Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกชอบแก้ตัว ชอบโกหก ทำอย่างไรดี

ลูกชอบแก้ตัว ชอบโกหก ทำอย่างไรดี

คงเป็นความสุขหากลูกน้อยมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องดี ๆ มาเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ได้ฟัง ได้ภูมิใจ แต่คงจะเป็นเรื่องเศร้ามากหากเรื่องต่าง ๆ ที่ลูกเล่านั้นเป็นเรื่องโกหก แต่มันจะเป็นเรื่องง่ายมาก หากวันนี้คุณพ่อคุณแม่จะได้รู้ก่อนว่า “เพราะอะไร” ลูกถึงโกหก และรู้ถึง “วิธีแก้ไข

เพราะอะไรลูกชอบแก้ตัว ชอบโกหก

สาเหตุที่เด็กมักจะโกหก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สาเหตุ ดังนี้

แยกไม่ออกระหว่างจินตนาการและความจริง

เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่มีจินตนาการสูง เป็นวัยที่ไร้เดียงสา เขายังแยกไม่ออกว่าเรื่องไหนคือ เรื่องจริง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เขาไม่ได้เจตนา

โกหกเพื่อเลี่ยงในสิ่งที่ไม่อยากทำ

ข้อนี้จะเป็นเรื่องที่ลูกตั้งใจจะโกหก เช่น หนูล้างมือเรียบร้อยแล้ว ซึ่งความจริงแล้วเขาอยากจะกินขนมเร็ว ๆ ไม่อยากล้างมือแล้ว (เพราะใจไปจดจ่ออยู่ที่ขนมเรียบร้อย)

โกหกเพื่อเลี่ยงการถูกลงโทษ

โดยมากมักจะเห็นจากเรื่องของการทำการบ้าน เช่น “หนูทำการบ้านเสร็จแล้ว” เป็นต้น เพราะเขากลัวว่าถ้าเขาไม่ทำการบ้าน แล้วถ้าแม่รู้เขาจะถูกต่อว่าได้ (ซึ่งเขาลืมไปว่าเรื่องนี้คุณแม่สามารถเช็คได้ไม่ยาก)

การโกหกของแต่ละช่วงวัย

การโกหกของเด็กวัยหัดเดิน และวัยก่อนเรียน (อายุ 2 – 4 ขวบ)

  • วัย 2 – 3 ขวบ : เด็กในวัยนี้จะเริ่มมีทักษะในการพูดมากขึ้น เริ่มรู้จักคำศัพท์มากขึ้น แต่ลูกน้อยจะยังไม่รู้จักว่าสิ่งไหนคือความจริง ความฝัน จินตนาการ ความกลัว หรือความปรารถนาของตัวเอง ซึ่งอยู่มาวันหนึ่ง คุณแม่อาจจะได้ยินลูกพูดว่า “สีเมจิกหนูหาย พี่ขโมยสีหนูไปเมื่อวาน” ทั้ง ๆ ที่เมื่อสักครู่คุณแม่เพิ่งเห็นลูกนั่งระบายสีอยู่เลย ส่วนพี่ก็ไม่ได้อยู่บ้าน เด็กวัยนี้เขายังไม่พร้อมที่จะถูกลงโทษจากการโกหก ดังนั้น ให้คุณแม่ตอบสนองลูกเชิงบวกด้วยการพูดว่า “ที่มือหนูเลอะสีอะไรคะ” แบบนี้เป็นต้น เพราะบางครั้งอาจมีสิ่งของที่มาทับกล่องสีเมจิก ทำให้ลูกมองไม่เห็น ลูกก็จะสรุปได้ว่าสีหาย

    นอกจากนี้ คุณแม่อาจค่อย ๆ สอนลูกให้พูดความจริงด้วยการหาหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับการพูดความจริง และผลของการพูดความจริง หรือแม้กระทั่งผลของการพูดโกหก มาให้ลูกได้ฟังก็ได้ค่ะ

  • วัย 4 ขวบ : วัยนี้เป็นวัยที่มีการปฏิเสธและการโกหกที่ชัดเจนด้วยคำว่า “ไม่” เช่น “หนูทำจานแตกหรือเปล่าคะ” เป็นต้น ซึ่งถ้าลูกโกหก คุณแม่ควรอาศัยเวลานี้พูดคุยถึงผลเสียจากการที่ลูกโกหก และควรทำทันทีที่ลูกพูดโกหก อย่ากังวลแม้ว่าจะต้องคุยกันยาว พร้อมกับอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของการพูดความจริง

การโกหกของเด็กวัยเรียน (อายุ 5 – 8 ขวบ)

