Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกนอนละเมอบ่อย อันตรายไหม ผิดปกติหรือเปล่า

ลูกนอนละเมอบ่อย อันตรายไหม ผิดปกติหรือเปล่า

การนอนหลับพักผ่อนเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อร่างกาย การได้นอนหลับสนิทได้ตลอดคืนเป็นอะไรที่หลายคนต้องการ แต่สำหรับเด็กในบางราย พอเริ่มจะหลับลึกได้ แต่จู่ ๆ ก็นอนละเมอขึ้นมาซะอย่างนั้น ในบางรายเป็นบ่อยจนคุณพ่อคุณแม่กังวลไม่แน่ใจว่าจะอันตรายไหม จะผิดปกติหรือเปล่า และคุณพ่อคุณแม่เจอจะป้องกันลูกอย่างไรดี

ลูกนอนละเมอ

เป็นที่รู้กันดีนะคะว่าการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นเรื่องสำคัญต่อร่างกาย แต่กลับกันหากร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอโดยเฉพาะกับเด็ก ๆ จะส่งผลเสียตามมาในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายและใจ ไม่พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

อาการนอนละเมอ

ละเมอพูด

ข้อนี้พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 50 ของเด็กที่มีอายุระหว่าง 3 – 13 ปี และมักจะเกิดร่วมกับละเมอเดินและละเมอร้อง เช่น ทำเสียงพึมพำในลำคอ บางคนก็พูดเป็นเรื่องเป็นราว บางคนก็พูดไม่รู้เรื่องจับใจความไม่ได้ ซึ่งซักพักก็จะหยุดเองค่ะ แบบนี้ไม่อันตราย

ละเมอร้อง

อาทิ ละเมอร้องไห้ หวีดร้อง หรือบางครั้งอาจหัวเราะ ซึ่งก็จะใช้เวลาไม่กี่นาที แล้วก็จะหยุดเองค่ะ

ละเมอเดิน

อาการนี้จะเกิดกับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย บางรายเด็กอาจละเมอเดินไปทั่วห้อง บางรายเด็กเดินละเมอออกไปนอกห้อง หรือนอกบ้านโดยที่เด็กก็ไม่รู้สึกตัว บางรายก็ปีนหน้าต่าง เดินเปิดตู้เย็น ตู้เสื้อผ้า หรือบางรายอาจเล่นของมีคม ซึ่งแบบนี้น่ากลัวมากและเป็นอันตรายเลยทีเดียว

สาเหตุที่ทำให้ลูกนอนละเมอ

การนอนละเมอส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอันตราย ยกเว้นว่าลูกจะละเมอบ่อยและละเมอในแบบนี้จะเป็นอันตราย ซึ่งสาเหตุของการละเมอมีทั้งที่เกิดจากสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอกร่างกายของเด็ก

  • ภาวะการเจ็บป่วยของร่างกาย : ภาวะการอุดกั้นของทางเดินหายใจขณะหลับ และการทานยาบางชนิด เช่น ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท การอดหลับอดนอน
  • ภาวะที่ถูกกระตุ้นเมื่อมากเกินไปในช่วงกลางวัน : ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเครียด ความวิตกกังวล เล่นกับลูกด้วยกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นหวาดเสียว
  • พันธุกรรม : ทางครอบครัวมีประวัติเคยนอนละเมอ (เดินละเมอ)

การดูแลและการป้องกัน

ควบคุมสติของคุณพ่อคุณแม่ก่อน

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติก่อน ค่ะ อย่าตกใจ เพราะลูกจะแสดงอาการเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ และถ้าไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยก็ไม่เป็นอันตราย (ยกเว้นว่าลูกละเมอเดิน คุณพ่อคุณแม่ต้องอาจตามดูกันซักหน่อย) ให้คุณพ่อคุณแม่พยายามปลุกลูกให้ตื่น ทำให้เขารู้สึกตัวก่อน แล้วค่อยเข้าไปปลอบลูก กอดลูก เพื่อลูกจะได้รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยค่ะ

ไม่กระตุ้นลูกมากเกินไปในเวลากลางวัน

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเล่นกับลูกในแบบที่กระตุ้นลูกมากเกินไปในช่วงเขาตื่น ควรงดกิจกรรมที่ตื่นเต้น หวาดเสียว หรือการเล่นที่รุนแรง เพราะลูกจะตกใจจนเก็บเอาไปฝัน และละเมอได้

นวดผ่อนคลายตามตัวให้ลูก

ให้คุณพ่อคุณแม่นวดผ่อนคลายตามร่างกายลูก เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายมากขึ้น
แบบนี้ก็จะช่วยลดอาการตึงเครียดให้ลูกได้ค่ะ

หากิจกรรมเบา ๆ ทดแทน

คุณพ่อคุณแม่ลองมองหากิจกรรมเบา ๆ สร้างสรรค์ และเหมาะกับวัยให้ลูกได้เล่นดูนะคะ อาทิ การเล่านิทาน การวาดภาพระบายสี หรือฟังเพลงที่มีท่วงทำนองผ่อนคลาย สบาย ๆ ดูค่ะ

จัดบรรยากาศห้องนอนให้เหมาะสม

เช่น เงียบสงัด มีแสงไฟสลัว ๆ อากาศถ่ายเทได้ดี เหล่านี้ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย หลับสนิท และหลับได้ตลอดคืนมากขึ้นค่ะ

ลดการนอนกลางวัน

เพื่อให้ลูกได้รู้สึกอ่อนเพลียในเวลากลางคืน แบบนี้ก็จะทำให้ลูกได้หลับลึก และหลับได้นานขึ้น แต่หากลูกนอนกลางวันหรือบางคนอาจนอนมากเกินไป ก็จะส่งผลให้กลางคืนไม่ยอมได้ หรือบางรายก็ตื่นกลางดึก ซึ่งกว่าจะหลับอีกครั้งก็ใช้เวลานานทีเดียว

พาลูกไปปรึกษาคุณหมอหากพบว่ามีอาการอื่นร่วมด้วย

ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการละเมอของลูกนะคะ ว่าลูกละเมอแต่ละครั้งนานกี่นาที และมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น การชักกระตุก หากมีอาการนี้หรืออาการอื่น ๆ ร่วมด้วย แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อการวินิจและการรักษาที่ถูกต้องนะคะ

การนอนละเมอของลูกแม้ว่าอาจจะไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงในบางประเภท แต่ถ้าเกิดบ่อย และติดต่อกันเป็นเวลานาน และบางรายยังละเมอแบบเสี่ยงอันตราย หากเป็นเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปปรึกษาคุณหมอนะคะ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ จะกระทบต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกได้ค่ะ

อ้างอิง
Motherandchild.in.th
Mearakluke.com
Mahidol.ac.th