Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

สอนลูกให้เป็นเด็กมีน้ำใจ แต่ไม่ถูกเอาเปรียบ

สอนลูกให้เป็นเด็กมีน้ำใจ แต่ไม่ถูกเอาเปรียบ

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนล้วนแล้วอยากให้ลูกเติบโตเป็นเด็กดี มีน้ำใจ แต่ในท่ามกลางผู้คนมากมายที่ก็มีหลายประเภททั้งเสียสละ เห็นแก่ตัว และชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น แล้วเราจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นเด็กมีน้ำใจแต่ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

สอนให้ลูกรู้จักเรื่องสิทธิ

เรื่องนี้นับเป็นพื้นฐานที่ควรสอนตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ ได้แก่ อะไรที่ลูกควรทำ อะไรที่ลูกทำได้ อะไรที่ไม่ควรทำ อะไรที่ทำไม่ได้ สอนให้ลูกรู้จักสิทธิในร่างกายของตัวเอง รู้จักสิทธิในความเป็นเจ้าของกับสิ่งของนั้น ๆ อาทิ ของใช้ส่วนตัว ของเล่น ห้ามไม่ให้ใครมาก้าวล่วง หรือหยิบฉวยไปโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเราก่อน

ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้ลูกเคารพสิทธิคนอื่นด้วยเช่นกัน ไม่แตะต้อง ทำร้ายร่างกาย หรือทำลายข้าวของของผู้อื่น แต่ถ้าหากเป็นในกรณีที่มีเพื่อนมาทำอะไรกับเราในสิ่งที่เราไม่ชอบ ควรสอนลูกให้บอกกับเพื่อนไปตรง ๆ ด้วยท่าทางและน้ำเสียงที่ปกติว่าไม่ชอบให้ทำแบบนี้

อย่าเพิ่งยอมเพื่อน

เด็กในวัยนี้อาจจะยังไม่รู้วิธีที่จะแก้ปัญหาเมื่อเพื่อนมาก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคล หรือไม่ก็ไม่อยากจะมีเรื่องกับเพื่อน จึงยอมให้เพื่อนกระทำหรือยอมให้เพื่อนหยิบฉวยสิ่งของไป ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกถูกเอารัดเอาเปรียบ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนลูกให้ตั้งเงื่อนไขกับเพื่อน อาทิ “ลูกสามารถแบ่งดินสอสีให้เพื่อนใช้ได้นะ แต่เพื่อนต้องขออนุญาตลูกก่อน แต่ถ้าเพื่อนไม่ขอลูกมีสิทธิที่จะไม่ให้

ให้ลูกรู้จักการปฏิเสธ

ลูกอาจจะเคยมีประสบการณ์ที่เพื่อนขอยืมของไปแล้วไม่คืน ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้โอกาสนี้สอนลูกว่า ในครั้งต่อไปถ้าเพื่อนมายืมของของลูกอีก ลูกสามารถปฏิเสธเพื่อนได้ แต่จะให้ยืมหรือไม่ให้ยืมคุณพ่อคุณแม่ควรให้สิทธิลูกในการตัดสินใจเองนะคะ ซึ่งถ้าลูกให้ยืมไป เพื่อนไม่คืนอีกให้คุณพ่อคุณแม่สอนลูกในส่วนของการแก้ปัญหา เช่น สอนให้ลูกพูดขอคืนกับเพื่อนแบบตรง ๆ ไปเลย บอกว่าจำเป็นต้องของสิ่งนั้น บอกคุณครู หรือบอกกับคุณพ่อคุณแม่เพื่อที่จะเข้าไปคุยกับคุณครูประจำชั้น และคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนคนนั้น

สอนทักษะเพิ่มเติมรวมถึงวิธีการแก้ปัญหา

  • จำลองเหตุการณ์ให้ลูกได้เห็นภาพบ่อย ๆ เช่น คุณพ่อจะเอาของของคุณแม่ไปใช้ แม่ไม่ให้ เพราะอะไร โดยพูดคุยให้ลูกได้ยิน แต่ถ้าคุณพ่อก็ไม่ยอม ยืนยันว่าจะใช้ คุณแม่จะตัดสินใจอย่างไร และจะพูดอย่างไร เป็นต้น
  • ให้ลูกลองนึกเหตุการณ์ที่เคยเจอ พร้อมกับเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แล้วลองถามลูกว่าลูกจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร แล้วติดตามผลโดยสอบถามลูกว่าปัญหาที่ลูกเจอมานั้นได้รับการแก้ไขหรือไม่ อย่างไร ถ้าเหตุการณ์ยังไม่ได้รับการแก้ไข ให้คุณพ่อคุณแม่แนะนำลูกด้วยการยกตัวอย่างที่คุณพ่อคุณแม่เจอมา พร้อมกับเล่าวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ได้ผล และวิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผล

สร้างความมั่นใจให้ลูก

บางครั้งบางหนที่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกยอมเพื่อนนั้น ไม่ได้หมายความลูกเป็นเด็กหัวอ่อน เพียงแต่ลูกยังไม่มีความมั่นใจในตัวเองเท่านั้น วิธีง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันก็คือ ปล่อยให้ลูกได้เล่นอย่างมีอิสระ ให้เขาได้มีความคิดสร้างสรรค์ ให้ลูกได้รู้จักการช่วยเหลือตัวเอง อาจทำเรียบร้อยบ้าง ไม่เรียบร้อยบ้างก็ไม่เป็นไร ไม่เปรียบเทียบลูกตัวเองกับคนอื่น ปล่อยให้ลูกได้ตัดสินใจเอง ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น และที่สำคัญ อย่าลืมชื่นชมลูกเมื่อลูกทำดี (ตามสมควร) เหล่านี้ก็จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในจิตใจ ลูกจะมีความมั่นใจในตัวเอง ไม่คล้อยตามคนอื่นหากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ลูกจะมีความมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึก ยอมรับฟังเหตุผลต่าง ๆ จากคนอื่นได้

แม่โน้ตเห็นมาค่อนข้างหลายกรณี ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยชื่นชมลูกเลย แล้วกลายเป็นปมในใจไปจนโต จนเค้าคนนั้นพูดออกมาว่าความใฝ่ฝันของเขาก็คือ “อยากให้คุณพ่อชมเค้าบ้าง” การชื่นชมจากคุณพ่อคุณแม่นับเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเห็นคุณค่าตัวเอง (Self-esteem) อีกด้วยนะคะ

เพราะบางครั้งลูกไม่ได้อยากยอมเพื่อน เพียงแต่ไม่รู้จักวิธีการแก้ปัญหา หรือวิธีพูดที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องหมั่นสังเกตและสอนลูกถึงแนวทางที่จะเป็นเด็กดีมีน้ำใจ แต่ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อให้ลูกเติบโตและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก, นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์