Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทักษะการเอาตัวรอด ทักษะที่พ่อแม่ควรสอนลูก

ทักษะการเอาตัวรอด ทักษะที่พ่อแม่ควรสอนลูก

“สังคมสมัยนี้อยู่ยาก”

ลำพังว่าผู้ใหญ่เวลาไปไหนมาไหนยังต้องคอยระแวดระวังตัวเอง แล้วเด็ก ๆ หรือลูกของเราล่ะคะ เค้ายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มากนัก ยิ่งเมื่อถึงวัยที่เค้าต้องเข้าโรงเรียน หรือต้องออกไปเจอกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เจอกับคนแปลกหน้ามากมาย เค้าจะเอาตัวรอดได้มั้ย? ดังนั้น อีกหนึ่งทักษะสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกเอาไว้ก็คือ “ทักษะการเอาตัวรอด” นั่นเอง

ทักษะการเอาตัวรอด ทักษะที่พ่อแม่ควรสอนลูก

ยกตัวอย่างให้ลูกรู้จักและเข้าใจเหตุการณ์ที่ทั้งปลอดภัยและไม่ปลอดภัย

ข้อนี้เกิดขึ้นได้ง่ายมาก เพราะในสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดี จากทั้งคนแปลกหน้าและคนที่เรารู้จัก บางครั้งมีท่าทางที่เป็นมิตร ดูมีน้ำใจ ใจดี แต่เค้าอาจทำในสิ่งที่เราไม่คาดคิดก็เป็นได้ สอนให้ลูกรู้ว่าถ้าเจอคนแบบนี้เราควรสังเกตอย่างไร หรือถ้ามีคนแปลกหน้าชวนไปไหนมาไหนโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้หรือจะจูงมือเราไป ลูกควรทำอย่างไร รวมไปถึงการปฏิเสธที่จะรับของจากคนแปลกหน้า เพราะอะไร และทำอย่างไร หรือถ้าหากรับสิ่งของจากคนแปลกหน้าไปแล้ว ผลที่ลูกจะได้รับเป็นอย่างไรได้บ้าง เป็นต้น

นอกจากเหตุการณ์ที่ดูไม่ปลอดภัยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ลูกได้เข้าใจแล้ว เหตุการณ์ไหนที่ทำแล้วจะเกิดความปลอดภัย คุณพ่อคุณควรยกตัวอย่างควบคู่กันไปด้วยนะคะ ลูกจะได้เห็นถึงความสำคัญในการดูแลตัวเองมากยิ่งขึ้นค่ะ

ฝึกให้ลูกเป็นเด็กช่างสังเกต

“ลูกมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่”

คุณพ่อคุณแม่คงไม่ปฏิเสธคำพูดนี้ใช่มั้ยล่ะคะ เพราะแม้บางทีคุณแม่กลัวจิ้งจก ลูกก็จะแอบสังเกตพฤติกรรมคุณแม่ และก็กลัวตามคุณแม่ในที่สุด แต่เกี่ยวอะไรกับ “การฝึกให้ลูกเป็นเด็กช่างสังเกต?

เกี่ยวมากมายค่ะ เพราะ…หากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่ช่างสังเกต ใส่ใจในสิ่งรอบข้าง ลูกก็จะจดจำพฤติกรรมเหล่านี้ และซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ควร “ฝึก” ลูกเพิ่มเติม โดยย้ำให้เค้าสังเกตและใส่ใจในสิ่งรอบข้างมากขึ้น เรียกได้ว่าสามารถจดจำข้อมูลที่สำคัญของสถานที่นั้น ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใกล้เคียง ที่ตั้งของบ้าน ชื่อซอยบ้าน เบอร์โทรศัพท์คุณพ่อคุณแม่

สอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง

สมมติว่าคุณพ่อคุณแม่พาลูกไปเที่ยวแล้วเกิดพลัดหลงกัน แนะนำว่าให้คุณพ่อคุณแม่สอนลูกว่า ถ้าเกิดการพลัดหลงกับคุณพ่อคุณแม่ ให้เดินเข้าผู้ใหญ่ที่มีเด็กมาด้วยแล้วขอความช่วยเหลือ เพราะถ้าจะให้ลูกมองหาแต่ตำรวจอย่างเดียวอาจจะช้าไปนิดหนึ่งค่ะ

