Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

คุณเป็นพ่อแม่ที่ให้ความช่วยเหลือลูกเร็วไปไหม

คุณเป็นพ่อแม่ที่ให้ความช่วยเหลือลูกเร็วไปไหม

ครอบครัวหนึ่งกำลังจะออกไปเที่ยวกัน คุณพ่อคุณแม่ใส่รองเท้าเสร็จแล้ว เหลือลูกที่ดูแล้วยังใช้ความพยายามอยู่

หนูใส่ไม่เข้า

(ยืนมอง)

มันไม่ยอมเข้าอะ

(ในขณะที่มือก็ยังพยายามใส่รองเท้าอยู่)

“……………….”

ถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่จะเข้าไปช่วยลูกไหมคะ? หลายครอบครัวคงตอบว่า “ใช่” เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แค่การช่วยลูกใส่รองเท้าเองไม่เป็นอะไรหรอก

พ่อแม่ให้ความช่วยเหลือลูกเร็วไปไหม?

จากตัวอย่างข้างต้นที่กล่าวมา หลายครอบครัว “Say yes” ในขณะที่อีกหลายครอบครัวอาจบอกว่า จะยังไม่เข้าไปช่วยทันที เพราะลูกไม่ได้บอกขอความช่วยเหลือกับคุณพ่อคุณแม่โดยตรง และที่สำคัญ คือ อยากให้ลูกได้ลองทำจนสุดความสามารถก่อน

การที่คุณพ่อคุณแม่เข้าช่วยเหลือลูกทันทีก็ไม่ใช่เรื่องผิดค่ะ แต่เป็นเพียงเพราะความปรารถนาดีต่อลูกเท่านั้น แต่ในหลาย ๆ ครั้งที่ลูกต้องเจอกับปัญหาต่าง ๆ หรือหากต้องเจอโจทย์ยากที่เข้ามาในชีวิต เขาจะแก้ไม่ตก ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ไม่รู้ว่าจะออกทางไหน ที่สำคัญ จะทำให้เด็กเสียโอกาสได้ในหลาย ๆ เรื่อง

ผลเสียที่พ่อแม่ช่วยเหลือลูกเร็วเกินไป

โอกาสที่จะได้เรียนรู้ขอบเขตความสามารถของตนเอง

หากคุณพ่อคุณแม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือลูกเร็วเกินไป จะส่งผลให้ลูกไม่มีทางได้เรียนรู้เลยว่าเขาสามารถทำอะไรได้มากแค่ไหน เขาจะไม่รู้เลยว่าความสามารถของเขานั้นสุดแค่ไหน และที่สำคัญ ลูกก็จะไม่รู้เลยว่ามีอะไรอีกบ้างที่เขาต้องเรียนรู้และพัฒนาเพิ่มเติม

โอกาสที่จะได้คิดแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

เหมือนกับการที่คุณพ่อคุณแม่เคี้ยวอาหารให้แล้ว ที่เหลือที่ลูกทำอย่างเดียวคือ กลืน ลูกจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ถ้าเวลาที่กินปลาเข้าไป แล้วเจอก้าง จะคายออกอย่างไร สมองในส่วนของการคิดวิเคราะห์ก็จะไม่พัฒนาตามวัยอันควร

โอกาสที่จะได้สร้างความเชื่อมั่นด้วยตัวเอง

ความเชื่อมันในตัวเอง” จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณพ่อคุณแม่ให้โอกาสลูกได้เรียนรู้ ฝึกแก้ไขปัญหา และตัดสินใจด้วยตัวเอง และเมื่อลูกตัดสินใจผิดพลาดไป คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ตำหนิ แต่จะสอนให้ลูกรู้ว่าจุดไหนควรปรับปรุง หากคุณพ่อคุณแม่ใช้องค์ประกอบเหล่านี้ในการเลี้ยงลูก ลูกก็จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจในตัวเองได้

โอกาสที่จะได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ

การที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง หากเรื่องนั้นไม่ได้เป็นอันตรายมากเกินไป ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ซึ่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นี้จะทำให้ลูกมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ การเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงประมวลผลที่ดีได้ในอนาคตนะคะ

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ

การให้ความช่วยเหลือลูกนั้น คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถทำได้อยู่ค่ะ เมื่อเห็นว่า

  • ลูกเริ่มหงุดหงิดหรือเริ่มโมโห แต่การให้ความช่วยเหลือนั้น ต้องเป็นไปในลักษณะของ “การสอน” ไม่ใช่ “การทำแทน” หรือ “ทำให้
  • ไม่ต้องเร่งรัด หรือกดดันลูก
    เช่น “อ้าว…ทำไมนานจัง แค่ใส่รองเท้าแค่เนี้ย” ถามว่าถ้าเป็นลูก ลูกจะทำยังไงคะ ก็คงบอกว่า “แม่ช่วยหนูหน่อย” สุดท้ายก็กลับมาที่เดิมคือ ต้องให้คุณพ่อคุณแม่ช่วย และลูกก็จะไม่สามารถรู้ขอบเขตของตัวเอง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเองได้
  • ไม่เอาลูกไปเปรียบเทียบกับใคร
    ข้อนี้เป็นอะไรที่ทำให้ลูกเสียใจมากที่สุด บั่นทอนกำลังใจลูกได้มากที่สุด ทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าของตัวเองได้มากที่สุด และอีกหลาย ๆ ที่สุดของที่สุด

การที่ไม่เข้าไปช่วยเหลือลูกเร็วเกินไป ถ้าจากสายตาคนอื่นอาจมองว่า “ทำไมเป็นพ่อแม่ที่ใจร้ายจัง ไม่ช่วยลูกเลย” แต่…อยากให้คุณพ่อคุณแม่มั่นใจในการเลี้ยงลูกของตัวเองค่ะว่า “ความจริงเราได้ช่วยเขาแล้ว ช่วยให้เขายืนได้ด้วยขาของตัวเอง เขาอาจยืนได้แล้วล้มลงบ้างก็ไม่เป็นไร เราพร้อมที่จะให้กำลังใจและเดินไปด้วยกัน”

อ้างอิง
เมริษา ยอดมลฑป (นักจิตวิทยา)