Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกชอบกัดเล็บ พฤติกรรมที่ต้องรีบแก้ วิธีแก้ไขไม่ให้ลูกกัดเล็บ

ลูกชอบกัดเล็บ พฤติกรรมที่ต้องรีบแก้ วิธีแก้ไขไม่ให้ลูกกัดเล็บ

การกัดเล็บเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมของลูกที่แสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจคิดว่าโตขึ้นก็หายเอง แต่หารู้ไม่บางครั้งอาจรุนแรงกว่าที่คิดหากปล่อยไว้โดยไม่มีการแก้ไข วันนี้เราจะมาดูสาเหตุและวิธีแก้กันค่ะ

เพราะอะไรลูกถึงมีพฤติกรรมกัดเล็บ

ก่อนที่เราจะไปเข้าเรื่องของการปรับพฤติกรรมการกัดเล็บของลูก คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุกันก่อนค่ะว่าพฤติกรรมการกัดเล็บของลูกเกิดจากอะไร ไปติดตามกันค่ะ

  • กำลังใช้ความคิดอย่างหนัก
  • กำลังเครียด หรือวิตกกังวลเกี่ยวกับอะไรบางอย่าง
  • กำลังมีใจจดจ่อกับอะไรบางอย่าง บางเรื่องมาก ๆ
  • มีอาการเหงา เบื่อหน่าย
  • …หรือมีความโกรธที่โนขัดใจ แต่หาทางออกไม่ได้

ผลเสียที่เกิดจากการกัดเล็บ

ผลเสียจากพฤติกรรมการกัดเล็บมีอยู่หลายด้านด้วยกัน ว่าแต่จะมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ

ถ้ามองในเรื่องของบุคลิกภาพ…

  • จะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของเด็กดูไม่ดี มีเล็บที่แหว่งเว้า
  • มีฟันที่ผิดรูป หรือบิ่น ทำให้ฟันไม่สวย
  • ในบางรายยังลามไปยังผิวหนังรอบ ๆ เล็บอีกด้วย

ถ้ามองในเรื่องของจิตใจ…

  • เด็กจะกลายเป็นคนไม่มีมีความมั่นใจ
  • ไม่กล้าแสดงออก
  • ไม่กล้าตัดสินใจ
  • ขาดความเป็นผู้นำ

เรื่องของสุขภาพ…

  • เล็บจะผิดรูปอย่างถาวร หากกัดเข้าไปถึงฐานเล็บ อาจทำให้การกัดเล็บยิ่งหนักขึ้น ลูกอาจกัดเข้าไปที่เนื้อ ทำให้เลือดออกได้
  • เกิดอาการเล็บติดเชื้อ อาทิ จากแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัสที่ผิวหนัง เนื่องจากผิวหรังเปื้อนน้ำลาย
  • ทำให้เคลือบฟันสึกกร่อน ฟันบิ่น ส่งผลให้เกิดฟันผุได้ง่าย
  • รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ติดมากับซอกเล็บ เช่น โรคอาเจียนท้องร่วง โรคมือ เท้า ปาก โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และโรคพยาธิเส้นด้าย เป็นต้น

วิธีแก้ไขพฤติกรรมลูกกัดเล็บ

ไม่ควรทำให้ลูกเกิดกความกังวล

เช่น การย้ายโรงเรียน เพื่อการศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น ก่อนเปิดเทอมคุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจและอาจพาลูกไปดูสถานที่ก่อนเปิดเรียน เพื่อลดความกังวลให้ลูก หรือหากลูกมีเรื่องอื่น ๆ ที่กังวล ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าไปพูดคุยกับลูก ๆ และอธิบายให้ลูกเข้าใจและคลายกังวล

ไม่ควรดุด่าลูกด้วยถ้อยคำที่รุนแรง

เช่น “กัดเล็บอีกแล้ว กัดอยู่ได้ไม่มีอะไรทำหรือไง?” เพราะนอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาได้แล้ว ยังเป็นการทำร้ายจิตใจลูกอีก

หากิจกรรมอื่น ๆ มาทดแทน

เมื่อใดก็ตามที่เห็นลูกกัดเล็บ ให้ชักชวนลูกดูโน่นดูนี่ หรือไม่ก็หากิจกรรมอื่นทำ เช่น การเล่นระบายสี การอ่านนิทาน เป็นต้น

แสดงท่าทางที่เป็นนัย เตือนลูกว่าอย่ากัดเล็บ

เช่น แตะที่ข้อมือเบา ๆ เพื่อเป็นการเตือนว่าหนูกำลังกัดเล็บอยู่ เพราะส่วนใหญ่เด็กที่กัดเล็บมักจะทำไปโดยที่ไม่รู้ตัว

อธิบายผลเสียของการกัดเล็บให้ลูกฟัง

เช่น ถ้าหนูยังไม่เลิกกัดเล็บแบบนี้ เล็บจะกุด จะเสียบุคลิก ที่สำคัญ ถ้าหนูกัดเล็บแล้วเผลอไปกัดโดนเนื้อเข้า เลือดก็จะออก หนูจะยิ่งเจ็บ แบบนี้เป็นต้นค่ะ

เบี่ยงเบนความสนใจ

หากคุณพ่อคุณแม่นั่งอยู่กับลูกพอดี แล้วลูกเกิดมีพฤติกรรมกัดเล็บขึ้นมาตอนนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่ชี้ชวนดูอย่างอื่นแทน หรือชวนเล่นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถทำได้ ณ ตอนนั้น เพื่อให้ลูกลืมไปว่าเขากำลังกัดเล็บอยู่

ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ

พยายามอย่าให้ลูกเห็นว่าเล็บยาว ทันทีที่เขาเห็นเขาจะเริ่มกัดทันที ถึงแม้บางทีสั้นแล้ว แต่ก็ยังกัดก็ให้คุณพ่อคุณแม่แตะข้อมือเบา ๆ เพื่อเตือนลูกก็พอค่ะ

พฤติกรรมการกัดเล็บหากคุณพ่อคุณแม่สังเกตได้เร็ว และแก้ไขพฤติกรรมนี้ได้เร็ว ก็จะทำให้ลูกมีสุขภาพทั้งกายและใจ มีบุคลิกที่ดีได้อย่างรวดเร็ว เพราะพฤติกรรมนี้ส่งผลกระทบร้ายแรงมากกว่าที่คิดนะคะ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องตั้งสติไม่ดุด่าลูก หรือตำหนิลูกให้ลูกอายต่อหน้าคนอื่นนะคะ