Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

วิธีรับมือเมื่อลูกโดนแกล้งในวัยอนุบาล

วิธีรับมือเมื่อลูกโดนแกล้งในวัยอนุบาล

การเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลนับเป็นก้าวแรกที่เด็กจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสถานที่ใหม่ การต้องเจอกับคนใหม่ๆ ต้องเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย และความรับผิดชอบต่างๆ ลูกจะได้เรียนและได้เล่นอย่างเหมาะสมหวังว่าลูกคงจะมีความสุข ความสนุกกับสิ่งใหม่ๆ ที่เจอ

…แต่ความเป็นจริง หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่ไปส่งลูกที่โรงเรียนแล้ว เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าในแต่ละวันลูกเราต้องเจออะไรบ้าง จะรู้อีกทีก็มีรอยฟกช้ำดำเขียวตรงนั้นที ตรงนี้ที มีรอยถลอกขีดข่วนกลับมา ในมุมนึงคุณครูเองก็คงไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่เองที่จะเป็นส่วนสำคัญในการที่สอนลูกว่าควรทำอย่างไรเมื่อโดนเพื่อนมาแกล้ง และคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกโดนเพื่อนแกล้งหรือเปล่า วันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากค่ะ

เมื่อลูกโดนแกล้งในวัยอนุบาล

เด็กที่จะถูกกลั่นแกล้งโดยมากมักจะมีบุคลิกที่ดูแล้วเป็นจุดอ่อน เช่น ไม่มีความมั่นใจในตนเอง อ้วนเกินไป พูดจาติดอ่าง หรือเรียนอ่อน เป็นต้น เด็กกลุ่มนี้ก็จะถูกนินทา พูดนินทา (แบบให้ได้ยิน) หรือบางคนอาจใช้คำพูด “เราไม่ให้นั่งตรงนี้” บางคนอาจถูกตี หรือเตะเลยก็มี

ซึ่งพฤติกรรมของเด็กที่ชอบแกล้งเพื่อนเหล่านี้ มักจะจำมาจากสิ่งที่เค้าเห็นหรือได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นทีวี youtube หรือแม้แต่พฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เอง

วิธีสังเกตว่าลูกถูกเพื่อนแกล้งหรือไม่

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตพฤติกรรมของลูกมั้ยคะว่า ก่อนไปโรงเรียนกับหลังกลับจากโรงเรียนเค้ามีพฤติกรรมอย่างไร หรือหากถามแล้วเค้ายังไม่ยอมเล่าให้ฟัง ให้สังเกตจากอาการดังต่อไปนี้ค่ะ

  • ซึมเศร้า
  • ไม่อยากไปโรงเรียน
  • กลับมาหิวโซ
  • ของหายบ่อยๆ
  • เสื้อผ้าขาด
  • มีรอยถลอด หรือฟกช้ำดำเขียวบ่อยๆ
  • ปวดท้อง
  • ฝันร้าย
  • ฉี่รดที่นอน

…หากมีอาการดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนค่ะว่าลูกอาจถูกเพื่อนแกล้งจริงๆ

เมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้งหลายคนก็สามารถเอาตัวรอดได้ แต่ในขณะที่อีกหลายคนยอมจำนนทนให้เพื่อนแกล้งต่อไป ไม่กล้าบอกคุณครู หรือคุณพ่อคุณแม่ เพราะกลัวว่าเวลาโรงเรียนจะโดนแกล้งซ้ำ ทำให้ชีวิตในรั้วโรงเรียนไม่มีความสุข พอโดนแกล้งนานๆ เข้า เริ่มทนไม่ได้บันดาลโทสะ จึงแสดงออกโดยการตอบโต้กันแรงๆ ถึงขั้นเลือดตกยางออกกันเลยก็มี

โน้ตจะใช้วิธีนี้ควบคู่กันไปค่ะ คือ หลังจากที่รับลูกกลับจากโรงเรียนให้สอบถามลูกว่า “วันนี้เรียนอะไร? สนุกไหม?” แล้วให้ลูกเล่าเรื่องเอง แล้วตบท้ายด้วยคำถามที่ว่า “วันนี้มีเพื่อนแกล้งหนูไหมคะ? แล้วหนูไปแกล้งอะไรเพื่อนหรือเปล่า?” แม้ว่าลูกจะไม่มีใครมาแกล้ง แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ลูกไปแกล้งใครด้วยนะคะ

