Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

หน้าจอไม่ว่าจะมือถือหรือไอแพด ให้ลูกใช้อย่างไรถึงจะปลอดภัย พร้อมคำแนะนำ

หน้าจอไม่ว่าจะมือถือหรือไอแพด ให้ลูกใช้อย่างไรถึงจะปลอดภัย พร้อมคำแนะนำ

ด้วยความที่ยุคเป็นยุคดิจิทัล การเลี้ยงลูกจึงต้องเลี้ยงแบบคู่ขนานกันไป ลำพังจะไม่ให้เขารู้จักเรื่องของหน้าจอเลยก็คงไม่ได้ (เพราะบางโรงเรียนแม้ในระดับชั้นอนุบาลก็มีสอนคอมพิวเตอร์กันแล้ว) สำหรับโน้ตเอง โน้ตให้ลูกเล่นหน้าจอนะคะ เพียงแต่ว่า “เราต้องควบคุมลูกในการเล่นและเนื้อหาที่ลูกดูให้ได้” ไม่ใช่ให้หน้าจอเลี้ยงลูกแทนเรา และโน้ตก็ยังใช้เทคนิคในการสอนลูกเรื่องของหน้าจออีกมากมาย ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดคุยในเรื่องนี้กันค่ะ

ช่วงวัยที่เหมาะสม

วัย 2 ขวบ

สำหรับเด็กวัยนี้ยังไม่ควรให้ลูกรู้จักกับหน้าจอค่ะ เพราะวัยนี้เป็นวัยที่ต้องการการกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย กล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ รวมถึงเรื่องของสติปัญญา การสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมอื่น ๆ มาเล่นกับลูกค่ะ

วัย 3 – 5 ขวบ

วัยนี้เป็นวัยที่อยู่ในช่วงอนุบาลและกำลังจะจบจากชั้นอนุบาลเพื่อเข้าสู่ระดับชั้นประถมศึกษา การให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัว ก็จะเป็นผลดีในแง่ของการเปิดประสบการณ์ด้านการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้กับลูก แต่จำกัดไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง และให้หากิจกรรมอื่น ๆ มาเสริมค่ะ เช่น เกมบอร์ดต่าง ๆ เกมตึกถล่ม ร้องเพลง หรือระบายสี เป็นต้น

วัย 5 – 18 ปี

ช่วงนี้เล่นได้เช่นกันค่ะ แต่ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง


การให้เด็กได้ดู “ยูทูป” นั้นมีประโยชน์จริงหรือ? แล้วรายการอะไรบ้างที่เหมาะกับเด็ก? เรามีคำตอบให้คุณแล้วค่ะ

ท่าทางขณะใช้งานหน้าจอ

เด็กหลาย ๆ คนมักจะนั่งใช้งานหน้าจอแบบผิดท่า เช่น เอาไอแพดวางกับพื้น หรือไม่ก็ยกไอแพดขึ้นมาแล้วเงยหน้าขึ้นดู

แต่ท่าทางที่ถูกต้องก็คือ คุณพ่อคุณแม่ควรวางไอแพดไว้บนโต๊ะ ให้ลูกนั่งที่เก้าอี้เหมือนนั่งทานข้าวประมาณนั้น และสำคัญที่สุดคือ ให้เว้นระยะห่างระหว่างสายตากับไอแพดประมาณ 1-2 ฟุต และควรให้ลูกพักสายตาอย่างน้อย 1-5 นาทีค่ะ

ตั้งค่าถนอมสายตา

ธรรมชาติของเด็กเขาจะชอบเข้าไปมองสิ่งนั้นใกล้ ๆ ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับไอแพด เด็กมักจะชอบจ้องใกล้ ๆ และเปิดแสงให้สว่างสุด จะได้มองเห็นชัด ๆ แต่…แสงที่ว่านี้จะทำอันตรายต่อดวงตาลูกได้ค่ะ ซึ่งวิธีที่จะช่วยถนอมสายตาลูกคือ

วิธีที่ 1 เปิด Night Shift Mode

  • เข้าไปที่ส่วนควบคุม (Control Center) แตะค้างที่ส่วนปรับสว่าง > กด Night Shift Mode หรืออีกวิธีคือ
  • เข้าไปที่ตั้งค่า (Setting) ▶ จอภาพและความสว่าง (Display and Brightness) ▶ แตะเปิด นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดเวลาเปิด-ปิดได้อีกด้วยค่ะ

