Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

พันธุกรรมหรือจะสำคัญเท่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่สามารถกำหนดบุคลิกได้

พันธุกรรมหรือจะสำคัญเท่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่สามารถกำหนดบุคลิกได้

นิสัยเหมือนพ่อแม่มันไม่มีผิด” คุ้นหูกับประโยคนี้บ้างไหมคะ? โน้ตเชื่อว่าหลาย ๆ คนคิดว่าในเมื่อลูกเป็นลูกที่เกิดจากเราและสามีเรา เพราะฉะนั้นลูกก็น่าจะต้องมีนิสัยหรือมีบุคลิกคล้ายกับเรา ถูกค่ะ แต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบุคลิกลูก…คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดให้ลูกได้ด้วยการ “เอาใจใส่” โดยไม่ต้องพึ่งพาพันธุกรรม

ธรรมชาติของทารก

จอห์น โบวล์บี (John Bowlby) นักจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ ได้อธิบายเรื่อง “ทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory)” ซึ่งเป็นทฤษฎีของเขาเองว่า เนื่องจากทารกยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาใครซักคนที่จะสามารถมอบความรัก ความอบอุ่น และความเอาใจใส่ให้กับตัวเขาได้ เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ คือ ด่านแรกที่ทารกจะนึกถึง ต่อมาจึงเป็นญาติพี่น้อง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตัวเองได้มีความรู้สึกที่ปลอดภัยหรือจะเรียกอีกอย่างว่ามี “ฐานที่มั่น (Secure Base)” นั่นเองค่ะ

ผลการวิจัยและทดลองเรื่องการเลี้ยงดูสำคัญมากกว่าพันธุกรรม

นักวิจัยสัตว์คนหนึ่งได้ทดลองนำลิงสายพันธุ์ rhesus ซึ่งเป็นลิงที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง มาทำการทดลอง โดยให้ลิงตัวหนึ่งซึ่งถูกเลี้ยงดูมาแบบขาดแม่ นำมาเลี้ยงโดยให้มีแม่ลิงตัวใหม่มาเลี้ยงดูลิงตัวนี้แทน พบว่าพฤติกรรมด้านลบของลิงตัวนี้สงบลง และลิงมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น แต่เมื่อแยกแม่ลิงออกมาอีกครั้ง ลิงตัวนี้ก็กลับไปมีพฤติกรรมด้านลบเหมือนเดิม ปฏิกิริยาทางเคมีของสารสื่อประสาทมีการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายลิงตัวนี้มีความผิดปกติทางอารมณ์และไม่สามารถเข้าสังคมได้

ลักษณะความผูกพันที่เป็นผลมาจากการเลี้ยงดู

อย่างที่หลาย ๆ คนรู้กันดีค่ะว่า เด็กจะมีการเรียนรู้ได้ทุกวัน นั่นคือ ธรรมชาติของสมอง เพราะสมองจำเป็นต้องมีการเรียนรู้เพื่อเติบโตและปรับตัวอยู่เสมอ การเลี้ยงลูกให้เกิดความผูกพันจึงเป็นอีกตัวแปรหนึ่งของพัฒนาการ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นคือ “ทารกจำเป็นต้องมีความรู้สึกที่มั่นคงและปลอดภัย” เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญกับโลกกว้าง

ความผูกพันแบบมั่นคง (Secure)

การเลี้ยงดูที่ได้รับ : ได้รับการเอาใจใส่ ตอบสนองความรู้สึกได้อย่างถูกต้องและเข้าใจ ถูกจังหวะ และต่อเนื่อง

ความผูกพันแบบห่างเหิน (Avoidant)

การเลี้ยงดูที่ได้รับ : ลูกถูกเลี้ยงดูแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ อยากทำอะไรก็ไป อยากร้องก็ร้องไป ร้องเองได้ก็หยุดเองได้ประมาณนั้น ไม่ได้ใส่ใจอารมณ์หรือความรู้สึกลูก ตลอดจนถูกเมินเฉยต่อความต้องการหรือการเรียนกร้องของลูก

ความผูกพันแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ (Ambivalent)

การเลี้ยงดูที่ได้รับ : เป็นการเลี้ยงดูแบบใส่ใจบ้าง ละเลยบ้าง เอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือก็มีการตอบสนองเหมือนกัน แต่ไม่ต่อเนื่อง และไม่ถูกต้องตามที่ต้องการ

ความผูกพันแบบสับสน (Disorganized)

การเลี้ยงดูที่ได้รับ : เลี้ยงดูแบบใช้อารมณ์ มีความเกรี้ยวกราด ความรุนแรง มักขู่ให้ลูกกลังเพื่อเลิกหรือหยุดพฤติกรรมที่ลูกกำลังทำอยู่

เมื่อเติบโตเด็กจะมีลักษณะอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กแห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซตา ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบระยะยาวว่าเด็กเมื่อเติบโตขึ้นจากการเลี้ยงดูในรูปแบบต่าง ๆ จะมีลักษณะเป็นอย่างไร

  • เด็กที่มีความผูกพันแบบมั่นคง : เมื่อโตขึ้น เขาจะมีความเป็นผู้นำสูง
  • เด็กที่มีความผูกพันแบบไม่มั่นคง – แบบห่างเหิน : เพื่อนที่โรงเรียนไม่อยากคบหาด้วย
  • เด็กที่มีความผูกพันแบบไม่มั่นคง – แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ : โตขึ้นจะเป็นคนที่ลังเล วิตกกังวล ไม่มั่นใจ และขาดความเด็ดเดี่ยว
  • เด็กที่มีความผูกพันแบบไม่มั่นคง – แบบสับสน : ไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ เข้ากับคนอื่นไม่ได้

หากเด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่ และได้รับการตอบสนองอย่างถูกต้องจากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดู เขาจึงจะมีความผูกพันอันดีและเป็นรากฐานสำคัญสู่พัฒนาการในด้านต่าง ๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม หรือด้านอารมณ์ เด็กจะสามารถรับมือความความเครียดและอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม มีความเข้าใจและยอมรับตนเอง ตลอดจนสามารถส่งต่อสัมพันธภาพที่ดีนี้กับคนอื่น ๆ ได้ในอนาคตนะคะ

อ้างอิง
Thepotential.org