Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกนอนกัดฟัน เพราะอะไร? จะอันตรายไหม?

ลูกนอนกัดฟัน เพราะอะไร? จะอันตรายไหม?

การนอนกัดฟันเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเราจะได้ยินเสียงกัดฟันในช่วงของการนอนหลับซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งนอนกลางวันและหลับช่วงกลางคืน สิ่งนี้เองอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลว่าหากลูกนอนกัดฟันนาน ๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพฟันหรือไม่ และจะรับมืออย่างไรดี

ลูกนอนกัดฟัน คืออะไร?

การนอนกัดฟัน คุณพ่อคุณแม่จะสามารถพบได้บ่อยในเด็กที่มีฟันกรามด้านบนและฟันกรามด้านล่างขบเข้าหากัน ทั้งนี้การนอนกัดฟันไม่นับว่าเป็นโรคนะคะ เป็นความผิดปกติทางด้านร่างกาย ซึ่งถ้าหากกล้ามเนื้อในส่วนกรามมีการเกร็งตัวมากเกินไป อาจส่งผลให้ฟันสึกได้

การนอนกัดฟัน เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง?

จากข้อสังเกตของแพทย์ได้ระบุเกี่ยวกับการนอนกัดฟันของเด็ก ว่าการนอนกัดฟันสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก ประมาณ 14-17% และทันทีที่ฟันบนฟันล่างเริ่มโผล่พ้นจากเหงือก และเด็กส่วนใหญ่ที่เคยนอนกัดฟัน เมื่ออายุ 6 ปี พฤติกรรมนี้ก็หมดไปเอง หรือไม่ในช่วงที่ฟันแท้เริ่มขึ้น ซึ่งเด็กประมาณ 1 ใน 3 อาจมีการกัดฟันต่อไปเรื่อย ๆ จนโตเป็นผู้ใหญ่

ลูกนอนกัดฟัน เพราะอะไร?

สำหรับสาเหตุของการกัดฟันที่แท้จริงนั้นยังไม่สามารถระบุได้ ทั้งนี้ ทันตแพทย์ได้ให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุของการกัดฟันไว้ในหลาย ๆ ข้อ ดังนี้

ฟันไม่ได้อยู่ในแนวเดียวกัน

เด็กบางคนที่ฟันแท้ขึ้น โดยเฉพาะฟันกรามบนกับฟันกรามล่างไม่สบกัน หรือไม่ได้อยู่ในแนวเดียวกันก็สามารถเกิดการกัดฟัน ขณะหลับตอนกลางคืนได้

ตอบสนองความเจ็บปวด

ระหว่างวันเด็กอาจมีการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นอาการที่ไม่รุนแรงแต่สร้างความรำคาญได้ เช่น อาการปวดหู หรือมีการงอกของฟันแท้

เพื่อบรรเทาอาการปวด

ลักษณะจะคล้ายกับเวลาที่เรามีอาการปวดที่ผิวหนัง การถูจึงเป็นการที่ช่วยบรรเทาอาการปวดได้

มีความเครียด

เด็กบางคนมีสาเหตุมาจากความเครียดสะสม ความกังวลใจ และความโกรธ ที่ได้รับมาระหว่างวัน จึงมีอาการเมื่อเขาหลับในเวลากลางคืน

จากยาบางชนิด

เด็กบางคนมีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งอาจต้องมีการใช้ยาบางชนิดเพื่อรักษาอาการป่วย อาจส่งผลให้เด็กมีการนอนกัดฟันได้เช่นกัน

ลูกนอนกัดฟัน ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง?

อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นค่ะว่าการนอนกัดฟัน ไม่ใช่โรค ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้มีผลที่ร้ายแรงอะไร ซึ่งเราแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

ผลกระทบระยะสั้น

ลูกอาจมีอาการปวดรอบหู ปวดศีรษะ เนื่องจากแรงกดทับจากการบดกันของฟันในขณะหลับช่วงกลางคืน มีการสูญเสียของสารเคลือบฟัน เพราะฟันมีการขัดถูกันไปมา เวลาที่ลูกทานอาหารอาจส่งผลให้เกิดการปวดฟันได้ รวมถึงจะทำให้ฟันมีความไวต่อความร้อนและความเย็น ซึ่งถ้าการนอนกัดฟันของลูกเกิดจากการรักษา การใช้ยาบางชนิด ควรกลับไปปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ และอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแผนเพื่อการรักษาต่อไป

ผลกระทบระยะยาว

สำหรับกลุ่มนี้จะเป็นเด็กที่นอนกัดฟันตั้งแต่เด็กและติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่ ความเสียหายของฟันไม่ใช่เพียงแค่สูญเสียสารเคลือบฟันเท่านั้น แต่ฟันของลูกน้อยอาจเกิดการบิ่น แตก หรือแบนได้ ซึ่งเมื่อเราใช้ฟันในการบดเคี้ยวไปสักระยะ อาจทำให้เกิดฟันแตกได้ และถ้าฟันได้รับการกรอมาก ๆ เข้า จะส่งผลต่อการบดเคี้ยว เกิดความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร หรือ Temporomandibular Joint Disorder (TMD) อาการก็คือ ลูกจะปวดกรามมากขึ้น และจะอ้าปากหรือเคี้ยวได้ยากมากขึ้น

แนวทางการรักษา ลูกนอนกัดฟัน

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกนอนกัดฟัน แนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์และทันตแพทย์จะทำการนัดในครั้งต่อ ๆ ไปหลังจากดูอาการแล้วในครั้งแรก ซึ่งกรณีที่ลูกนอนกัดฟันในเวลากลางคืน จะส่งผลให้ใบหน้าและกรามมีอาการปวด ทันตแพทย์อาจให้ลูกสวมเฝือกสบฟันหรือยางฟันที่คล้าย ๆ กับที่นักมวยใส่ แต่ทันตแพทย์จะให้ลูกสวมในเวลานอนตอนกลางคืน เพื่อลดการกระทบกันของฟันบนฟันล่าง ซึ่งอาจทำให้ลูกเลิกนอนกัดฟันได้ หรือไม่อีกกรณีคือทันตแพทย์จะรอให้ฟันน้ำนมของลูกหลุดหมดก่อน

ในช่วงกลางคืนที่ลูกนอนหลับ ลูกอาจมีการกัดฟันไม่มาก แต่มีทุกคืน แบบนี้หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจแนะนำปรึกษาทันตแพทย์นะคะ แก้ไขไว้แต่เนิ่น ๆ จะส่งผลกระทบต่อลูกน้อยที่สุดค่ะ