วิธีที่ 2 เปิดโหมดมืดหรือ Dark Mode ในที่แสงน้อย

ในส่วนของการปรับตั้งค่าของไอแพดจะมีโหมดที่ชื่อว่า Dark Mode หรือโหมดมืด ซึ่งโหมดนี้จะช่วยในเรื่องการถนอมสายตาให้กับลูกได้ โดยโหมดนี้จะเปลี่ยนสีพื้นหลังและธีมของแอปพลิเคชันจะเป็นโทนที่มืดดำทั้งหมด

วิธีที่ 3 ปรับความสว่างของจอภาพ

ความสว่างทีเหมาะสมของหน้าจอควรอยู่ที่ประมาณ 35-40% มี 2 วิธีง่าย ๆ คือ

  • เข้าไปที่ปรับเพิ่มและลดระดับแสงที่ควบคุม (Control Center) หรือ
  • ไปที่ตั้งค่า (Setting) ▶ การช่วยการเข้าถึง (Accessibility) ▶ จอภาพและขนาดข้อความ (Display & Text Size) ▶ เปิดลดแสงขาว ▶ ปรับแสงตามความเหมาะสม

จำกัดการใช้งานหน้าจอ

ในไอแพดจะมีกาฟีเจอร์ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถจำกัดการใช้งานของลูกได้นะคะ

เวลาหน้าจอ (Screen Time)

ไปที่ตั้งค่า (Setting) ▶ เวลาหน้าจอ (Screen Time) ▶ เวลาไม่ใช้งาน (Downtime) ▶ แตะเปิดเวลาที่ไม่ใช้งาน ▶ กำนดเวลาที่ห้ามให้ลูกใช้งาน

จำกัดการใช้งานของแอปพลิเคชัน

ไปที่ตั้งค่า (Setting) ▶ เวลาหน้าจอ (Screen Time) ▶ การจำกัดการใช้แอป (App Limits) ▶ เพิ่มการจำกัด (Add Limit) ▶ เลือกหมวดหมู่แอปฯ ที่ต้องการจำกัด ▶ เลือกเสร็จแล้วให้แตะเพิ่ม

การจำกัดเนื้อหาและความเป็นส่วนตัว

ไปที่ตั้งค่า (Setting) ▶ เวลาหน้าจอ (Screen Time) ▶ จำกัดเนื้อหาและความเป็นส่วนตัว (Content & Privacy Restrictions) ▶ เลือกตั้งค่าการจำกัดเนื้อหาและความเป็นส่วนตัวที่ต้องการเลยค่ะ

แต่หากคุณพ่อคุณแม่กลัวว่าลูกจะไปเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าที่เราตั้งเอาไว้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถตั้งรหัสเวลาหน้าจอ (เหมือนกับการตั้งรหัสเข้าเครื่อง) ได้อีกด้วยค่ะ

ไปที่ตั้งค่า (Setting) ▶ เวลาหน้าจอ (Screen Time) ▶ ตั้งรหัสผ่าน (Use Screen Time Passcode) ▶ ตั้งรหัสผ่าน 4 หลัก และยืนยันรหัสผ่านอีกครั้ง

เลือกแอปพลิเคชันให้เหมาะกับลูก

แอปพลิเคชันที่โน้ตเลือกให้ลูกดูคือ “ยูทูปคิดส์ (Youtube Kids)” ค่ะ แต่ต้องบอกก่อนว่าแม้จะเป็นยูทูปคิดส์

เนื้อหาของบางช่องก็ไม่ได้เหมาะสำหรับเด็กในทุกช่องนะคะ เช่น ตัวละครแอนิเมชันก็จริง แต่ลักษณะชอบแกล้งเพื่อนแล้วมานั่งหัวเราะกัน หรือบางช่องก็เป็นการเล่นซ่อนแอบ แต่หาตั้งนานแล้วหาไม่เจอ จึงใช้ไฟพ่นให้บ้านร้อน เพื่อให้เพื่อนออกมา เป็นต้น

เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรนั่งดูไปกับลูกเพื่อเป็นการสกรีนช่องต่าง ๆ ไปในตัว ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าช่องไหนที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม สามารถเข้าไปบล็อกช่องนั้น หรือจะเลือกบล็อกเฉพาะบางตคลิปก็ได้ค่ะ


จะให้ลูกดู Youtube ดีไหมนะ? จะมีวิธีไหนไหมที่แม่ลูกจะพบกันครึ่งทาง? แวะทางนี้กับ 6 วิธีเลี้ยงลูก บอกลูกก่อนให้ดู Youtube แม่ทำได้ ลูกก็ทำได้แน่นอนค่ะ