Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกความจำสั้น ทำไงดี

ลูกความจำสั้น ทำไงดี

ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่คลุกคลีกับลูกและเข้าใจลูกมากที่สุด ดังนั้น ไม่แปลกหากคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกได้ว่าลูกตัวเองนั้น “ความจำสั้น หรือ ขี้ลืม” ความจริงแล้วจะใช่อย่างที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจหรือไม่ แต่ถึงแม้จะไม่ใช่ จะมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยกระตุ้นความจำของลูกให้ดีขึ้น

พัฒนาการของเด็กวัย 3 – 6 ปี

ด้วยธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กวัย 3 – 5 ปี เด็กจะเริ่มมีความคิดริเริ่มเป็นของตัวเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเอง ต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ยอมรับ ต้องการเป็นที่รัก เรียกได้ว่า เด็กวัยนี้จะยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เขาจะสามารถจำได้แต่เฉพาะคำพูดที่กระชับ คำสั่งที่สั้น ๆ เนื่องจากสมองของเด็กวัยนี้ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่จึงไม่สามารถรับคำสั่งหรือเข้าใจอะไรที่ซับซ้อนได้ และจะจำได้ก็ช่วงเวลาสั้น ๆ (อาจไม่ใช่ทุกเรื่อง แต่ก็ส่วนใหญ่)

วิธีกระตุ้นความจำลูกให้ดีขึ้น

แม้ว่าข้อมูลข้างต้นที่ได้กล่าวมา จะเป็นในเรื่องของพัฒนาการลูก แต่เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้มั่นใจว่าลูกตัวเองไม่ได้ความจำสั้นจริง หรือต้องการกระตุ้นความจำลูก เรามีวิธีดังนี้ค่ะ

ใช้วิธีการจดบันทึก

สอนให้ลูกได้ฝึกเขียนบันทึกประจำวันแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ค่ะ เช่น วันนี้ลูกได้ไปทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง และได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนั้น ๆ หรือจะเป็นเรื่องของการจดบันทึก วางแผนก็ได้ค่ะว่าในวันหยุดนี้ ลูกมีแผนจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง อาจไม่ต้องเป็นกิจกรรมนอกบ้างอย่างเดียวก็ได้ค่ะ แต่สามารถทำได้ในเรื่องของการอ่านหนังสือนิทานอะไรดี หรือจะเล่นแป้งโดว์กับคุณพ่อคุณแม่ อย่างนี้ เป็นต้น

เพราะการให้ลูกได้เขียนบันทึกลูกจะได้ในเรื่องของความจำว่าที่ผ่านมาในหนึ่งวัน เขาได้ทำอะไรไปบ้าง เป็นการฝึกให้ลูกได้เรียงลำดับเหตุการณ์ได้อย่างถูกต้อง ส่วนกิจกรรมล่วงหน้าลูกก็จะได้ในเรื่องของการวางแผนว่าอะไรควรทำก่อน-หลัง

ทำกิจกรรมที่ฝึกความจำ

อาจเป็นการเล่นบอร์ดเกม เช่น เกมหาคำศัพท์ จิ๊กซอว์ บิงโก จับภาพคู่ เป็นต้น นอกจากลูกจะได้ในเรื่องของความจำที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ลูกมีสมาธิมากขึ้นอีกด้วยค่ะ

ฝึกสมาธิ

สำหรับเด็กเล็ก ให้คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกมานั่งตักสัก 10 – 15 นาที ก็ได้ค่ะ ให้เขาได้อยู่นิ่ง ๆ กับคุณพ่อคุณแม่ เท่านี้ก็เป็นการฝึกให้ลูกได้มีสมาธิมากขึ้น พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แล้วล่ะค่ะ

โน้ตเองชวนลูกนั่งสมาธิค่ะ 5 นาที เขาอยู่นิ่งตลอด? ไม่ค่ะ โน้ตไม่ได้เน้นว่าต้องให้เขาหลับตา ท่องพุทโธได้ตลอดที่นั่ง เพียงแค่ต้องการฝึกให้เขาอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนที่ไปไหนสักพัก ให้เขาได้รู้จักกับความนิ่งบ้าง ซึ่งสมาธิก็จะตามมาเอง

เล่นดนตรี

มีผลงานการวิจัยชิ้นหนึ่งค่ะ เคยอ่านเจอว่าการให้ลูกได้เล่นดนตรีจะเป็นการฝึกสมาธิให้ลูกได้ดีทีเดียว เพราะลูกจะต้องใช้สมอง ใช้ความจำในการจดจำตัวโน้ต และเครื่องหมายทางดนตรีทุกตัว เขาจะมีความจำที่ดีขึ้นได้อย่างเห็นได้ชัดทีเดียว

ดูแลโภชนาการที่ดีให้ลูก

เน้นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และช่วยกระตุ้นความจำ ได้แก่ ผัก ผลไม้ ที่มีวิตามินบี 2 กรดโฟลิค ที่ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม เนื้อสัตว์ และอาหารทะเล ที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้ายที่เน้นในเรื่องความจำ

ชวนลูกออกกำลังกาย
ให้ลูกได้ออกกำลังกายค่ะ จะเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ เช่น การวิ่งเล่น การกระโดด การเต้นตามจังหวะ ฯลฯ เพราะหลังจากที่ออกกำลังกายแล้ว หัวใจจะสูบฉีดเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น ส่งผลให้สมองเปิดโล่ง พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ พร้อมที่จะจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น

นอนหลับให้เป็นเวลา

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกมีความจำที่ดีขึ้น ควรให้ลูกได้นอนหลับวันละ 7 – 8 ชั่วโมง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำ แต่ไม่ควรเกินวันละ 9 ชั่วโมงนะคะ เพราะการนอนมากเกินไปจะส่งผลให้ลูกมีอาการเซื่องซึม ความตื่นตัวในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ น้อยลง กลายเป็นยิ่งทำให้ประสิทธิภาพความจำลดลงอีกด้วยค่ะ

การให้ลูกได้เข้านอนแต่หัวค่ำ และนอนหลับได้อย่างเพียงพอ ยังส่งผลให้ลูกสูงขึ้นอีกด้วยจาก Growth Hormone (โกรธ ฮอร์โมน) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว Growth Hormone จะหลั่งในช่วง เที่ยงคืน – ตี 1 แต่มีข้อแม้ว่า ต้องหลับลึกไปแล้ว 1 ชั่วโมงค่ะ

เรื่องของความจำไม่ใช่เรื่องของพัฒนาการหรือพันธุกรรมอย่างเดียว แม้จะดูเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นให้ลูกมีความจำดีขึ้นได้ค่ะ อย่างไรแล้วลองนำวิธีที่กล่าวมาไปปรับใช้กันดูนะคะ