Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกแค่ซนปกติหรือจะสมาธิสั้นแยกได้อย่างไร?

คุณพ่อคุณแม่เคยตั้งข้อสังเกตกันไหมคะว่า

ลูกเรามีพฤติกรรมที่ซนแบบเด็กปกติหรือจะเป็นโรคสมาธิสั้น?” และ
จะแยกได้อย่างไรว่าลูกเราจะเป็นแบบไหน?

คือเคยมีกรณีค่ะ ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจว่าลูกตัวเองซนปกติหรือสมาธิสั้น จึงพาลูกไปพบคุณหมอ ผลคือ ลูกซนปกติ ไม่ได้มีลักษณะที่เข้าข่ายว่าจะเป็นเด็กสมาธิสั้นแต่อย่างใด

วันนี้โน้ตมีข้อมูลเบื้องต้นดีๆ จะมาแชร์ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบกันค่ะว่าเด็กที่ซนปกติและเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น เค้าจะมีลักษณะหรือพฤติกรรมอย่างไร

เด็กที่ซนปกติ

โดยปกติแล้วเด็กในแต่ละวัยจะมีสมาธิที่ไม่เท่ากัน ตามนี้ค่ะ

  • เด็กเล็กในช่วงอายุไม่เกิน 1 ขวบ จะมีสมาธิได้ไม่เกิน 2-3 นาที
  • ช่วงอายุ 1-2 ขวบ จะมีสมาธิได้ประมาณ 3-5 นาที
  • ช่วงวัยอนุบาล จะมีสมาธิได้ประมาณ 5-15 นาที
  • ช่วงประถมตอนต้น จะเริ่มนานขึ้นเป็น 15-30 นาทีขึ้นไป

จากข้อมูลข้างต้น จะสังเกตได้อย่างหนึ่งค่ะว่า เด็กโตจะมีสมาธิมากกว่าเด็กเล็ก ดังนั้น จะเอาเด็กโตมาเปรียบเทียบกับเด็กเล็กไม่ได้ นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยิ่งเป็นการทำให้ตัวคุณพ่อคุณแม่กังวลไปด้วยนะคะ

มารู้จักกับโรคสมาธิสั้นกัน

โรคสมาธิสั้น หรือ attention-deficithyperactivitydisorder (ADHD) เรียกได้ว่าเป็นภาวะบกพร่องในการทำงานของสมอง ที่จะสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่แสดงออก 2 รูปแบบ ได้แก่

ขาดสมาธิที่จดจ่อ (Inattention)

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น โน้ตจะยกตัวอย่างดังนี้ค่ะ

  • ไม่ตั้งใจฟังในสิ่งที่คู่สนทนาพูดด้วย หรืออาจจะฟังเป็นช่วงๆ แต่ก็จับใจความที่คู่สนทนาพูดไม่ได้
  • ไม่ชอบทำอะไรตามขั้นตอน มักจะทำแบบรวบรัด
  • ไม่ชอบจดจ่ออยู่กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งนานๆ
  • ไม่ชอบการเรียนรู้ที่ต้องใช้เวลานาน เช่น การอ่านนิทานยาวๆ หรือ อ่านหนังสือเรื่องยาว
  • ไม่ใส่ใจรายละเอียด ทำให้มองข้ามเรื่องสำคัญ ทำให้เกิดความผิดพลาดแบบซ้ำๆ
  • มักลืมอุปกรณ์เครื่องใช้หรือของจำเป็น เช่น ลืมดินสอ ยางลบ หรือหนังสือ เมื่อถึงโรงเรียนแล้ว
  • บริหารเวลาไม่เป็น เรียงลำดับความสำคัญก่อนและหลังไม่ได้
  • พยายามเลี่ยงและไม่ชอบงานที่ต้องใช้เวลาทำนานๆ เช่น การบ้านหรือการเขียนรายงาน
  • ไม่ชอบที่จะอยู่ในกฎระเบียบหรือคำสั่ง

อาการที่ไม่อยู่นิ่ง (Hyperactivity) และมีอาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)

  • พูดไม่หยุด เห็นอะไรก็เอามาพูดได้ทุกเรื่อง
  • นั่งนิ่งๆ หรืออยู่กับที่นานๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ
  • เคลื่อนไหวเร็ว ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  • ไม่ชอบการรอคอย เมื่อไหร่ที่ต้องให้รอ จะรู้สึกขัดใจและอึดอัด
  • มักจะลุกออกจากที่นั่งบ่อยๆ เช่น ออกนอกห้องเรียน เป็นต้น
  • กระสับกระส่าย จนสังเกตได้ว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์
  • ไม่สามารถทำงานอดิเรกหรือทำกิจกรรมแบบเงียบๆ คนเดียวได้
  • พูดสวนขึ้นมาในขณะที่คนอื่นยังพูดไม่จบ
  • พูดแทรกหรือมีพฤติกรรมที่รบกวนผู้อื่นในขณะที่กำลังทำกิจกรรมอยู่

อาการสมาธิสั้น…รักษาอย่างไร?

หากคุณพ่อคุณแม่พาลูกไปปรึกษาคุณหมอแล้ว พบว่าลูกมีอาการของโรคสมาธิสั้น ซึ่งคุณหมอก็จะมีคำแนะนำที่คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้ค่ะ

  1. จัดตารางกิจกรรมประจำวันของลูกอย่างมีแบบแผน
  2. จัดบริเวณบ้านให้สงบ พยายามไม่ให้มีเสียงรบกวนในเวลาที่ลูกต้องทำการบ้าน
  3. แบ่งงานให้ลูกทำทีละน้อย อาจเป็นงานบ้านง่ายก็ได้ค่ะ แล้วคอยให้กำลังใจลูก
  4. การสั่งงานลูก ควรดูจังหวะที่เหมาะสม ดูว่าลูกพร้อมที่จะฟังหรือไม่
  5. ชื่นชมลูกทุกครั้งที่เค้าทำงานได้สำเร็จ แต่หากลูกนิ่งๆ เมินเฉยต่องาน ให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็นๆ ช่วยเค้าทำในบางช่วงสลับกับให้เค้าได้ลองเอง จนงานสำเร็จ
  6. เมื่อลูกเริ่มจะมีอาการอยู่ไม่นิ่ง ให้คุณพ่อคุณแม่เบี่ยงเบนความสนใจด้วยการหากิจกรรมอื่นทำแทน
  7. ใช้พลังการไม่อยู่นิ่งให้เป็นประโยชน์ เช่น ทำงานบ้าน เริ่มจากง่ายๆ ก่อน
  8. พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกก่อน เช่น มีวินัย รู้จักการรอคอย และการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยเวลานานๆ ลูกจะเห็นและทำตามค่ะ
  9. พูดคุยกับครูอยู่เสมอ เพื่อช่วยกันปรับพฤติกรรมลูกเมื่อลูกอยู่ที่โรงเรียนค่ะ

แต่ไม่ว่าลูกจะเป็นเด็กที่ซนปกติหรือจะเป็นโรคสมาธิสั้นก็ตาม สิ่งที่ลูกต้องการคือ “การมีคุณพ่อคุณแม่ที่เข้าใจ ให้กำลังใจ และคอยอยู่เคียงข้างเค้าไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์” สิ่งนี้จะทำให้เค้าเติบโตมาเป็นเด็กดีและมีคุณภาพนะคะ