Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกไม่ช่วยงานบ้าน ลูกขี้เกียจ เพราะอะไร พร้อมวิธีแก้ไข

ทำไมลูกขี้เกียจ พร้อมวิธีแก้ไข

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านที่มีลูก พอลูกเริ่มโตขึ้นก็มีหลายๆ เรื่อง ที่กังวลและหนักใจ หนึ่งในหลายๆ เรื่องที่ว่าก็คือ “ความขี้เกียจ” ของลูก บอกให้ทำอะไรก็ไม่ทำ อ้างว่าอยากพักบ้าง อิดออดบ้าง หรือทำก็เหมือนดูไม่เต็มใจ เคยพยายามที่จะแก้ปัญหาโดยการแบ่งงานให้ลูกทำแล้ว แต่ลูกก็ยังนิ่งเฉย จะทำอย่างไรดี

ก่อนที่จะไปเรื่องวิธีแก้ โน้ตอยากให้คุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ลูกขี้เกียจกันซักนิดก่อนนะคะ

Youtube : ทำไมลูกขี้เกียจ พร้อมวิธีแก้ไข

ลูกไม่ช่วยงานบ้าน ลูกขี้เกียจ เพราะอะไร?

ลูกไม่ช่วยงานบ้าน จนคุณพ่อคุณแม่มองว่าลูกเกิดความขี้เกียจซึ่งจะสังเกตเห็นได้ก็เมื่อลูกอายุได้ประมาณ 6-8 ขวบ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อตอนที่ลูกอายุ 3-5 ขวบ ก็มีพฤติกรรมที่เลียนแบบคุณพ่อคุณแม่อยู่ แล้วอยู่ดี ๆ ทำไมถึงขี้เกียจขึ้นมาได้ ไปดูสาเหตุกันค่ะ

กลัวว่าลูกจะทำไม่เรียบร้อย ทำไม่สะอาด

เพราะความที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานนั้นๆ มาก่อน ผนวกกับความที่เป็นผู้ใหญ่จึงทำงานได้เรียบร้อยกว่า สะอาดกว่าเด็ก และผนวกกับเด็กเพิ่งจะหัดทำจึงทำได้ไม่เรียบร้อยและไม่สะอาดเท่าผู้ใหญ่ ผลออกมาคือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ให้ช่วยงานนั้นๆ อีกเลย

ว่ากล่าวเมื่อลูกทำไม่ได้ดั่งใจ

คุณพ่อคุณแม่ดีใจเมื่อลูกวิ่งเข้ามาช่วยงาน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ลืมตัวแอบคาดหวังไว้สูงว่าลูกต้องทำได้ถึงขั้นนั้นขั้นนี้ พอผลออกมาตรงกันข้ามก็ดุลูก ว่ากล่าวลูก ทำให้ลูกเกิดความเสียใจ ท้อใจ และไม่อยากทำอีก

กลัวว่าจะทำข้าวของเสียหาย

เพราะการควบคุมกล้ามเนื้อของเด็กยังพัฒนาไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ บางครั้งการช่วยงานบ้านในบางประเภทอาจเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กังวล และไม่อยากให้ลูกได้ลองทำ จึงกลายเป็นลูกไม่คุ้นเคยและไม่ได้เรียนรู้งานประเภทนั้น เมื่อเด็กโตขึ้น เค้าจะรู้สึกว่า “หนูไม่อยากทำข้าวของเสียหาย หนูไม่ทำดีกว่า

แบ่งงานที่ไม่ตรงกับความสนใจของลูก

ความสนใจในงานต่างๆ ของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงแตกต่างกัน ผู้ชายอาจสนใจในเรื่องการทำสวน การช่วยคุณพ่อล้างรถ แต่สำหรับเด็กผู้หญิงอาจสนใจในเรื่องการช่วยตากผ้า พับผ้า หรือเข้าครัว ดังนั้น ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะแบ่งงานให้ลูกทำควรพิจารณาจากความสนใจของลูกเป็นอันดับแรกนะคะ

วิธีแก้ไขให้ลูกช่วยงานบ้าน

การแก้ไขปัญหาลูกขี้เกียจจริง ๆ แล้วไม่ยากค่ะ เพียงแต่ต้องอาศัยความเข้าใจ การสังเกต และใช้เวลากันซักหน่อย เริ่มจากอะไรไปดูกันค่ะ

เริ่มจากงานง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนก่อน

เน้นงานที่ทำจบได้ในคราวเดียว อาทิ การพับผ้า เป็นต้น หรืองานอื่น ๆ ที่ง่าย ๆ เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยและความสนุกก่อน เมื่อลูกรู้สึกสนุก คราวหน้าก็จะไม่พลาดที่จะมาช่วยคุณแม่ทำงานบ้านแล้วล่ะค่ะ

บอกเล่าข้อดีของการทำงานบ้าน

เช่น การทำงานบ้านก็เป็นการออกกำลังกายได้อย่างหนึ่ง ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงอย่างการถูบ้าน นอกจากจะได้เหงื่อแล้ว พื้นบ้านก็ไม่ลื่น ลูกเองก็ไม่ลื่นล้ม แบบนี้เป็นต้นค่ะ

