Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

10 ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องควรระวัง

10 ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องควรระวัง

ช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์อุ้มท้องลูกไปไหนมาไหนด้วย สำหรับโน้ต โน้ตว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดช่วงหนึ่งทีเดียว แต่ในขณะเดียวกันด้วยความที่ลูกอยู่ในท้อง เราซึ่งเป็นคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตตัวเองอยุ่ตลอดเวลาค่ะว่า ร่างกายของเราหรือของลูกน้อยมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งมันอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกเราได้ว่าเป็นอาการที่นำไปสู่โรคแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งจะมีโรคแทรกซ้อนอะไรที่สามารถเกิดขึ้นได้บ้าง วันนี้เรานำมารวบรวมไว้ที่นี่แล้วค่ะ

10 ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวัง มีดังนี้ค่ะ

ภาวะท้องนอกมดลูก

ภาวะนี้เป็นภาวะที่ไข่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้วไปฝังตัวอยู่นอกมดลูก ส่วนที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ท่อนำไข่ เมื่อเด็กเติบโตมาได้ระยะหนึ่งก็จะเสียชีวิต พบได้ในผู้ที่เคยมีประวัติมดลูกอักเสบ หรือเคยทำแท้งมาก่อน

ภาวะรกเกาะต่ำ

โดยทั่วไปแล้วมดลูกจะเกาะที่ยอดมดลูก แต่ที่เกาะต่ำคือการเกาะที่ปากมดลูก จึงเป็นการขวางทางทำให้เด็กไม่สามารถเคลื่อนตัวลงมาได้ ซึ่งถ้าเด็กโตขึ้น มดลูกขยายขึ้นอาจเกิดเป็นรอยเผยอระหว่างตัวรกกับปากมดลูกได้ ส่งผลให้คุณแม่มีเลือดออก ซึ่งถ้าหากเลือดออกมากอาจทำให้เสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้ พบได้มากในผู้ที่มีลูกมาก คลอดลูกมาหลายคน รวมถึงพบได้ในผู้ที่เคยขูดมดลูกมาก่อน

ภาวะแท้งบุตร

ก็คือ การยุติการตั้งครรภ์ก่อนเวลาอันควร โดยมากเกิดจากการที่ลูกไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้เนื่องจากตัวเล็กเกินไป โดยการแท้งมี 2 ลักษณะ ได้แก่ แท้งเอง ซึ่งเกิดจากไข่ที่ไม่สมบูรณ์ หรือคุณแม่อาจมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคเลือดบางชนิด และอีกหนึ่งลักษณะการแท้งคือ ตั้งใจแท้ง เป็นต้น

ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

โดยปกติแล้วรกจะเกาะที่ยอดมดลูก เมื่อคลอดลูกแล้ว รกจะหลุดออกมาด้วย แต่บางคนรกหลุดออกมาก่อนที่เด็กจะคลอด ซึ่งจะส่งผลให้เด็กไม่มีอาหารไปเลี้ยง และอันตรายอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ รกลอกหรือรกหลุดก่อนกำหนด มักเกิดจาก การถูกกระแทกที่หน้าท้องอย่างแรง หกล้ม แต่บางรายอาจเกิดจากคุณแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ภาวะตกเลือดหลังคลอด

โดยปกติแล้วคุณแม่หลังคลอดจะเสียเลือดประมาณ 200 – 300 cc. แต่มีคุณแม่บางรายเสียเลือดมากกว่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการช็อคและเสียชีวิตได้ โดยสาเหตุที่พบมี ดังนี้

สาเหตุที่ 1 การบีบตัวของมดลูกไม่ดี ทำให้มดลูกแข็งตัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร เลือดจึงออกมาเยอะ พบมากในผู้ที่อายุมาก คลอดลูกบ่อย
สาเหตุที่ 2 มีการฉีกขาดของช่องคลอด เช่น ฝีเย็บอาจมีการฉีกขาด ส่งผลให้มีเลือดออกมามาก
สาเหตุที่ 3 คลอดลูกแล้วแต่รกคลอดออกมาไม่หมด มีค้างอยู่บางส่วน ซึ่งส่งผลให้มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี ส่งผลให้เสียเลือดมากได้เช่นกัน

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

ข้อนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นโรคนี้อยู่ก่อน กับกลุ่มที่เป็นในช่วงที่ตั้งครรภ์ โดยที่ความดันสูงขณะตั้งครรภ์นั้น คุณแม่จะมีอาการบวม ถ้าตรวจปัสสาวะแล้วจะพบว่าโปรตีนปนออกมาด้วย ถ้ามีอาการมาก คุณแม่จะชัก ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก และเสียชีวิตได้

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

โรคเบาหวานก็แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มเช่นกัน คือ คุณแม่ที่เป็นโรคนี้อยู่ก่อนแล้ว กับคุณแม่ที่เป็นในช่วงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งถ้าคุณแม่ควบคุมอาการเบาหวานได้ไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดอาการช็อค การแท้ง หรือการคลอดก่อนกำหนดได้ พบบ่อยในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกคนแรก แม่ที่อ้วนมาก และคุณแม่ที่มีอายุมาก รวมไปถึงคุณแม่ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานมาก่อน

ภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์และมดลูกขยายใหญ่ขึ้น จึงไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะได้สะดวกและไม่ดีเท่าที่ควร (รู้สึกเหมือนขัด ๆ) ส่งผลให้มีการคั่งค้างนาน จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

โรคโลหิตจาง

โรคนี้มีสาเหตุ 2 ชนิด ได้แก่ โรคโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย และโรคโลหิตจางที่เกิดจากธาตุเหล็ก สำหรับโรคที่เกิดจากธาลัสซีเมียมักเป็นโรคที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม โดยมากแล้วลูกที่เกิดจากคุณแม่ที่เป็นโรคนี้มักจะตายในท้อง ส่วนโรคโลหิตจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก วิธีแก้ไข คือ ให้ทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก ๆ

ไทรอยด์เป็นพิษ

เกิดจากไทยรอยด์ผลิตสารออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออกมาก หงุดหงิดง่าย ทั้งนี้ก่อนท้องอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ ลูกที่เกิดมาจะตัวเล็ก ไม่ค่อยแข็งแรง หากคุณแม่มีอาการรุนแรงอาจส่งผลให้แท้งได้

ระหว่างการตั้งครรภ์เป็นอะไรที่มีความสุขก็จริง แต่สิ่งสำคัญคือ คุณแม่มีอีกหนึ่งชีวิตน้อย ๆ ที่ต้องดูแล ดังนั้นในเรื่องของสุขภาพและโภชนาการ จำเป็นอย่างมากที่คุณแม่จะต้องเพิ่มความใส่ใจมากขึ้นเป็น 2 เท่า เพื่อให้อายุครรภ์ครบกำหนด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดนะคะ