Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทารกไม่กลับหัว จะอันตรายไหม มีวิธีแก้ไขอย่างไร

ทารกไม่กลับหัว จะอันตรายไหม มีวิธีแก้ไขอย่างไร

เมื่อคุณแม่อุ้มท้องมาแล้ว 9 เดือน เมื่อใกล้คลอด ทารกไม่กลับหัว ซึ่งถือว่าอันตรายพอควร คุณแม่จำเป็นต้องมีความรู้และพร้อมรับมือปัญหาจากการตั้งครรภ์ เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อม และเพื่อไม่ให้คุณแม่เกิดความกังวลใจ เรามาดูกันค่ะว่าสาเหตุของทารกไม่กลับหัว เกิดจากอะไรได้บ้าง และจะเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน

ทารกไม่กลับหัว เกิดจากอะไรได้บ้าง

การที่ทารกไม่กลับหัวนั้น ถือว่าเป็นอุปสรรคในการคลอดที่ยากลำบากอย่างมากสำหรับคุณแม่ ซึ่งเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งที่จากตัวคุณแม่เองและตัวของทารก ซึ่งแพทย์จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบว่าทารกไม่กลับหัว โดยสาเหตุจะแบ่งออก ดังต่อไปนี้

  • การไม่ได้สัดส่วนของอุ้งเชิงกรานและศีรษะของทารก โดยจะมีลักษณะของศีรษะทารกที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าอุ้งเชิงกราน
  • คุณแม่มีภาวะน้ำคร่ำน้อย หรือมากจนเกินไป
  • ทารกภายในครรภ์ มีความผิดปกติ เช่น ทารกไม่มีสมอง หรือทารกหัวบาตร
  • เกิดเนื้องอกภายในอุ้งเชิงกรานของคุณแม่
  • ความผิดปกติของรก

ทำไมเมื่อถึงกำหนดคลอด ทารกจึงเอาหัวลง

การกลับหัวของทารกนั้น ถือว่าเป็นท่าทางในการเตรียมพร้อม สำหรับการใกล้ถึงกำหนดคลอด ซึ่งเป็นท่าทางปกติเมื่อถึงเวลาคลอดนั่นเอง โดยมีสาเหตุ ดังนี้

ลักษณะของมดลูก

ในช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์มดลูกของคุณแม่จะมีลักษณะของโพรงมดลูกทรงกลมและมีน้ำคร่ำอยู่ภายใน ซึ่งเมื่อมีทารกอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำ ทารกจะสามารถหมุนและเคลื่อนไหวภายในครรภ์ได้หอยู่ตลอดเวลา และเมื่ออายุครรภ์เพิ่มมากยิ่งขึ้นลักษณะของมดลูกที่เคยเป็นทรงกลม จะกลายเป็นวงรีแทนและขนานไปกับกระดูกสันหลัง ทำให้มดลูกมีความกระชับและโอบรัดทารกไว้ ไม่ให้สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนเคย

ความตึงของกล้ามเนื้อมดลูก

เมื่อน้ำคร่ำน้อยลงกว่าการตั้งครรภ์ในระยะแรก กล้ามเนื้อของมดลูกจะมีความตึงที่คล้ายกับยางยืด แม้จะโอบรัดตัวทารกไว้แต่ก็มีความหยืดหยุ่นเพื่อรองรับขนาดตัวของทารกที่มีการขนาดตัวที่ใหญ่มากขึ้น

นั่นจึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าลูกไม่กลับหัวอันตรายไหม ซึ่งหากทารกไม่กลับหัวก็อาจสร้างความลำบากให้กับคุณแม่ในการคลอดได้ เนื่องจากมดลูกที่มีการปรับเปลี่ยนลักษณะให้เข้ากับตัวทารกมากยิ่งขึ้น และโอบอุ้มตัวทารกไว้ ทำให้ทารกไม่สามารถกลับหัวได้ เนื่องจากเหลือพื้นที่ในการเคลื่อนไหวที่น้อยลงตามไปด้วย

ทารกไม่กลับหัว จะคลอดลูกอย่างไร

เพื่อคลายกังวลให้กับคุณแม่ ในปัจจุบันทางออกที่ดีที่สุดที่แพทย์แนะนำเมื่อพบว่าทารกไม่กลับหัวตามกำหนดระยะเวลาที่คาดไว้ แพทย์อาจจะพิจารณาในการผ่าตัดคลอดแทนการคลอดปกติ แม้ว่าการเลือกผ่าตัดคลอดแต่มีความเสี่ยงแต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการคลอดแบบปกติอยู่มาก

ซึ่งกระบวนการในการผ่าตัดคลอดนั้น คุณแม่อาจจะมีความกังวลใจว่าจะไม่ได้พบหน้าลูกเมื่อทำการคลอดออกมาแล้วอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแพทย์จะเลือกใช้วิธีในการบล็อกไขสันหลังแทนในการใช้ยาสลบ เพื่อให้คุณแม่ยังมีสติอยู่ครบถ้วนและสามารถรับรู้กระบวนการในการคลอดอยู่ตลอดเวลา รวมถึงได้มองเห็นและชื่นชมทารกเมื่อลืมตาออกมาดูโลกภายนอกอีกด้วยค่ะ

ถ้าไม่ผ่าคลอด จะคลอดธรรมชาติได้ไหม

แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กทารกที่ไม่กลับหัว ที่จะทำการคลอดแบบธรรมชาติ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้ แพทย์จะมีการประเมินเงื่อนไขต่าง ๆ ภายในครรภ์ของคุณแม่ โดยแบ่งปัจจัยออก ดังต่อไปนี้

หากเป็นครรภ์แรก

หากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก แพทย์จะมีการพิจารณาและคาดคะเนน้ำหนักของทารกภายในครรภ์ร่วมด้วย ซึ่งครรภ์แรกของคุณแม่โดยส่วนใหญ่นั้น ทารกมักจะมีน้ำหนักที่มากกว่า 2,500 กรัม ซึ่งเป็นการยากสำหรับคุณแม่ที่ไม่เคยเบ่งคลอดเลย และมีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดภาวะการขาดออกซิเจน เนื่องจากใช้เวลาในการทำคลอดที่ค่อนข้างนาน และศีรษะของทารก อาจติดอยู่ภายในช่องคลอดเป็นเวลานานอีกด้วย

ผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว

และทารกมีน้ำหนักที่น้อยกว่า 2,500 กรัม แพทย์จะมีการพิจารณาจากอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ ว่ามีความเหมาะสมในการทำคลอดแบบธรรมชาติหรือไม่

การหมุนตัวช่วยทารก

เป็นเทคนิคในปัจจุบันที่สามารถทำได้ แต่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง  อาจทำให้เกิดภาวะรกลอกตัวก่อนการคลอด และไม่ค่อยได้รับความนิยมเนื่องจากความเจ็บปวดจากการหมุนตัว

จะเห็นได้ว่าทารกที่ไม่กลับหัวนั้นสามารถทำการคลอดแบบธรรมชาติได้แต่จะต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์ก่อน แพทย์จะทำการตรวจอย่างถี่ถ้วนถึงสาเหตุและหาแนวทางการแก้ไขโดยไม่เป็นอันตรายต่อตัวแม่และทารก อย่างไรก็ตามการผ่าคลอดยังเป็นวิธีในการคลอดสำหรับทารกที่ไม่กลับหัวได้อย่างปลอดภัยมากที่สุดทั้งต่อคุณแม่และทารกค่ะ