เด็กในวัยนี้การโกหกมักจะเป็นการโกหกที่มากขึ้น เพื่อทดสอบว่ามีเรื่องไหนบ้างที่จะทำให้เขารอดพ้นจากการถูกจับผิดหรือจับได้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียน คุณครู การบ้าน และเพื่อน โดยมากสาเหตุที่ลูกต้องโกหกก็เนื่องมาจากการที่มีกฎระเบียบและมีงานที่ต้องรับผิดชอบมาก เช่น “วันนี้หนูทำการบ้านเสร็จตั้งแต่ที่โรงเรียนแล้ว ส่งครูแล้ว” ซึ่งสิ่งที่ลูกพูดมาเป็นสิ่งที่เราจะสามารถสืบกลับได้ไม่ยาก

เด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีความช่างสังเกตอยู่มาก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูก พร้อมกับสอนลูกไปด้วย เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้กับเขา

การโกหกของเด็กก่อนวัยรุ่น (อายุ 9 – 12 ขวบ)

เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาในเรื่องของ “ความน่าเชื่อถือและมโนธรรม” ของตัวเอง เขาจะรู้สึกไวต่อผลกระทบจากสิ่งที่ตนเองได้กระทำลงไป รวมถึงรู้สึกผิดหลังจากที่ตัวเองพูดโกหก

ทั้งนี้ ทั้งนั้น ในบางครั้งอาจมีบางสถานการณ์ที่อาจจะมีความจำเป็นต้องโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นการรักษามารยาท และแสดงความมีน้ำใจออกมา สิ่งนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจเช่นกัน เช่น ถ้าเพื่อนมีขนมมาแจกที่โรงเรียนเนื่องในวันเกิดเขา แต่หนูไม่ชอบขนมนั้น การปฏิเสธที่จะไม่กินขนมก็ดูจะเป็นการไม่รักษาน้ำใจเกินไป หนูควรกินและกล่าวขอบคุณ คราวหน้าหนูก็จะได้รับแจกขนมอีก

สนับสนุนให้ลูกพูดความจริง

การปรับพฤติกรรมลูกให้ลูกพูดแต่ความจริง ทำได้ไม่ยากค่ะ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ “รู้” ว่าควรทำอย่างไร ดังนี้

เป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก

โดยเฉพาะในเรื่องของการพูดความจริง กล้าทำกล้ารับ ซื่อสัตย์ต่อตนเอง

ห้ามลงโทษ ไม่ดุด่าลูก เมื่อเขาตัดสินใจบอกความจริง

แม้ว่าในช่วงแรกลูกจะโกหก แล้วมายอมสารภาพในภายหลัง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุด่า หรือลงโทษลูกเด็ดขาด เข้าใจค่ะว่าในมุมของคนที่เป็นพ่อแม่นั้นอาจเสียใจอยู่บ้างที่ลูกโกหก แต่ให้คิดอย่างนี้ค่ะว่า เพื่ออนาคตระยะยาว ถ้าเราไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กโกหก คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็น และค่อย ๆ สอนเขาด้วยเหตุผลที่ถูกต้องจะดีที่สุด

ไม่กล่าวหาลูก เปิดโอกาสให้ลูกได้อธิบาย

อย่าเพิ่งคิดไปก่อนว่าลูกต้องโกหกเราแน่ ๆ แบบนี้จะยิ่งทำให้คุณแม่รู้สึกโมโหมากขึ้น เตรียมตั้งป้อมดุลูกแล้ว ซึ่งมันจะยิ่งส่งผลเสียมากขึ้นไปอีก ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ถามลูกด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่อ่อนโยน สอบถามลูกถึงสาเหตุว่าเพราะอะไรหนูถึงโกหก พร้อมกับเปิดหู เปิดใจรับฟังลูก เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้เข้าใจในความคิดของลูกมากขึ้น คราวนี้ก็จะปรับพฤติกรรมลูกได้ไม่ยากค่ะ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เปิดใจรับฟังเขา เขาจะรู้สึกได้และก็จะเปิดใจรับฟัง เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่เช่นกันค่ะ

ไม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกบังคับให้สารภาพ

ไม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาคือ ผู้ต้องหาที่กำลังถูกไต่สวน ถูกบังคับให้ต้องพูด แบบนี้เขาจะยิ่งป้องกันตัวด้วยการโกหกซ้ำอีก เพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากการถูกทำโทษค่ะ

การที่ลูกโกหกเพียงเพราะเขาไม่ต้องการให้ตัวเองถูกต่อว่าหรือดุด่าจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ ให้เราเชื่อมั่นในตัวลูกค่ะ ว่าลูกเราเป็นเด็กดี เพียงแต่ที่เขาโกหกไปนั้นเกิดจาก “ความกลัว” และ “ความไม่รู้” เท่านั้นเองค่ะ