Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิคการฝึกสมองส่วนหน้า ที่มีส่วนสำคัญสำหรับทักษะ EF

เทคนิคการฝึกสมองส่วนหน้า ที่มีส่วนสำคัญสำหรับทักษะ EF

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า “EF หรือ Executive Function” กันมาบ้างใช่ไหมคะ? ซึ่ง EF นี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกประสบความสำเร็จและมีความสุขในการใช้ชีวิตได้ การที่ลูกจะมี EF ที่ดีได้ ต้องได้รับการฝึกค่ะ ซึ่งส่วนที่สำคัญเลยก็คือ “สมองส่วนหน้า” นั่นเอง

สมองส่วนหน้า ทำหน้าที่อะไรบ้าง?

  • สมองส่วนหน้านอกจากจะมีความสำคัญต่อการมี EF ที่ดี แล้ว สมองส่วนหน้ายังทำหน้าที่อื่น ๆ อีก ดังนี้
  • การควบคุมตนเอง (Inhibition)
  • Executive Function
  • สมาธิ (Attention)
  • Impulse Control
  • การเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสังคม
  • การวิเคราะห์ คิด และวางแผน
  • การแก้ไขปัญหา (Problem Solving)
  • แต่ยังมีคุณพ่อคุณแม่หลายคนเข้าใจว่าสมองส่วนหน้าจะสามารถพัฒนาได้เร็วและสูงสุดในช่วงวัยเด็ก ซึ่งความจริงแล้ว สมองส่วนหน้าสามารถได้รับการฝึกฝนและพัฒนาจวบจนอายุ 20 ปี ปลาย ๆ เลยทีเดียวค่ะ

10 เทคนิคการฝึกสมองส่วนหน้า

การฝึกสมองส่วนหน้าของลูก สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

เล่นเกมจับคู่

เนื่องจากเกมจับคู่ต้องอาศัยการสังเกต การมีสมาธิ และการหาจุดเชื่อมโยงของภาพ ที่สำคัญยังได้อาศัยความจำในระยะสั้น ซึ่งความจำระยะสั้นจะเป็นการเริ่มต้นการใช้งานของสมองส่วนหน้าค่ะ


อยากช่วยลูกพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มีกิจกรรมอะไรสนุก ๆ และได้ความรู้บ้าง? แวะทางนี้ค่ะ เรามีกิจกรรมดี ๆ มาช่วยคุณแม่ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูกน้อย ทำได้ง่าย ๆ แม้อยู่บ้าน คลิกเลย

อ่านนิทาน

การอ่านนิทานไม่จำเป็นต้องอ่านให้ลูกฟังเฉพาะก่อนนอนเท่านั้นก็ได้นะคะ ในระหว่างวันหากคุณพ่อคุณแม่มีเวลาว่าง ก็สามารชวนลูกมาอ่านหนังสือนิทานด้วยกันได้ค่ะ เริ่มแรกคุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มอ่านให้ลูกได้เข้าใจเนื้อหาก่อน หลังจากนั้นชักชวนลูกให้อ่านด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการฝึกการเรียบเรียงเรื่องราวให้ลูกได้อีกด้วยคะ


แนะนำ 10 นิทานอีสป กับ 5 หนังสือนิทาน 2 ภาษา ที่ปลูกฝังเรื่องราวดี ๆ สอนใจเด็ก ๆ ในช่วงเวลาที่ปิดเทอมยาวอย่างนี้ จะมีเรื่องอะไรบ้าง?

ให้ลูกฝึกคิดวิเคราะห์

เริ่มจากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันก็ได้ค่ะ เช่น ทำไมตัวต่อมันหลุดง่าย ต่อไปใหม่ก็หลุดอีก แบบนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ อธิบายให้ลูกฟังถึงสาเหตุก่อนว่าเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะลูกไม่ได้กดลงไปให้สนิท จึงทำให้หลุดง่าย เป็นต้น เมื่อทำเช่นนี้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ลูกจะซึมซับวิธีคิดเหล่านี้ไปจนโต และสามารถค่อย ๆ วิเคราะห์ปัญหา และแก้ปัญหาได้เอง

สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง

ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญค่ะ เพราะถ้าหากลูกไม่รู้ว่าที่ตัวเองกำลังรู้สึกอยู่นี้เรียกว่าอะไร ลูกก็จะไม่สามารถเข้าใจตัวเองได้ และไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ค่ะ

ให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเอง เคารพกติกาสังคม

เช่น บางคนอาจมีอาการหงุดหงิดกับการต้องต่อแถวนาน ๆ ไม่สามารถอดทนได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นกติกาและมารยาทของสังคม เรื่องของการแซงคิวเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกด้วยนะคะ

เล่นบทบาทสมมติ

การเล่นบทบาทสมมติจะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ว่า อาชีพที่ลูกอยากทำในอนาคตนั้นต้องมีความรู้ด้านใดบ้าง ต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง เป็นต้น

มอบหมายงานบ้าน เพิ่มความรับผิดชอบ

ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เลยค่ะ ด้วยการมอบหมายงานที่ง่าย และเหมาะสมกับอายุ เพื่อเป็นการฝึกในเรื่องความรับผิดชอบ และฝึกเรื่องการแก้ปัญหาได้อีกด้วยค่ะ

ชวนวาดรูประบายสี

การวาดรูปและระบายสี เป็นการฝึกการคิดและการวางแผนว่าจะให้ส่วนไหนอยู่ตรงไหน เมื่อวาดเสร็จแล้วส่วนไหนจะใช้สีอะไร เพราะอะไร และใช้สีไหนเด่น เป็นต้น

ให้เวลาคุณภาพกับลูก

ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ครอบครัวต่างก็ต้องทำงานนอกบ้าน เพื่อให้ครอบครัวมีรายได้ที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ออกจากบ้านแต่เช้ามืด กลับมาก็ดึกลูกหลับแล้ว แต่รู้หรือไม่คะว่าการให้เวลาคุณภาพกับลูก จะทำให้ลูกได้รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่มีตัวตนอยู่จริง การที่ลูกรับรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่มีตัวตนอยู่จริง จะส่งผลให้ลูกเป็นเด็กที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ซึ่งการให้เวลาคุณภาพกับลูกใช้เวลาเพียง 10 – 20 นาทีเท่านั้น เล่นกับลูก พูดคุยกับลูก โดยที่ไม่มีหน้าจอเข้ามาเกี่ยวข้อง เท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ

งดหน้าจอก่อน 3 ขวบ

เพราะของเล่นที่ดีที่สุดคือ “คุณพ่อคุณแม่” ค่ะ จริงอยู่หน้าจอจะทำให้ลูกเพลิน สนุก แต่ไม่สามารถกระตุ้นพัฒนาสมองส่วนหน้า ในส่วนของการคิดวิเคราะห์และการเติบโตทางความคิด หรือแม้จะถึงวัยที่สามารถเล่นหน้าจอได้แล้วก็ไม่ควรเล่นเกิน 1 ชั่วโมงต่อวันนะคะ

โดยรวมแล้วสมองส่วนหน้าจะเป็นส่วนของการคิดและวิเคราะห์ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างสรรค์เกมหรือกิจกรรมเองได้นะคะ เพื่อให้เหมาะสมกับความชอบของลูก ซึ่งจะทำให้ลูกได้ฝึกอย่างสนุกสนานค่ะ