Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

8 วิธีสอนลูก ปลูกฝังให้แบ่งปัน (Sharing)

8 วิธีสอนลูก ปลูกฝังให้แบ่งปัน (Sharing)

ลูกๆ เมื่อเติบโตขึ้นจนอายุประมาณ 3-5 ขวบ เค้าจะมีอาการ “หวงของ” หรือ “อาการที่แสดงว่าเป็นเจ้าของ” เริ่มตั้งแต่ของเล่น ขนม เสื้อผ้า เก้าอี้ และทุกๆ อย่างที่เค้าจะสามารถเป็นเจ้าของได้ หรือแม้กระทั่งหวงคุณแม่ หวงคนรอบข้างก็มี เวลาผู้เขียนซื้อของหรือซื้อขนมมา ลูกจะถามแทบทุกชิ้นค่ะ ว่า “อันนี้ของใคร?” ซึ่งผู้เขียนก็อาศัยการสอดแทรกไปเป็นระยะๆ ว่า “ขนมชิ้นนี้ทานด้วยกันค่ะ” เค้าก็จะเข้าใจว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ

อาการหวงของหรือการแสดงความเป็นเจ้าของของเด็กวัยนี้ถือเป็น “เรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย” นะคะ เพราะหากปล่อยไว้จนลูกน้อยเติบโต เค้าจะไม่รู้จักคำว่า “แบ่งปัน (Sharing)” เลย ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรค่อยๆ สอนลูกน้อยไปเรื่อยๆ ให้เค้าซึมซับความมีน้ำใจ เสียสละ และรู้จักการแบ่งปันนะคะ เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่ามีวิธีไหนบ้าง

Youtube : 8 วิธีสอนลูก ปลูกฝังให้แบ่งปัน (Sharing)

เมื่อลูกได้รับมากพอ เมื่อนั้นลูกพร้อมจะให้

เรื่องนี้เรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์เราเลยค่ะ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ลูกได้รับมากพอแล้ว จนลูกรู้สึกว่าไม่ขาดอะไร เมื่อนั้นลูกก็พร้อมที่จะทำความเข้าใจในเรื่องการแบ่งปัน และลูกจะเป็นผู้แบ่งปันคนอื่นๆ ได้ในที่สุดค่ะ

สอนให้ลูกได้เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง

เวลาที่ลูกได้เข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ แน่นอนลูกเราอาจจะมีโอกาสที่เป็นทั้ง “ผู้ให้และผู้รับ (Give & Take)” เมื่อลูกเป็นคนที่ขอยืมเพื่อนเล่น แล้วเพื่อนให้ยืมเล่น ลูกย่อมรู้สึก “ดีใจ” คุณแม่ควรชี้จุดนี้ให้ลูกได้เข้าใจความรู้สึกของตัวเองว่า “ลูกกำลังดีใจ
กลับกัน หากลูกขอยืมเพื่อนแล้วเพื่อนไม่ให้ ลูกย่อม “หงุดหงิด เสียใจ และผิดหวัง” คุณแม่ก็ต้องอธิบายให้ลูกได้เข้าใจเช่นกันค่ะ ว่าของเล่นนั้นไม่ใช่ของลูก ถ้าอยากเล่นต้องยืมเพื่อนไว้ก่อน ให้ลูกได้รู้จักความผิดหวังและการขอยืมเพื่อน ที่สำคัญ เค้าจะเรียนรู้ว่า “การเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นอย่างไร

ให้ลูกได้เข้าสังคมกับเพื่อนๆ

เป็นอีกข้อนึงที่คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมลูกเมื่อมีโอกาส ลูกจะได้เรียนรู้ว่าการอยู่ในสังคมจะมีเด็กๆ หลากหลายแบบ ลูกจะได้ฝึกทั้งการเข้าหาคนหมู่มาก การเอาตัวรอดในสังคม ความอดทน การรอคอย และที่สำคัญการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ (ข้อนี้ช่วยในเรื่องพัฒนาการด้าน SQ = Social Quotient ให้ลูกด้วยนะคะ) เรียนรู้ว่า “เมื่อไหร่ควรให้ เมื่อไหร่ควรรับ

เคารพสิทธิ์ลูก

คนเราทุกคนย่อมมี “ของรักของหวง” กันทั้งนั้น แม้แต่ลูกเราก็ย่อมมีค่ะ ดังนั้น ก่อนจะให้ลูกแบ่งปันอะไรให้ใคร ควรสอบถามความสมัครใจก่อน ยิ่งถ้าสิ่งนั้นเป็นของรักของหวงของเค้าอย่างชอบธรรม ที่สำคัญ อย่าบังคบให้ลูกต้องแบ่งปัน ในสิ่งที่เค้ารัก เค้าหวงนะคะ เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเกลียดการแบ่งปัน เพราะการแบ่งปันพรากสิ่งที่เค้ารักไป
แต่หากสิ่งไหนที่ไม่ใช่ของลูกโดยชอบธรรม พอที่จะแบ่งให้ได้ คุณแม่ต้องค่อยๆ อธิบายให้เค้าเข้าใจนะคะ ใจเย็นๆ อย่าบังคับ

ไม่ควรลงโทษลูกด้วยการว่ากล่าว หรือการตี

หากคุณแม่พูดก็แล้ว อธิบายก็แล้ว ลูกยังไม่ยอมให้อีก ก็อย่าว่ากล่าวลูกแรงๆ หรือลงไม้ลงมือนะคะ โดยเฉพาะต่อหน้าคนอื่น เพราะเด็กๆ ก็อายเป็นค่ะ

ชมเชยลูก

กำลังใจ” จากคนในคุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญค่ะ วันนึงเมื่อลูกสามารถแบ่งปันคนอื่นได้ คุณพ่อคุณแม่ควรชมเชยลูกตามสมควร เพราะคำชมเชยจากคุณพ่อคุณแม่คือ สิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับลูก ลูกจะเห็นว่าการแบ่งปันเป็นสิ่งที่ดี และทำไปเรื่อยๆ ลูกจะติดเป็นนิสัยไปจนโตค่ะ

รู้จักการบริจาค

ถ้าตามหลักธรรมะ “การบริจาคก็คือ การเสียสละอย่างหนึ่ง” หากมีโอกาสคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปทำกิจกรรมจิตอาสา เข้าวัด หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่มีการบริจาคสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้าต่างๆ โดยเป็นสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วก็ได้
แต่หากครอบครัวไหนที่พอจะมีงบหน่อยก็อาจจะซื้อข้าวของ เครื่องใช้ ข้าวสาร อาหารแห้ง และพาลูกไปที่มูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ ที่เค้ารับบริจาค แบบนี้ก็ได้ค่ะ สิ่งนี้ก็จะทำให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการบริจาคแล้วล่ะค่ะ

คุณพ่อคุณแม่คือแบบอย่างที่ดี

ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่คือแบบอย่างที่ดีของลูกเสมอ บางครั้งการพูด การสอนด้วยวาจาอย่างเดียวไม่พอ ถ้าจะให้เห็นผลเร็ว และยั่งยืน คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง เพราะลูกมักจะเลียบแบบพฤติกรรมจากคุณพ่อคุณแม่ เพราะคุณพ่อคุณแม่คือ ฮีโร่ ของลูกน้อย

ลูกน้อยเปรียบเสมือนผ้าขาว” อยู่ที่คุณพ่อคุณแม่จะฝึก จะสอนเค้า ซึ่งทุกอย่างต้องใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไปนะคะ ลูกๆ ของคุณแม่ท่านไหนเริ่มมีอาการหวงของแล้วบ้างคะ มาแชร์กันได้น้า^^