Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกกลัวความมืด สาเหตุ พร้อมวิธีแก้ไข

ลูกกลัวความมืด สาเหตุ พร้อมวิธีแก้ไข

กลัวความมืด” เป็นสิ่งที่สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน จนเด็กบางคนต้องขอให้คุณพ่อคุณแม่เปิดไฟนอน แม้เป็นไฟหรี่ก็ยังดี ซึ่งปัญหานี้ก็เป็นปัญหาคลาสสิกอีกปัญหาหนึ่งเลยทีเดียวค่ะ เมื่อก่อนน้องมินก็เป็นนะคะเรื่องของ “กลัวความมืด” แต่เป็นพักเดียวก็หาย ซึ่งวันนี้โน้ตมีข้อมูลมาแชร์กันค่ะว่าทางออกคืออะไร

โรคกลัวความมืด คืออะไร?

โรคกลัวความมืด หรือมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Nyctophobia เกิดจากการรวมกันระหว่าง คำว่า nyktos แปลว่า กลางคืน และคำว่า phobos แปลว่า ความกลัว ซึ่งเป็นอาการที่สมองตอบสนองต่อความมืด ด้วยการหลั่งสารเคมีเพื่อเป็นการเพิ่มระดับการรับรู้ถึงความกลัวและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น บางคนสามารถจัดการกับความกลัวได้ แต่ในขณะที่บางคนไม่สามารถจัดการได้ โดยมากแล้ว อาการกลัวความมืดมักเกิดขึ้นในเด็ก และจะค่อย ๆ หายไปได้เองเมื่อโตขึ้น

สาเหตุที่กลัวความมืด

โรคนี้กล่าวได้ว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจล้วน ๆ ค่อนข้างที่จะเจาะจงไปว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ที่พอจะสรุปได้ มีดังนี้ค่ะ

  • เกิดจากประสบการณ์อันเลวร้ายของเด็ก
  • เกิดจากการขู่ของผู้ใหญ่ที่มักขู่เด็ก แล้วเด็กนำไปจินตนาการต่อ
  • พันธุกรรม
  • สารเคมีในสมองที่ทำงานผิดปกติ
  • เกิดความไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย หรือ
  • เกิดจากความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมา

อาการกลัวความมืดในเด็ก เริ่มขึ้นเมื่อไหร่

โดยทั่วไปแล้ว อาการกลัวความมืดจะยังไม่เกิดขึ้นกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ค่ะ เพราะเขายังคงคุ้นชินกับการที่ได้อยู่ในท้องคุณแม่มากว่า 9 เดือน แต่กลับกับความมืดทำให้เขารู้สึกสงบมากกว่าเสียอีก
อาการกลัวความมืดในเด็กมักจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กอายุ 3 – 6 ปี ซึ่งเป็นเรื่องปกติของวัยนี้ค่ะ เพราะเขาสามารถรับรู้และเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้ เริ่มมีความคิด และมีจินตนาการเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่จะทำให้ลูกกลัวความมืดจะมีสิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นค่ะ

  • ผีสาง
  • เสียงแปลก ๆ ยามค่ำคืน
  • สัตว์ประหลาด
  • การแยกนอนคนเดียว
  • การขู่จากผู้ใหญ่
  • ความเชื่อที่เล่าส่งต่อกันมา

ทั้งนี้ การกลัวความมืดในบางรายที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กนั้น เป็นความกลัวที่ไม่ได้รับการแก้ไข เป็นความกดดันที่เกิดขึ้นและกระทบจิตใจอย่างรุนแรง จนไม่สามารถรักษาหายได้ตั้งแต่วัยเด็ก ลักษณะนี้ควรปรึกษาจิตแพทย์ค่ะ

ลูกกลัวความมืด ส่งผลกระทบอะไรต่อเด็กบ้าง

เพราะว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” หากเด็กมีอาการกลัวความมืด ไม่สามารถปิดไฟนอนได้ ไม่สามารถข่มตาหลับได้ในเวลากลางคืน จะส่งผลต่อเด็ก ดังนี้