สร้างให้เป็นเกมอีกหนึ่งเกม

คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้วิธีสร้างแรงจูงใจให้ลูกช่วยงานบ้านด้วยการติดดาว สะสมแต้มในแต่ละสัปดาห์ เมื่อครบจำนวนดาวที่กำหนด ก็อาจมีรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ลูกตามสมควร ก็จะเป็นการเพิ่มความสนุกในการทำงานบ้านได้มากขึ้นค่ะ

ทำงานบ้านพร้อมกัน คู่กันไปกับลูก

ในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่สามารถทำงานบ้านร่วมกันไปกับลูก อาทิ รดน้ำต้นไม้ ล้างจาน หรือพับผ้า เป็นต้น เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าการทำงานบ้านนั้นไม่ได้เหนื่อยอย่างที่คิด หรือไม่ได้เหนื่อยจนเกินไป ที่สำคัญ จะเป็นการสร้างบรรยากาศให้ลูกรู้สึกสนุกอีกด้วยค่ะ

ลดความคาดหวังลง

เพราะ “ความคาดหวัง” นับเป็นการเพิ่มความกดดันให้ทั้งคุณแม่และคุณลูก ไม่มีผลดีกับใครเลย เมื่อไม่ได้ดั่งที่หวัง คุณแม่ก็จะหงุดหงิด แล้วจะเผลอดุลูกไปอีก

ชื่นชมลูกเมื่อทำได้ดี

บางครอบครัว กลัวว่าถ้าเราชมลูกแล้วลูกจะเหลิง แต่แม่โน้ตขอแชร์อย่างนี้นะคะ ว่าเราสามารถชมลูกได้ค่ะ เพียงแต่ไม่ได้ชมไปซะทุกเรื่องขนาดนั้น (อย่างนี้อาจเหลิงจริง) เรื่องไหนที่คุณแม่เห็นว่าเค้ามีความตั้งใจและพยายาม เมื่อลูกทำสำเร็จเราก็ชื่นชมเค้าตามสมควร ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้เด็กเป็นเด็กที่มี Self-esteem (การเห็นคุณค่าในตัวเอง) ได้ในอนาคต อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้าง Self-esteem ได้ใน “เทคนิคการฝึกให้ลูกมี Self – Esteem สูง?


สอนให้ลูกรักตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเองหรือมี Self – Esteem สูงต้องทำอย่างไร? พบกับเทคนิคต่าง ๆ ได้ในบทความนี้ค่ะ

แบ่งงานตามความสนใจของลูก

อย่างที่โน้ตกล่าวไว้ในตอนต้นค่ะ ว่าเด็กแต่ละคนอาจมีความสนใจที่แตกต่างกันได้หรืออาจเหมือนกันในบางอย่าง ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่แล้วล่ะค่ะ ที่ต้องอาศัยการใส่ใจและสังเกตดูว่าลูกชอบกิจกรรมอะไร หรือสนใจอะไรเป็นพอเศษแล้วแบ่งหน้าที่นั้นๆ ให้เค้าทำ รับรองเค้าจะทำออกมาได้ดีเชียวแหละ

เตือนลูกด้วยน้ำเสียงปกติและยืดหยุ่น

เช่น ถ้าคุณแม่มอบหมายงานไปแล้ว แต่ลูกยังเล่นอยู่ ไม่ลุกมาทำเสียที เรียกก็หลายครั้งแล้ว คุณแม่ลองเดินไปดูลูกนะคะ แล้วค่อยๆ จูงมือออกมาจากจุดนั้น

**แต่…ถ้าหากลูกกำลังเล่นติดพันอย่างสนุกสนานอยู่ เราไม่ควรจูงแขนลูกมา ณ ตอนนั้นนะคะ ไม่อย่างนั้นเค้าจะหงุดหงิดและยิ่งพาลไม่อยากช่วยงานเข้าไปใหญ่ คุณแม่ควรยืนดูลูกตรงนั้นอีกซักพัก รอจังหวะลูก ยืดหยุ่นให้ลูกซักหน่อย แล้วเค้าจะยอมเดินมาแต่โดยดี

แต่ถ้าครอบครัวไหนที่มีลูกอยู่ในวัย 3-5 ขวบ แม่โน้ตขอแชร์อย่างนี้ค่ะว่า วัยนี้เป็นวัยที่ชอบเลียนแบบผู้ใหญ่ ถ้าเค้าเห็นเราพับผ้า แล้วเสนอตัววิ่งเข้ามาช่วย เราก็ควรให้เค้าช่วยทำ แล้วอย่าลืมนะคะ อย่าเพิ่งคาดหวัง อย่าเพิ่งดุลูก หากเค้าทำดี เราควรชื่นชม เราให้เค้าทำแบบนี้บ่อย ๆ ไปจนโต จะเป็นการปลูกฝังความขยัน ความกระตือรือร้นให้ลูกแทนค่ะ