วันนี้ผู้เขียนมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้ “ทฤษฎี Time Out & Time In” มาฝากค่ะ เชื่อเลยว่าหลายครอบครัวอาจได้รับข้อมูลเกี่ยวกับ Time Out คลาดเคลื่อนไป ซึ่งจะส่งผลให้การนำไปใช้ก็ผิดเพี้ยนไปด้วย ที่สำคัญ จากที่คุณพ่อคุณแม่หวังว่าลูกจะสำนึกผิด แต่กลับกลายเป็นได้ลูกที่เก็บกดหรือยิ่งไปผิดทางแทน
สิ่งที่ผู้เขียนจะนำมาบอกเล่าในวันนี้ เพียงเพื่อต้องการให้คุณพ่อคุณคุณแม่ได้พิจารณาเลือกใช้วิธีการสอนลูกให้เหมาะสมกันไปในแต่ละคน เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
สารบัญ
การลงโทษลูกด้วยวิธี Time Out คืออะไร?
คุณหมอ Edward Christophersen, Ph. D หนึ่งในผู้ริเริ่มวิธี Time Out ระบุว่า การลงโทษลูกด้วยวิธี Time Out คือ การแยกเด็กออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหานั้น ซึ่งวิธี Time Out ที่ถูกต้องนี้ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กได้ใช้เวลาในการสงบสติอารมณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ทันทีที่เด็กสงบลงก็จะสามารถกลับเข้าไปทำยังสิ่งก่อนหน้าได้
นอกจากนี้ คุณหมอยังกล่าวต่อว่า ยังมีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านเข้าใจผิดว่า Time Out คือ การจัดให้เด็กนั่งบนเก้าอี้หรือหันหน้าเข้ามุมเพื่อสำนึกผิด โดยต้องนั่งอยู่อย่างนั้นนาน 1 นาทีต่ออายุเด็ก เช่น 2 นาที สำหรับ เด็กอายุ 2 ขวบ เป็นต้น
วิธีการใช้ทฤษฎี Time Out
- เตือนลูกก่อนค่ะ เช่น “ถ้าหนูยังไม่หยุดพฤติกรรมนี้ แม่จะใช้วิธี Time Out กับหนูนะคะ” เป็นต้น
- หากลูกไม่หยุดพฤติกรรมนั้น ให้คุณแม่อธิบายถึงสาเหตุที่ต้องให้ลูกทำ Time Out เพื่อให้ลูกรับรู้และเข้าใจ ถึงความต้องการที่แท้จริงของคุณแม่
- เลือกมุมสงบให้ลูก เช่น มุมห้องนอน เป็นต้น
- จับเวลาตามช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กวัย 2 ขวบ : เริ่มจาก 2 นาที ก่อน
- เด็กวัย 3 ขวบ : เริ่มจาก 3 นาที
- เด็กวัย 4 ขวบ : เริ่มจาก 4 นาที
- เด็กวัย 5 ขวบ : เริ่มจาก 5 นาที เป็นต้น
- ถ้าลูกยังมีพฤติกรรมที่โวยวาย ร้องไห้งอแง ให้คุณแม่อยู่กับลูกก่อน อย่าเพิ่งเดินหนีจากลูกไป เพราะจะทำให้ลูกเข้าใจว่าแม่ไม่รักเขา รอจนกว่าลูกจะเริ่มสงบลงก่อน
- เมื่อครบตามเวลาที่กำหนดไว้ ให้คุณแม่อธิบายกับลูก นั่งทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ว่าเพราะอะไรถึงต้องให้ลูกทำ Time Out และบอกลูกว่า “พฤติกรรมใดคือ พฤติกรรมที่ถูกต้อง” ซึ่งหลังจากที่ลูกใจเย็นลงแล้ว ค่อยให้ไปเล่นต่อ
ผลเสียของการใช้ Time Out ผิดวิธี
- จากการศึกษาของ Dr. Daniel J.Siegel (Clinical professor of psychiatry at the UCLA School of Medicine) ด้วยการสแกนสมอง พบว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมองเด็กที่ถูกจับแยกอย่างผิดวิธีนี้ เหมือนกับเด็กที่รู้สึกว่าตัวเองถูกทำร้ายร่างกาย
- สำหรับเด็กเล็กอาจยังไม่เข้าใจเหตุผล เค้ายังคิดเองไม่ได้ เด็กก็จะไม่สำนึกผิด แถมยังจะเข้าใจว่าเป็นความใจร้ายของคุณพ่อคุณแม่แทน
- บางคนจะใช้เวลานี้ในการตำหนิตัวเอง ทำให้เด็กเห็นค่าตัวเองลดลง (Self-esteem)
- การใช้ Time Out กับเด็กเล็ก เค้าจะรับรู้ว่าเวลาที่เค้ากำลังเผชิญกับปัญหา เค้าจะถูกพ่อแม่บังคับให้อยู่ตามลำพัง ลองคิดดู หากลูกมีความรู้สึกติดตัวแบบนี้ไปจนโต เวลาลูกมีปัญหา เค้าจะอยากพึ่งพ่อแม่มั้ย?