พัฒนาการด้านการเรียนรู้

เนื่องจากลูกไม่สามารถหลับได้สนิทในเวลากลางคืน แม้หลับแล้วก็ยังจะคอยสะดุ้งตื่นตลอดเวลา จึงส่งผลให้ร่างกายและสมองไม่ได้พักผ่อนอย่างเหมาะสม ตื่นเช้ามาไม่สดชื่น แจ่มใส ง่วงตลอดเวลา จึงไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พัฒนาการด้านร่างกาย

เป็นที่ทราบกันดีว่า Growth Hormone หรือ ฮอร์โมนที่ควบคุมความสูงจะทำงานในช่วงเวลา 23:00 – 02:00 น. และจะหลั่งออกมาได้ก็ต่อเมื่อเราหลับลึกไปแล้ว 1 ชม. ดังนั้น ถ้าเด็กไม่สามารถข่มตานอนได้จนทำให้เวลาล่วงเลยไปจนดึก และถึงแม้ว่าหลับแล้วก็ยังสะดุ้งตื่นตลอดเวลา Growth Hormone ก็จะไม่ทำงาน จึงส่งผลให้ลูกไม่เติบโตเท่าที่ควร หรือความสูงไม่ถึงเกณฑ์

ลูกกลัวความมืด รักษาอย่างไร

ก่อนการเข้ารับการรักษาให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการของลูกก่อนค่ะ ถ้าหากลูกมีอาการดังต่อไปนี้ถึงค่อยเข้ารับการรักษาค่ะ

  • หากความมืดส่งผลกระทบมากเสียจนทำให้ลูกเกิดความวิตกกังวลมาก
  • รู้สึกว่าอาการกลัวของลูกบางครั้งไม่มีเหตุผล ดูจะกลัวมากเกินไป
  • ลูกพยายามเลี่ยงที่จะทำบางอย่างหรือสถานการณ์บางอย่าง อันเป็นเหตุจากความกลัว
  • สังเกตได้ว่าลูกมีอาการกลัวความมืดมากกว่า 6 เดือน หรือมากกว่า

การรักษาอาการกลัวความมืด สามารถทำได้ดังนี้

ให้อยู่กับความมืด

วิธีนี้ฟังดูอาจจะแปลก ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ลูกของคุณพ่อคุณแม่อยู่ในห้องมืดคนเดียว และขังไว้นะคะ แต่การรักษาในลักษณะนี้คือ จะให้ลูกค่อย ๆ สัมผัสกับความมืดทีละนิด และเพิ่มระยะเวลาการอยู่ในความมืดให้นานขึ้นทีละนิดเช่นกัน ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า “การลดความอ่อนไหวของผู้ป่วย (Desensitization)

บำบัดด้วยการพูดคุย

ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ พูดคุยกับคนในครอบครัว รวมไปถึงการพูดคุยกันแบบกลุ่ม เพื่อเป็นการได้ถ่ายทอด และปลดปล่อยสาเหตุถึงความกลัวนั้น ๆ

ฝึกกำหนดลมหายใจ

วิธีนี้เป็นการฝึกให้ลูกได้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก เพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นในสภาวะของความมืด เช่น การสูดหายใจเข้า-ออก ลึก ๆ เป็นการกำหนดลมหายใจ

รักษาด้วยยา

วิธีนี้จะอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ค่ะ ซึ่งอาจมีการสั่งยาให้กับผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการวิตกกังวล หรือยากล่อมประสาท เป็นต้น

เรื่องการกลัวความมืด คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของลูกได้ค่ะ ซึ่งถ้ายังมีอาการไม่มาก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วิธีพูดคุยกับลูกได้ค่ะ เพื่อเป็นการปลดล็อกเค้าได้ และคอยอยู่เป็นกำลังใจให้ลูกได้รู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่อยู่ตรงนี้ไม่มีอะไรที่น่ากลัว แต่ถ้าพบว่าลูกมีอาการมาก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์นะคะ เพราะลูกยังอยู่ในวัยที่ต้องเรียนรู้อะไรอีกมาก ควรได้รับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ ค่ะ