Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

รักลูก เข้าใจลูกตามทฤษฏีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์

รักลูก เข้าใจลูกตามทฤษฏีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์

พัฒนาการลูก” เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจ จริงอยู่อย่างที่โน้ตเคยพูดเสมอว่า เด็กแต่ละคนต่างกัน เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการที่เร็ว ในขณะที่บางคนมีพัฒนาการที่ช้า โดยเฉพาะพัฒนาการด้านสมอง คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกได้เพื่อให้เขาได้มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย ขอเพียงให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจธรรมชาติ และพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของลูกตามหลักทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์ก็เป็นเรื่องที่ดีแล้วค่ะ

ทำไมต้องเพียเจท์ เพียเจท์คือใคร

เพียเจท์ หรือ Jean Piaget เป็นนักจิตวิทยาชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา โดยเขาได้กล่าวไว้ว่า

“เด็กจะสร้างความรู้ หรือพัฒนาสติปัญญาผ่านการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมอยู่ 2 แบบ และจะมีพัฒนาการทางสติปัญญาตามช่วงวัยทั้งหมด 4 ขั้น”

สติปัญญาที่เกิดจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม

ในทฤษฎีของเพียเจท์ กระบวนการพัฒนาทางสติปัญญาของเด็กจะเกิดขึ้นจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอยู่ 2 ด้วยกัน

  • การซึมซับประสบการณ์ (Assimilation)
  • การปรับโครงสร้างสติปัญญา (Accommodation) ตามสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดความสมดุลทางด้านความคิด และความเข้าใจ

หรือจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เด็กจะซึมซับประสบการณ์ที่เขาได้รับมา แล้วจับมารวมเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการทางการคิด โดยมีการเชื่อมโยงกันระหว่างเรื่องเก่าที่เคยเรียนรู้มากับเรื่องใหม่ การเกิดขึ้นของเรื่องต่าง ๆ จะมีการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และความเข้าใจของเด็กนั่นเองค่ะ

ตัวอย่าง

ครั้งแรกที่เด็กได้รับของเล่นมาซึ่งเป็นแท่งแม่เหล็ก สิ่งแรกที่เด็กจะทำก็คือ การกัด หรือเขย่าแท่งแม่เหล็กนั้น เพราะของเล่นส่วนใหญ่ที่เด็กเคยได้เล่น เขาก็จะเล่นด้วยวิธีเหล่านี้ทั้งสิ้น แบบนี้จะเรียกว่า “การซึมซับประสบการณ์
แต่พอเห็นว่าเล่นด้วยวิธีนี้ไม่สนุก เขาก็จะหาวิธีเล่นในแบบอื่นไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็พบว่า แท่งแม่เหล็กนี้สามารถดูดสิ่งของบางอย่างได้ เด็กจะเกิดกระบวนการปรับความคิด และเริ่มเรียนรู้แล้วว่าของเล่นชิ้นนี้ไม่ได้มีเอาไว้เพื่อกัด หรือเขย่า แต่มีเอาไว้สำหรับดูดสิ่งต่าง ๆ ขั้นตอนนี้เรียกว่า “การปรับโครงสร้างทางสติปัญญา” ให้เหมาะสมจากการใช้ประสบการณ์เดิมมาเชื่อมโยงกัน

พัฒนาการทางสติปัญญามีทั้งหมดกี่ขั้น

ตามหลักทฤษฎีของเพียเจท์ พัฒนาการทางสติปัญญาจะแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้น ได้แก่

ขั้นของการใช้ประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (Sensory-motor Stage)

เริ่มตั้งแต่ : แรกเกิด-2 ปี

ด้วยธรรมชาติของเด็กในวัยนี้จะอาศัยการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใหญ่ เช่น การพยายามคว้าสิ่งของ การมอง และการดู เด็กในวัยนี้จะแสดงให้เห็นว่าเขามีสติปัญญา สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยการกระทำ เพราะเขายังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดยาว ๆ ได้ เด็กจะต้องมีโอกาสได้ประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาการด้านสติปัญญาและความคิดในขั้นแรกนี้ อาทิ การทำงานประสานกันระหว่างกล้ามเนื้อมือและสายตาจะเป็นไปด้วยดี เด็กในวัยนี้มักชอบทำอะไรซ้ำ ๆ บ่อย ๆ และมักจะมาจากการเลียนแบบ พยายามแก้ปัญหาแบบลองผิดลองถูก

ขั้นเตรียมความคิดที่มีเหตุผล (Preoperational Stage)

เริ่มตั้งแต่ : 2-7 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

  1. ขั้นก่อนเกิดสังกัป (Preconceptual Thought) เป็นขั้นพัฒนาการของเด็กวัย 2-4 ปี เป็นช่วงที่เด็กเริ่มรู้จักการใช้เหตุผลในเบื้องต้น สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ 2 การณ์ หรือมากกว่าเข้าหากันได้โดยมีเหตุผลของตัวเอง ซึ่งหมายถึงเด็กจะยังยึดเอาเหตุผล เอาความคิดของตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่ ดังนั้น เหตุผลที่ได้อาจไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงนัก เขาจะ ยังมองไม่เห็นและยังไม่เข้าใจในเหตุผลของคนอื่น แต่วัยนี้เขาจะมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่เร็วมาก
  2. ขั้นการคิดแบบญาณหยั่งรู้ นึกออกเองโดยไม่ต้องใช้เหตุผล (Intuitive Thought) เป็นขั้นพัฒนาการของเด็กวัย 4-7 ปี เด็กจะมีความคิดรวบยอดกับเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวได้ดีขึ้น แยกประเภทและชิ้นส่วนวัตถุได้ เข้าใจความหมายของจำนวนเลข สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ รู้จักการนำความรู้ของสิ่งหนึ่งมาอธิบายหรือมาใช้แก้ปัญหาได้

ขั้นคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นรูปธรรม (Concrete Operation Stage)

เริ่มตั้งแต่ : 7-11 ปี

เด็กวัยนี้สามารถตั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ได้ เข้าใจเหตุผลที่เป็นจริง และแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ลักษณะเด่นของวัยนี้คือ ความสามารถในการคิดย้อนกลับ มีความจำที่ดีมากขึ้น สามารถจัดกลุ่มและแยกประเภทได้อย่างสมบูรณ์ สนทนากับบุคคลอื่นได้ด้วยความเข้าใจในเหตุผลของผู้อื่นได้ดี

ขั้นคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นนามธรรม (Formal Operation Stage)

เริ่มตั้งแต่ : 11-15 ปี

เด็กวัยนี้จะไม่ได้คิดจากสิ่งที่เห็นหรือได้ยินเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะคะ แต่จะคิดย้อนกลับไปในอดีต รวมถึงคาดเดากับอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสมมติฐานที่สมเหตุสมผลมา สนับสนุนแนวความคิด และนี่เองค่ะที่เป็นสัญญาณบอกว่าเด็กเริ่มมีความคิดแบบผู้ใหญ่แล้ว มีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรม มีความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการอิสระ ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง รู้จักการใช้เหตุผลที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

การเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนดีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ เพียงแค่เราเริ่มจากการทำความเข้าใจตัวตนของลูกก่อนว่าแต่ละวัยเขาต้องการอะไรและมีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อที่เราจะได้ตอบสนองเขาได้อย่างถูกต้องนั่นเองค่ะ