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ เค้ายังไม่สามารถเข้าใจเหตุผลได้มากพอ แต่ยังต้องพึ่งการช่วยแก้ปัญหาและสงบสติอยู่ ดังนั้น การใช้วิธีนี้ในเด็กที่เล็กมากๆ อาจเป็นการทำลายความสัมพันธ์หรือสายใยรักระหว่างลูกและพ่อแม่ได้
Time In คือ อะไร?
เมื่อใดก็ตามที่ลูกงอแง โวยวาย หงุดหงิด จะเอาแต่ใจตัวเองขึ้นมา หรือไม่สามารถแก้ปัญหาตรงหน้าได้ แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะจับให้ไปนั่งแยกเข้ามุมเหงาๆ คนเดียว และคอยแต่นั่งดูเค้า หรือบางครอบครัวอาจไม่สนใจเลยก็มี ให้เปลี่ยนเป็น…การทำให้เค้ารู้ว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถอยู่กับลูกได้ เพื่อให้ลูกสงบลง บางครั้งเพียงแค่การนั่งข้างๆ กัน หามุมสงบนั่งด้วยกัน โอบกอดลูก ค่อยๆ สอนหรือปลอบ (ไม่ใช่ต่อว่าหรือต่อรองนะคะ) เพื่อให้เค้าสงบลง ที่สำคัญ วิธีจะเป็นการทำให้เค้ารู้ว่าไม่ว่าลูกจะมีอารมณ์อย่างไรหรือจะต้องแก้ปัญหาที่ยากเย็นแค่ไหน คุณพ่อคุณแม่ก็พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเค้าเสมอ
ในระหว่างที่นั่งอยู่ด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่อาจใช้ช่วงนี้ชี้บอกอารมณ์ของลูกในตอนนั้น เพื่อให้เค้าได้เรียนรู้และรู้จักกับอารมณ์ของตนเอง และเป็นการบอกให้เค้าว่าเราเข้าใจเค้า
ข้อดีของการใช้ Time In
- คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เวลานี้ในการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก แสดงออกซึ่งความรัก ความเข้าใจ และเมื่อลูกต้องเผชิญกับปัญหา คุณพ่อคุณแม่จะอยู่เคียงข้างพร้อมที่จะช่วยลูกแก้ปัญหาเสมอ
- ลูกน้อยจะได้อุ่นใจว่ายังมีคุณพ่อคุณแม่อยู่เคียงข้าง เพื่อช่วยให้ลูกเรียนรู้อารมณ์ตนเอง รวมถึงวิธีการที่จะช่วยให้เค้าเย็นลง
- เด็กเล็กจะเรียนรู้ว่า เมื่อเค้ามีปัญหา คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ผลักใสเค้าให้อยู่อย่างเดียวดาย แต่จะรอจนกว่าเค้าจะเย็นลง คุณพ่อคุณแม่ถึงจะยอมรับ
- เด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม บ่อยครั้งเกิดจากการที่ไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร บางครั้งเค้าแค่ต้องการเรียกร้องความรัก ความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ แต่ไม่รู้ว่าต้องแสดงออกอย่างไร การใช้ Time In จะช่วยให้ลูกได้รับการตอบสนองในทางบวก สร้างความรัก ความผูกพันที่ดีได้ แถมยังเป็นการทำให้ลูกได้เรียนรู้วิธีเรียกร้องความรักอย่างถูกวิธีอีกด้วยค่ะ
หากบ้านไหนใช้ Time Out แล้วพฤติกรรมของลูกยังคงเหมือนเดิม ไม่มีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ลองหันมาใช้ Time In ดูนะคะ ผู้เขียนไม่ได้บอกว่า Time Out ไม่ดี หรือมาชักชวนให้เลิกใช้ Time Out แต่ผู้เขียนเพียงต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ได้ร่วมสร้างความรัก ความผูกพันที่ดีในครอบครัว เพราะยิ่งลูกได้รับความรัก ความเข้าใจอย่างถูกวิธีมากเท่าไหร่ เมื่อเค้าเติบโตขึ้น เค้าจะเป็นคนดีคนหนึ่งของครอบครัวและสังคมค่ะ