Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

พฤติกรรมพ่อแม่ที่ทำให้ลูกเครียด

พฤติกรรมพ่อแม่ที่ทำให้ลูกเครียด

โดยธรรมชาติของความเป็นลูกแล้ว เด็กจะมีความเคารพยำเกรงต่อผู้ที่เป็นคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อลูกถูกคุณพ่อคุณแม่ดุ หรือทำโทษ เขาก็จะยิ่งเกิดความกลัว เกิดความเครียดมากขึ้น และจะยิ่งมากขึ้นไปอีกเพราะเด็กยังมีคำศัพท์ในหัวน้อย ไม่รู้จะอธิบายเรื่องราวหรือความรู้สึกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ได้อย่างไร ดังนั้น วันนี้แม่โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาจับเข่าคุยกัน และสังเกตพฤติกรรมของตัวเองว่ามีอะไรบ้างที่เราเผลอทำไปโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นยิ่งทำให้ลูกเครียดจนร้องไห้

พฤติกรรมพ่อแม่ที่ทำให้ลูกเครียด

เข้มงวดกับลูกเกินไปหรือเปล่า

เป็นธรรมดาค่ะที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเป็นคนดี ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียน ระเบียบวินัย ตลอดจนความรับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ ความเข้มงวดของคุณพ่อคุณแม่นี้ถ้าจะมองในมุมของคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะบอกว่า “เราหวังดี” แต่ความหวังดีนี้จะให้ดีต้องไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกกดดันจนกลายเป็นความเครียดสะสมนะคะ

คาดหวังในตัวลูกมากเกินไปหรือเปล่า

ความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่แสดงออกได้หลายอย่าง เช่น วันหยุดลูกต้องเรียนพิเศษ หลังเลิกเรียนต้องทำการบ้านให้เสร็จ เมื่อเสร็จแล้วก็ให้อ่านหนังสือต่อ เพราะคุณพ่อคุณแม่คาดหวังว่าลูกต้องเรียนได้เกรดดี ๆ ไม่แพ้เพื่อน ลูกต้องสอบเข้าโรงเรียนดี ๆ ได้ ซึ่งความคิดเหล่านี้บางทีคุณพ่อคุณแม่มีการยัดใส่หัวเด็ก ซึ่งนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกเครียดได้

ห่วงลูกมากเกินไปหรือเปล่า

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนรู้ดีค่ะว่าวันหนึ่งลูกน้อยของเราจะต้องเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ เขาต้องช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่อยากช่วยเหลือลูกมากแค่ไหนแต่ก็คงหนีไม่พ้นความจริงข้อนี้ไปได้ ในฐานะคุณแม่เหมือนกันจะบอกให้เลิกห่วงลูกคงเป็นไปไม่ได้ แต่อาจแค่ลดระดับความห่วงลงมาซักหน่อย แล้วใช้ความห่วงนี้คิดเสียว่า ถ้าเราห่วงลูกจริงต้องฝึกให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ในวันที่ไม่มีเรา

เมื่อลูกได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ เขาก็จะได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็จะส่งผลให้ลูกประสบการณ์ มีการคิดวิเคราะห์ มีพัฒนาการที่สมวัย ที่สำคัญ เมื่อลูกเกิดปัญหาคุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งเข้าไปช่วยทันทีแต่ให้ดูอยู่ห่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้ลองแก้ปัญหาเอง ถ้าเขาทำได้ เขาจะเกิดความภูมิใจมากทีเดียว

ใช้อารมณ์รุนแรงกับลูกบ่อยเกินไปหรือเปล่า

คุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกเอง อาจต้องเผชิญกับหน้าที่ความรับผิดชอบหลาย ๆ อย่าง ไหนจะงานบ้าน ทำกับข้าว เลี้ยงลูก ความซนของลูก ฯลฯ เหล่านี้จะเรียกรวมกันง่าย ๆ ว่า “ความเหนื่อย” นั่นเอง เมื่อเหนื่อยจากงานหลาย ๆ อย่าง ก็ทำให้คุณแม่ปรี๊ดแตก ใช้อารมณ์รุนแรงกับลูกได้ง่ายมากเท่านั้น เหนื่อยจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ บางครั้งเผลอลงไม้ลงมือไป ตะคอกใส่ลูกด้วยถ้อยคำหยาบคาย เหล่านี้จะทำให้ลูกน้อยยิ่งถูกกดดัน และเครียดมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญ พฤติกรรมเหล่านี้ยังจะเป็นภาพจำของลูก ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณแม่แล้วส่งต่อให้บุคคลอื่นได้

ผลกระทบของลูกจากพฤติกรรมพ่อแม่ที่ทำให้ลูกเครียด

พฤติกรรมของลูกที่เป็นผลมาจาการที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกอย่างกดดันเกินไป ตีกรอบเกินไปจนทำให้ลูกเครียดนั้น ส่งผลโดยตรงกับลูก ดังนี้

มีพฤติกรรมต่อต้านในระดับรุนแรง

เรื่องนี้เรื่องใหญ่ค่ะ คำว่า “พฤติกรรมต่อต้านในระดับรุนแรง” สามารถเกิดได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กไปจนวัยรุ่น ลูกจะต้อต้านทุกอย่างที่คุณพ่อคุณแม่สอน เพียงแต่เขาไม่ได้พูด ไม่ได้แสดงออกมาเท่านั้น หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “ดื้อเงียบ”

ครั้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะต่อต้านทุกอย่างที่คุณพ่อคุณแม่สอน ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพียงแต่ที่ลูกต่อต้านเพราะเขาจะรู้สึกดีเวลาที่ได้ทำอะไรตามใจตัวเองแม้มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องก็ตาม ขอเพียงอยู่ตรงข้ามกับคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น

มีปัญหาไม่ปรึกษาพ่อแม่

เมื่อลูกมีปัญหาเขาจะหันหาแต่เพื่อนหรือคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่ ทั้ง ๆ ที่ใจจริงก็อยากปรึกษาเหมือนกัน เพียงแต่เขาจะกลัวว่าถ้าปรึกษาคุณพ่อคุณแม่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จะบังคับเขาให้ทำตามใจคุณพ่อคุณแม่เองมากกว่า เขาจะไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง

กลายเป็นคนที่หยาบคาย

เหตุจากการใช้อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ก่อนหน้านี้นั่นเอง จึงไม่แปลกที่ลูกจะซึมซับและแสดงออกแบบนั้น

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ยังเด็ก เคยคิดไหมคะว่าผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ทำอะไรถูกต้องเสมอไป เรื่องนี้ก็เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีบางกรณีที่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน คือ ลูกเป็นโรคซึมเศร้าจากการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ ลองเปิดใจ สำรวจตัวเอง ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นโรคซึมเศร้า สามารถติดตามได้จากบทความนี้ค่ะ คลิกที่นี่ >> “พ่อแม่ทำให้ลูกเป็นโรคซึมเศร้า มีปัจจัยอะไรบ้าง?


ลูกชอบอยู่ในห้องคนเดียว เล่นคนเดียว แบบนี้เรียกว่าโรคซึมเศร้าหรือเปล่า? เกิดจากอะไร? สิ่งที่ลูกเป็นในวันนี้ ล้วนเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ทั้งสิ้น สาเหตุโรคซึมเศร้าก็เช่นกัน ติดตามเพิ่มเติม คลิกที่นี่