Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

มีลูกดื้อ ปราบได้ โดยไม่ต้องถือไม้เรียว

มีลูกดื้อ ปราบได้ โดยไม่ต้องถือไม้เรียว

ลูกดื้อ” พฤติกรรมของลูกๆ ที่คุณแม่ทุกคนต้องเจอไม่มากก็น้อย แต่ถ้าลูกคนไหนพูดดี ๆ ครั้ง สองครั้งก็ยังไม่ฟัง สามครั้งก็ยังนิ่งจนคุณแม่ต้องเหนื่อยใจ ถือไม้เรียวทุกครั้ง ทั้งขู่ ทั้งปลอบ ทั้งเอาจริงก็แล้ว ลูกยังไม่มีทีท่าว่าจะเชื่อฟังเท่าไหร่ วันนี้ผู้เขียนเทคนิคการปราบลูกดื้อจากคุณหมอโรงพยาลบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์มาฝากค่ะ ไปดูกันเลยค่ะ

“มากินข้าวก่อนลูก” (แต่ก็ยังเล่น)
“วางเบาๆ ค่ะ” (แต่ก็ยังโยน)
“นั่งดี ๆ สิลูก” (แต่ก็ยังหันหน้าหันหลังไม่หยุดนิ่ง)

ยังมีอีกหลาย ๆ พฤติกรรมที่ต้องทำให้คุณพ่อคุณแม่ปากเปียกปากแฉะ เพลียใจไปตาม ๆ กัน

ทำความเข้าใจ “ลูกดื้อ”

การที่ลูกวัย 0-6 ปี แสดงการต่อต้านคุณพ่อคุณแม่ หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “ความดื้อ” นั้น นับเป็นพัฒนาการหนึ่งของเด็กที่กำลังเติบโต เพราะเค้าแสดงออกว่าเค้าสามารถคิดเองได้ และสามารถตัดสินใจเองได้ และที่สำคัญ เด็กๆ กำลังทดสอบกรอบที่คุณพ่อคุณแม่วางไว้ และเพื่อที่จะได้รู้ว่าตัวเองต้องอยู่ในภาวะที่เข้มงวดแค่ไหน แต่…การที่ลูกดื้อนั้นไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย แต่เค้ากำลังเรียนรู้เรื่องการใช้เหตุผลและการตัดสินใจเลือกที่จะทำหรือไม่ทำในสิ่งต่างๆ
ในฐานะที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ควรรู้เท่าทันพัฒนาการของลูก และเตรียมตัวเตรียมใจรับมือให้เหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของลูก ช่วยให้ลูกได้ปรับตัวจากเด็กดื้อมาเป็นเด็กที่มีความรู้สึกดีต่อตนเอง รู้สึกมั่นคง ปลอดภัย สามารถใช้ชีวิตทั้งในบ้านและนอกบ้านได้อย่างมีความสุข
เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน มีพื้นฐานอารมณ์ที่แตกต่างกันซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวเค้ามาแต่กำเนิด แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนไปได้บ้างตามการเลี้ยงดู

สาเหตุที่ลูกดื้อ ร้องเอาแต่ใจ

เพราะธรรมชาติของคนเราต้องการความสุข ความสมหวัง เด็กเล็กๆ ก็เช่นกัน แต่ก็เป็นธรรมดาโลกอีกเช่นกันที่ไม่มีใครสมหวังในทุกสิ่ง ในเด็กเมื่อเค้าได้รับความผิดหวัง เค้าก็จะเกิดความคับข้องใจ จึงต้องบรรเทาออกด้วยการ “ร้องไห้โวยวาย” แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่จะให้เค้าได้ระบายออกในลักษณะนี้ทุกครั้งหรือบ่อยๆ นะคะ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยเค้าควบคุมอารมณ์ร้องไห้เอาแต่ใจให้เป็น ลูกก็จะรู้จักความผิดหวัง รู้จักอกทน และจะตัดใจได้เก่งขึ้น

หนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้ลูกไม่ร้องไห้โวยวายหรือช่วยลูกควบคุมอารมณ์ก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้อง “รู้ก่อนว่าลูกต้องการอะไร? และตอบสนองเค้าให้ถูกวิธี

มีลูกดื้อ ปราบได้ โดยไม่ต้องถือไม้เรียว

ต้องบอกก่อนว่าวิธีการเพิกเฉยไม่ใช่วิธีการทิ้งลูก แต่เป็นการให้ลูกได้อยู่กับตัวเอง และทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้สงบสติอารมณ์อีกด้วยค่ะ การที่คุณพ่อคุณแม่คอยโอ๋ตลอดเวลา ทำให้เด็กมองไม่เห็นความเป็นผู้นำหรือความเด็ดขาดของเรา ดังนั้น เราไปดูกันเลยค่ะ ว่า “การเพิกเฉย” ที่ถูกวิธีต้องทำอย่างไร

ขั้นที่ 1 สงบสติอารมณ์

เริ่มจากคุณพ่อคุณแม่โดยต้องมีสติควบคุมตัวเองให้อารมณ์เย็นเสียก่อน ย้ำว่าห้ามทำข้อนี้ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ยังมีอารมณ์ร้อนนะคะ เพราะจะกลายเป็นทิ้งลูก

