่าของชิ้นนั้นเป็นสิทธิของใคร หรือชิ้นไหนเป็นสิทธิของเค้า

ความอยากได้ตามประสาเด็ก

ด้วยความที่เค้ายังเป็นเด็กเล็ก ยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดีพอ ดังนั้น เมื่ออยากได้อะไรขึ้นมาก็มักจะหยิบฉวยในทันที (บางบ้านมีร้องงอแงจะเอาอีกต่างหาก)

ความพึงพอใจ

ข้อนี้มักเกิดกับเด็กที่ขาดความอบอุ่นในครอบครัว เด็กกลุ่มนี้มักจะหยิบฉวยของของคนอื่นได้มากกว่าเด็กที่ได้รับการดูแลและได้รับความรักอย่างเพียงพอ เพราะเด็กที่ขาดความอบอุ่นจะรู้สึกว่า อย่างน้อยการที่ได้ของที่อยากได้มาไว้ข้างกายก็เป็นการชดเชยความรู้สึกที่ขาดหายไปได้อย่างหนึ่ง

ความขาดแคลน

หรือความไม่มี ไม่เคยมีนั่นเอง เป็นแรงจูงใจให้ต้องขโมย อาทิ กล่องดินสอของเพื่อน ดินสอ หรือสมุด เป็นต้น

เรียกร้องความสนใจ

ในเด็กบางรายมีครบทุกอย่าง ยกเว้น การเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่ หรือได้ แต่ก็ไม่เพียงพอ เค้าจะรู้สึกว่าการขโมย เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ หรือคนรอบข้าง

ถูกบังคับ ข่มขู่

เด็กหลายๆ คนต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ เพื่อน หรือเด็กที่โตกว่า คอยข่มขู่ให้ขโมยสิ่งนั้นสิ่งนี้ จะพบบ่อยโดยเฉพาะเด็กที่ด้อยโอกาส

6ข้อรู้ไว้ กันไว้ ดีกว่าแก้

สอนให้ลูกรู้จักสิทธิ

คำว่า “สิทธิ” ในที่นี้ หมายถึงการสอนให้ลูกรู้จักว่า ของชิ้นนั้นเป็นของใคร? ชิ้นไหนที่เป็นของหนูบ้าง? ชิ้นไหนหยิบได้ ชิ้นไหนหยิบไม่ได้ และชิ้นไหนต้องขออนุญาตเจ้าของเสียก่อน

เมื่อหยิบของของคนอื่นมาแบบไม่ได้ขออนุญาต…ต้องคืน

หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกเราหยิบฉวยเอาของของคนอื่นมา โดยที่ยังไม่ได้ขออนุญาต คุณพ่อคุณแม่ต้องบอกให้ลูกไปคืนเจ้าของ แต่…ย้ำ! นะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ด่าหรือใช้คำพูดแรงๆ กับลูกนะคะ เพราะลูกยังไม่เข้าใจเหตุผล ลูกแค่ต้องการของชิ้นนั้น เพียงแต่ไม่รูว่าจะจัดการกับความรู้สึกของตัวเองอย่างไร

ให้ลูกมีข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่เพียงพอ

ไม่ได้หมายความว่าลูกต้องมีของใช้เยอะเกินความจำเป็นนะคะ พิจารณาตามความเหมาะสมของวัยลูกค่ะ

ชมเชยลูกเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดี

คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจ ชื่นชม หากลูกมีพฤติกรรมที่ดี อาทิ ผลการเรียนออกมาในเกณฑ์ดี หรือแม้แต่ลูกตั้งใจอ่านหนังสือเตรียมสอบ หรือลูกสามารถดูแลกิจวัตรประจำวันของตัวเองได้ดี เพราะคำชื่นชมของคุณพ่อคุณแม่จะทำให้ลูกมีกำลังใจ ดีใจ หัวใจพองโต และที่สำคัญ เค้าจะไม่อยากไปทำพฤติกรรมที่ไม่ดี เพื่อเป็นการเรียกร้องความสนใจอีกด้วยค่ะ

คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก

เคยสังเกตไหมคะว่า หลายครั้งที่ “คำสอน” อย่างเดียวไม่ได้ผล ลูกไม่จำ แต่บางสิ่งบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทำซึ่งไม่เคยสอนลูกเลย แต่ลูกกลับเลียนแบบได้ นั่นแหละค่ะ ฉันใดก็ฉันนั้น การเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ลูกยินดีที่จะเลียนแบบอย่างไม่มีเงื่อนไขเลยทีเดียว

ปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์

คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นตัวอย่างในเรื่องของความซื่อสัตย์ด้วยนะคะ เช่น การพูดความจริงกับลูก และซื่อสัตย์กับลูกในทุกเรื่อง

การดูแล การสอน ไม่ให้ลูกขโมยของนั้น ไม่ยากค่ะ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรม ใส่ใจเค้า เป็นตัวอย่างที่ดี มอบความรักและความเข้าใจ เท่านี้ลูกก็ไม่ต้องการอะไรแล้วล่ะค่ะ