Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

โฮมสคูล(Home School) เป็นยังไงน้า?

คุณแม่หลายท่านอาจจะกำลังมองหาที่เรียนให้ลูก แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะให้เรียนที่ไหนอยู่รึป่าวคะ เดี๋ยวนี้มีทางเลือกใหม่ที่ทำให้คุณแม่ไม่ต้องห่างลูกน้อยไปไกล โดยตัวคุณแม่เองก็สามารถเป็นคุณครูและแบบอย่างที่ดีให้กับลูกได้ ปัจจุบันในไทยเราก็มีหลายครอบครัวยอมรับที่จะให้ลูกเรียน โฮมสคูล(Home School) แต่หลายครอบครัวก็ยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร วันนี้จะมาอธิบายว่าการเรียนที่บ้านเป็นอย่างไร และมีผลดีผลเสียของการเรียนที่บ้านกันค่ะ เผื่อคุณแม่จะตัดสินใจได้ว่าจะให้ลูกเรียนแบบไหนดี

โฮมสคูล(Home School) คืออะไร?

โฮมสคูล(Home School) ก็คือ การศึกษาโดยครอบครัว ที่มีการจัดการศึกษาโดยพ่อแม่หรือผู้ปกครองได้จัดขึ้นเพื่อลูก ๆ ของเขาเอง โดยมีสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งมีรูปแบบการจัดการศึกษาแบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบ ของการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย อย่างมีการเทียบโอนผลการศึกษาได้

ขั้นตอนการทำ โฮมสคูล(Home School) ในประเทศไทย

ครอบครัวมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พรบ.การศึกษา และกฎกระทรวงฯ ให้สามารถจัดการศึกษาได้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ อนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น (ระดับอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย ยังไม่อนุญาตนะคะ)

รายละเอียด ดังนี้

  1. ระดับปฐมวัย (อนุบาล) ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเขตพื้นที่การศึกษาว่าจะอนุญาตให้ครอบครัวจดทะเบียนเพื่อจัดการศึกษาบ้านเรียนหรือไม่ (ข้อมูล ณ ขณะนี้ 20 ต.ค. 55 บางเขตพื้นที่การศึกษาก็ไม่อนุญาตโดยอ้างว่าไม่จำเป็นต้องจด ให้พ่อแม่สอนลูกไปเองก่อน ค่อยมายื่นขอจดทะเบียนตอนระดับประถมศึกษา
  2. ระดับประถมศึกษา ครอบครัวสามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียน และจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาตามภูมิลำเนา
  3. ระดับมัธยมศึกษา ไม่ได้ขึ้นกับเขตพื้นที่การประถมศึกษานะคะ ซึ่งครอบครัวจะต้องยื่นขออนุญาตจดทะเบียนจัดการศึกษากับหน่วยงาน ดังนี้
    • สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา
    • ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ กศน. (การศึกษานอกระบบ)
    • ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ การจัดการศึกษาทางไกล

ผลดีของ โฮมสคูล(Home School)

  1. คุณพ่อคุณแม่ได้อยู่ใกล้ชิดลูกตลอดเวลา สานสัมพันธ์ครอบครัวได้แน่นแฟ้น อบอุ่น และดูแลปกป้องลูกได้ดีกว่าการส่งลูกไปโรงเรียน
  2. คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกจัดการการเรียนการสอนได้ตามสไตล์ที่เหมาะสมกับลูก แถมสอนได้ง่าย ได้ไวกว่าการไปโรงเรียน เพราะเรียนอยู่บ้านจะเป็นการสอนแบบตัวต่อตัว
  3. ลูกจะไม่รู้สึกว่าถูกเปรียบเทียบผลการเรียนกับใคร เพราะเรียนอยู่บ้านไม่ต้องกดดันแบบอยู่ในชั้นเรียน
  4. ลูกจะมีอิสระในการเรียนรู้มากขึ้น เพราะเด็กวัยกำลังช่างพูดมักจะช่างถาม อยากรู้อยากเห็น การส่งลูกไปโรงเรียน บางครั้งคุณครูอาจเหนื่อยกับการต้องคอยตอบคำถามลูกเราคนเดียว
  5. ลูกจะไม่ถูกบังคับจากกฎระเบียบบางอย่างที่ไม่มีเหตุผล
  6. ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะมีปัญหากับเพื่อนหรือโดนรุ่นพี่รังแก
  7. คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปเรียนรู้นอกสถานที่ได้บ่อยกว่าการไปโรงเรียน
  8. ลูกจะสามารถแสดงพรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวเขาให้เห็นได้ง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงมีหน้าที่ช่วยลูกค้นหาให้เจอ
  9. ปลอดภัยจากโรคระบาดในเด็ก เพราะไม่ต้องห่วงว่าจะติดเชื้อจากการไปอยู่ร่วมกับเพื่อนที่โรงเรียน
  10. คุณพ่อคุณแม่มีความสบายใจที่ไม่ต้องให้ลูกไปเป็นภาระแก่คุณครูที่โรงเรียน
  11. ไม่ต้องเปลืองค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน ค่าบำรุงโรงเรียน ค่าเข้าร่วมกิจกรรมในโรงเรียน

ผลเสียของ โฮมสคูล(Home School)

  1. ไม่เหมาะกับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่สามารถมีเวลาให้ลูกได้เต็มที่
  2. ลูกจะเจอสังคมภายนอกกับเด็กวัยเดียวกันได้น้อยลง แต่สามารถแก้ได้ โดยการพาลูกไปเยี่ยมหาเด็กวัยเดียวกันเพื่อให้มีเวลาได้เล่นด้วยกัน พูดคุยกันบ้าง
  3. ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่มีระเบียบวินัยและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกไม่ได้ การเรียนแบบนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นบ้านที่เลือกจะเรียนแบบนี้ต้องมีความอดทนและระเบียบวินัยสูงพอสมควร
  4. บางบ้านที่มีปัญหาทางการเงิน และคุณพ่อคุณแม่มีวุฒิภาวะทางจิตไม่ดี อาจควบคุมอารมณ์ที่จะสอนลูกแบบใจเย็นไม่ได้ ถ้าเด็กดื้อ เถียง อาจเกิดปัญหาตามมาได้

เรียนแบบโฮมสคูล (Home School) จะดีไหม ลูกจะรู้สึกแปลกแยกหรือเปล่า? ติดตามข้อดี ข้อเสียของการเรียนแบบโฮมสคูล เพื่อประกอบการตัดสินใจได้จากบทความนี้เลยค่ะ คลิกที่นี่

ในบ้านเรามีการตั้งศูนย์ประสานงานครอบครัวบ้านเรียนขึ้น ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เพื่อสร้างมาตรฐานการจัดการศึกษาโดยครอบครัวในสังคมไทยไห้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งโฮมสคูลถือเป็นทางเลือกหนึ่ง และมันไม่ใช่สิ่งที่ผิดแตกต่างอะไรกับการเรียนในโรงเรียน เราเคยมีแล้วแต่ถูกลืมไป เพราะใช้ระบบโรงเรียนมากว่าหนึ่งร้อยปี หลังจากนั้นพอเห็นความล้มเหลว หรือความยุ่งยาก จากปัญหาบางอย่างที่มันก่อตัวจากระบบโรงเรียน ทำให้ระบบนี้ฟื้นคืนขึ้นมาอีก