รูปแบบของการแกล้ง

ทำร้ายจิตใจ

  • จากคำพูด : ไม่ว่าจะเป็นคำพูดแรง ๆ บ้าง หยาบคายบ้าง หรืออาจจะสุภาพบ้าง ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการเลี้ยงดูจากครอบครัวของเด็กคนนั้น
  • จากการแสดงกิริยา : เช่น อาจทำท่ารังเกียจ กลั่นแกล้งให้อับอายจนถูกเพื่อนคนอื่นหัวเราะเยาะใส่ รวมถึงการนำเรื่องที่เกิดขึ้นไปล้อ ทำให้เกิดความอับอาย

แสดงออกว่ามีอำนาจเหนือกว่า

เช่น ฉันเป็นคนเรียนเก่ง หน้าตาดี เพื่อน ๆ ชื่นชมและให้การยอมรับ ดังนั้น ก็มักจะใช้ให้เพื่อนคนอื่น ๆ ไปซื้อของให้ ถือกระเป๋าให้ รวมถึงใช้ให้ว่าหรือแกล้งเพื่อนคนอื่นที่ตัวเองไม่ชอบ

ทำร้ายร่างกาย

ข้อนี้เลวร้ายและรุนแรงที่สุด บางรายถึงขั้นเลือดตกยางออก คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตร่างกายของลูกด้วยนะคะ

มีการข่มขู่

ไม่ว่าจะเป็นด้วยกิริยาท่าทางที่วางอำนาจ หรืออวดตัวเองว่า ฉันมีอำนาจที่จะสามารถทำร้ายเพื่อน ๆ ได้ เป็นต้น

บอกเพื่อนคนอื่นให้คว่ำบาตร

ข้อนี้เข้าข่ายเป็นมาเฟียเล็กน้อย สามารถสั่งคนอื่นให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ถ้าหากฉันเจอใครที่ไม่ถูกใจหรือไม่ชอบหน้า

วิธีรับมือเมื่อลูกโดนเพื่อนแกล้ง

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบเรื่องควรช่วยลูกหาทางออกด้วยการ…

สอบถามข้อมูลจากลูกให้แน่ชัด

อันดับแรก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตำหนิติเตียนลูก หรือแสดงอารมณ์ขุ่นเคือง ไม่พอใจที่ลูกอ่อนแอ ยอมให้เพื่อนรังแก แต่ควรตั้งสติ ซักถามด้วยความเข้าใจ เพราะความสัมพันธ์ที่ดี

แจ้งครูหรือทางโรงเรียนให้ทราบเรื่อง

เพื่อครูและโรงเรียนทราบถึงปัญหา และแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและตรงจุด ไม่ควรปล่อยให้เด็กไปรังแกเพื่อนคนอื่นอีก หากมองเป็นในระยะยาวควรแจ้งครูและโรงเรียนเพื่อวางมาตรการป้องกันเด็กที่ชอบรังแกกันในโรงเรียน

สอนทักษะให้ลูกในด้านต่างๆ

เพื่อช่วยให้ลูกสามารถรับมือกับการถูกแกล้ง เช่น รู้จักปฏิเสธ ฝึกให้มีบุคลิกที่มีความเชื่อมั่น รู้จักพูดตอบโต้อย่างมีศิลปะ ทักษะการป้องกันตัว หรือฝึกให้เลี่ยงปัญหาอย่างฉลาด เช่น การไม่อยู่คนเดียว ให้เดินเลี่ยง ไม่แข็งขืนหากผู้ที่เข้ามารังแกมีร่างกายที่แข็งแรงหรือตัวใหญ่กว่า

คุณพ่อคุณแม่ควรมีวิธีพูดที่ดี ในการที่จะให้ลูกละจากความกลัว

เพื่อให้ลูกได้รู้สึกเข้มแข็ง มีแรงฮึด พร้อมที่ละลุกขึ้นปกป้องตัวเอง

ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งใจฟังเวลาที่ลูกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง อย่าเพิ่งด่วนสรุปเหตุการณ์และดุด่าลูก ไม่เช่นนั้นครั้งต่อไปลูกจะไม่กล้าเล่าอะไรให้คุณพ่อคุณแม่ฟังอีกเลย เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็น ๆ และค่อย ๆ หาวิธีสอนเค้าในเรื่องการป้องกันตัวเองตามข้างต้นนะคะ และหมั่นให้กำลังใจลูกอยู่เสมอ เค้าก็จะเป็นเด็กที่เข้มแข็งขึ้นในไม่ช้าค่ะ