ขั้นที่ 2 มองหน้าลูก

คุณแม่ต้องสบตาลูก มองหน้าเค้า และพูดด้วยน้ำเสียงที่นิ่งและมั่นคงว่า “แม่จะรอจนกว่าหนูจะเงียบ แล้วเราค่อยคุยกัน”

ขั้นที่ 3 เพิกเฉยลูก

เริ่มเพิกเฉยลูกทั้งคำพูด ท่าที สายตา ไม่ต้องเช็ดน้ำตาหรืออุ้ม ถ้าลูกเข้ามาหาเพื่อให้กอดหรือให้อุ้ม คุณพ่อคุณแม่ควรหันหน้าไปทางทิศอื่น อย่างหวั่นไหวเหลือบมองให้ลูกเห็น เพราะเค้าจะจับไต๋เราได้ ว่าเราใจอ่อนแล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่หันหางานอย่างอื่นทำ เช่น พับผ้า ล้างจาน เป็นต้น

แต่…หากลูกทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายคนอื่น ให้หยุดเพิกเฉยซักพัก จับมือลูกให้แน่น และพูดกับเค้าว่า “ไม่ตีแม่/ไม่โยนของ” แกะของออกมามือลูก ปล่อยมือลูก และเพิกเฉยต่อ หากลูกยังทำอีกให้คุณพ่อคุณแม่ทำแบบเดิมอีกจนกว่าเค้าจะหยุดทำ

ขั้นที่ 4 กลับไปหาลูก เมื่อลูกเงียบได้แล้ว และควรพูดกับลูก ดังนี้

  • ชม : “หนูเงียบได้แล้ว เก่งค่ะลูก”
  • คุย : ถามลูกว่า “เมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น” เพื่อช่วยให้เค้าได้เข้าใจอารมณ์ตนเองมากขึ้น แต่หากลูกยังเล็กอธิบายไม่ถูก ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อยเรียบเรียงให้เค้าฟัง แต่ต้องสั้นและกระชับมากนะคะ เพื่อให้เค้าเชื่อมโยงได้ว่า เมื่อลูกเลิกร้องไห้ พ่อกับแม่ถึงจะมาเล่นด้วย
  • ตบบวก : คือ การหากิจกรรมที่เค้าชอบมาเล่นด้วยกันเป็นการปลอบลูก เช่น การเล่านิทาน หรืออ่านหนังสือเล่มที่เค้าชอบ แต่ไม่แนะนำ “ของเล่น” นะคะ เพราะเค้าจะเข้าใจว่าถ้าเค้าเงียบสิ่งที่เค้าจะได้คือของเล่น

อายุ vs ความดื้อ เป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน

เด็กวัยคลาน

พัฒนาการและการเติบโตของลูกมีส่วนในเรื่องนี้ค่ะ การที่ลูกแลดูไม่เชื่อฟังคุณแม่นั้น เป็นเพราะลูกต้องการทดสอบขีดจำกัดของคุณแม่เท่านั้น และอยากรู้ว่ากรอบที่ตัวเองจะทำได้นั้นอยู่แค่ไหน สิ่งนี้เป็นการบ่งบอกว่าลูกมีการเติบโตทางด้านความคิดและจิตใจ เขากำลังเริ่มมีความคิด เรียนรู้ที่จะใช้เหตุผล และเรียนรู้ในการตัดสินใจเลือกในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งหลาย ๆ ครอบครัวอาจเคยได้ยินคำว่า “Terrible Two” นั่นเองค่ะ สามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ใน “Terrible Two (วัยทอง 2 ขวบ) คืออะไร? ข้อดีของ Terrible Two


ลูก 2 ขวบ ชอบเอาแต่ใจ ขี้โวยวาย แบบนี้จะใช่ Terrible Two หรือเปล่า? คำตอบรอคุณแม่อยู่ในนี้แล้วค่ะ คลิกที่นี่

เด็กวัยอนุบาลและวัยประถม

วัยนี้อายุก็ราว ๆ 3 – 4 ขวบขึ้นไป เป็นวัยที่เข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่างมากขึ้นแล้ว อาทิ การโกหก การขโมย รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก วัยนี้เขาจะทดสอบคุณแม่ในเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก เขาจะทดสอบว่ากรอบที่เคยวางไว้นั้นยังเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ การสอนในแต่ละครั้งยังเหมือนกันอยู่หรือเปล่า เช่น เมื่อวานบอกไม่ให้ทำ วันนี้บอกทำได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น คุณแม่ต้องตั้งหลักให้ดีนะคะ เพราะถ้าคุณแม่แกว่งตั้งแต่ตอนนี้ อนาคตลุกจะไม่เชื่อฟังแน่นอน

การเลี้ยงลูกและการตอบสนองลูกในเชิงบวกเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ต้องแลกมากับความใจเย็นและสติของคุณแม่ ฟังดูแล้วเหมือนเป็นแค่ทฤษฎี แต่เรื่องนี้ฝึกกันได้ค่ะ เพียงแต่อย่าโทษตัวเองหากทนไม่ไหวแล้วปรี๊ดแตกใส่ลูกขึ้นมา เพราะไม่มีใครที่ทำครั้งแรกแล้วได้ผลเลย ขอให้ฮึดแล้วเริ่มฝึกใหม่ ซักวันคุณแม่ต้องทำได้แน่นอน