Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิคการปรับความคิดและขั้นตอนเพื่อเข้าใจลูก

วิธีรับมือเบื้องต้นเมื่อลูกท้องเสีย

เคยไหมคะที่บอกให้ลูกวางจากเกมหรือมือถือที่อยู่ตรงหน้าก่อน แต่ลูกกลับสวนมาด้วยอารมณ์รุนแรงว่า “ไม่!” คุณแม่ก็พูดกับลูกกลับไปด้วอารมณ์โมโหเช่นกัน เกิดการเสียงดัง เกิดการทะเลาะกัน สัมพันธภาพระหว่างลูกกับคุณแม่ก็จะมีแต่แย่ลง จะดีกว่าไหมคะหากผู้ใหญ่จะมานั่งทบทวนแล้วค่อยคิดหาทางออก โดยมีเป้าหมายว่า “คุณพ่อคุณแม่ก็ยังสามารถสั่งสอนลูกได้ด้วย สัมพันธภาพก็ยังดีอยู่ด้วย

เทคนิคการปรับความคิดและขั้นตอนเพื่อเข้าใจลูก

ขั้นที่ 1 มองและฟังลูกโดยที่เราไม่ต้องตัดสินอะไรในตัวเขา

เช่น ลูกไม่อยากปิดเกม เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นแบบนั้น ก็อย่างเพิ่งตัดสินลูกว่าลูกติดเกม หรือไม่มีความรับผิดชอบนะคะ เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ตัดสินลูกก่อนแล้ว จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ตอบโต้กลับ…มากกว่าที่จะเข้าไปนั่งในใจลูก ไปดูความรู้สึกของลูกค่ะ

ขั้นที่ 2 ประเมินความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นของลูก

ถ้าลูกมีท่าทางแขนขาที่เกร็ง พร้อมกับเสียงตะโกนมาว่า “ไม่!” รวมทั้งมีการกระแทกโต๊ะดังปัง! นั่นแปลว่าคงไม่ใช่ความโกรธที่ธรรมดาแน่นอน ต้องเป็นอะไรที่โกรธเอามาก ๆ ซึ่งการมองเห็นอารมณ์ของลูก และประเมินได้จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เปิดใจยอมรับอารมณ์ของลูกได้นั่นเองค่ะ

ขั้นที่ 3 เข้าไปนั่งในใจลูก ไปอยู่ในความรู้สึกร่วมกับลูก (Empathy)

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตั้งสติ วางอารมณ์ของตัวเองได้แล้ว อยากให้คุณพ่อคุณแม่อยู่ในอารมณ์โกรธของลูกนานสักหน่อย แล้วลองจินตานาการดูว่าเราเป็นลูก และพยายามค้นหาดูว่า “อะไรเป็นเหตุที่จะทำให้เราโกรธได้มากขนาดนี้

เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นไหมคะ ปัจจัยที่ทำให้ลูกโกรธสุด ๆ คงไม่ใช่การห้ามในครั้งนี้แน่นอน แต่ลูกได้สะสมความโกรธที่ไม่ว่าจะเป็นจากการตี ถูกตีตราว่าขี้เกียจ ติดเกม ถูกตำหนิซ้ำ ๆ ว่าไม่มีความรับผิดชอบ ลูกอาจรู้สึกเศร้าที่ถูกคุณพ่อคุณแม่ดุบ่อย โกรธบ่อย และไม่ได้ช่วยเขาแก้ปัญหาอย่างใจเย็น ความเสียใจและน้อยใจจึงแปรเปลี่ยนมาเป็นความโกรธที่รุนแรงได้

ขั้นที่ 4 ยอมรับความรู้สึกของลูก พร้อมบอกลูกว่า “พ่อแม่เข้าใจ”

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของลูกแล้ว ความผูกพันธุและความเชื่อมโยงทางใจของกันและกันก็จะทำงาน ลูกจะมองคุณพ่อคุณแม่ในแง่ร้ายน้อยลง ทำให้ลูกเปิดโอกาสที่จะพูดคุยกันมากขึ้นค่ะ

ตัวอย่างคำพูด

“หนูโกรธแม่ที่แม่ไม่เคยฟังหนูเลยใช่มั้ยลูก”

“ที่หนูตะโกนเสียงดังเพราะหนูโกรธแม่ในหลาย ๆ เรื่องใช่ไหมคะ ทั้งเรื่องเล่น เรื่องเรียน”

แต่น้ำเสียงและท่าทางไม่ควรแฝงด้วยความโกรธ เจือความตึง ๆ นะคะ แต่ควรเป็นน้ำเสียง ท่าทาง และสายตาที่อ่อนโยน ลูกจะรู้สึกปลอกภัย อุ่นใจ และมั่นใจว่าคราวนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้มาต่อว่าเขาเพิ่ม สิ่งนี้จะทำให้ลูกกล้าที่พูดระบายความอัดอั้นออกมา แต่ถ้าลูกยังไม่กล้าพูด แสดงว่าลูกยังไม่มั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะรับฟังเขาอย่างเปิดใจจริง ๆ

แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ยังไม่ต้องเร่งลูกนะคะ ถึงแม้วันนี้ลูกอาจจะไม่ยอมเปิดใจ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ทำตามขั้นตอน 1-4 ในทุก ๆ ครั้งที่ลูกโกรธ ทำซ้ำจนลูกเริ่มมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจเขาและยอมรับฟังเขาจริง ๆ รู้สึกปลอดภัยจริง ๆ วันนั้นเขาก็จะยอมพูดระบายออกมาเองค่ะ

ขั้นที่ 5 ชวนลูกมาคิดหาทางออกร่วมกัน

หากคุณพ่อคุณแม่สามารถผ่านขั้นตอนที่ 4 มาได้แล้ว (ลูกยอมเปิดใจพูดแล้ว) มาขั้นตอนนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกมาคิดหาทางออกร่วมกัน ให้ลูกได้รับรู้ถึงความเป็นเจ้าของเรื่อง คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งคิดเองแล้วให้ลูกปฏิบัติเท่านั้น ลองฟังความเห็นของลูกก่อน แล้วค่อย ๆ เกลาให้ได้ข้อสรุปที่รับได้ทั้งสองฝ่าย

เรื่องของการเลี้ยงลูกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะหนึ่งชีวิตที่เกิดมาเขาก็มีความคิด มีความรู้สึก และมีอารมณ์ได้เหมือนผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเป็นเด็กที่อ่อนโยน เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างที่คุณพ่อคุณแม่พยายามทำอยู่นี้ ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้นะคะ

อ้างอิง
คุณหมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก ThaiPBSKids