ไม่ติดชื่อลูกตามของใช้ต่าง ๆ ของลูก

ข้อนี้เชื่อว่ามีคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านทำกันเยอะ เพราะคิดว่าถ้าลูกพลัดหลงจะได้มีชื่อและเบอร์ติดต่อ สื่อสารกันได้ง่าย แต่แท้จริงแล้ว การติดชื่อลูกหรือเบอร์โทรของผู้ปกครองนั้นจะทำให้ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีเรียกชื่อเด็กได้อย่างถูกต้อง ทำให้เด็กเข้าใจผิดไปได้ว่าผู้ใหญ่คนนั้นรู้จักชื่อของตัวเอง อาจทำให้เด็กหลงไปกับคน ๆ นั้นได้ง่าย ๆ ค่ะ

สอนให้ลูกรู้จักสรีระของตัวเอง

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรอายที่จะสอนให้ลูกรู้จักกับของสงวนของตัวเอง สอนให้เขารู้จักในเรื่องของเพศศึกษาเบื้องต้น เพื่อที่ลูกจะได้รู้จักว่าอวัยวะส่วนใดในร่างกายที่เป็นของสงวน ไม่ควรให้ใครมาแตะต้องเด็ดขาด ซึ่งถ้าลูกถูกล่วงเกินก็ต้องร้องขอความช่วยเหลือหรือต้องบอกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ทันที

ข้อนี้สำคัญนะคะ เพราะคุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะอายที่จะสอนลูกในเรื่องของเพศศึกษา เคยเจอบางครอบครัวเรียกรวม ๆ เกี่ยวกับอวัยวะช่วงล่างว่าก้น ซึ่งความจริงแล้วเราสามารถเรียกอวัยวะเพศเด็กผู้หญิงว่า “จิ๊มิ๊” หรือเรียกอวัยวะเพศเด็กผู้ชายว่า “โบ๊ะ” ก็ได้ค่ะ แล้วแต่ครอบครัวจะตั้งชื่อเลย แต่อย่างน้อยให้ลูกรู้จักแยกแยะอวัยวะได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เรียนส่วนล่างว่าก้นอย่างเดียว

กำหนดคำที่แม่ลูกเข้าใจกันได้

ให้คุณแม่กำหนดคำหรือรหัสลับที่สามารถเข้าใจกันได้แค่สองคน เมื่อลูกต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายจะได้เอาไว้ใช้สื่อสารกัน ในขณะที่ผู้ร้ายก็จะไม่สามารถเข้าใจได้และไม่รู้ว่าลูกกำลังสื่อสารอะไรกับคุณแม่ค่ะ

สอนให้ลูกไวต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ปกติแล้วด้วยความที่เป็นเด็ก เด็กจะไม่ได้ทันระวังตัวเพราะเห็นว่าคงเป็นผู้ใหญ่ทั่วไปธรรมดา เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักว่าผู้ใหญ่ก็มีทั้งดีและไม่ดี ผู้ใหญ่ที่ดีจะไม่มีการทำร้ายเด็ก รวมถึงจะไม่มีการสัมผัสตัวเด็กอย่างรุนแรง เมื่อใดก็ตามที่ลูกรู้สึกว่าเจอเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเขา ให้ส่งเสียงกรีดร้องให้สุดเสียง เพื่อให้ผู้ที่อยู่บริเวณโดยรอบนั้นได้ยิน และรับรู้ว่ามีอันตรายเกิดขึ้น และควรสอนให้ลูกพกดินสอหรือปากกาแบบถอดปลอก เพื่อที่จะได้ใช้เป็นอาวุธในเวลาที่คับขันและไม่คาดฝันได้ค่ะ

มาถึงตรงนี้ต้องบอกว่าในแต่ละวันมักมีข่าวที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ตกอกตกใจกันไม่เว้นแต่ละวันเลยทีเดียว ที่สำคัญ สังคมปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็น “สังคมแห่งโลกโซเชียล” ไปแล้ว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและใกล้ชิดลูกให้มาก ๆ ชี้ให้ลูกเห็นถึงอันตรายและสอนให้ลูกรู้วิธีปฏิเสธคนแปลกหน้าที่มาจากโลกโซเชียลด้วยนะคะ