Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

อาการหลังคลอด 3 เดือน ที่คุณแม่ต้องเตรียมรับมือ

อาการหลังคลอด 3 เดือน ที่คุณแม่ต้องเตรียมรับมือ

คุณแม่หลังคลอด หรือคุณแม่ลูกอ่อน วัน ๆ อาจจะง่วนอยู่แต่กับการเลี้ยงดูลูกน้อย ห่วงเรื่องการให้นม เพราะทารกแรกเกิดจะต้องกินนมทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง จนทำให้คุณแม่ลืมใส่ใจดูแลตัวเองไปเสียสนิท ซึ่งแท้จริงแล้วการดูแลตัวเองหลังคลอดเป็นเรื่องจำเป็นมาก ซึ่งคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อการรับมือได้อย่างถูกต้องเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว

เจ็บแผลผ่าคลอด

โดยทั่วไปแล้ว หลังจากผ่าคลอดคุณหมอจะให้พักฟื้นที่โรงพยาบาล 2 – 4 วันโดยประมาณถึงจะกลับบ้านได้ หลังจากนั้นจะต้องใช้เวลาพักฟื้นต่อที่บ้านอีกประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ แผลจึงจะหายสนิท และจะสามารถทำกิจกรรมอะไรต่าง ๆ ได้ตามปกติ

แต่ในช่วงของการพักฟื้นนั้น คุณแม่ควรเลี่ยงกิจกรรมทุกอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อแผลผ่าคลอด เช่น การยกของหนัก การทำงานบ้าน การออกกำลังกาย รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ และเพื่อให้คุณแม่ได้ฟื้นตัวเร็วขึ้น คุณแม่ควรลุกเดินอย่างช้า ๆ ไม่ให้นั่งนิ่ง ๆ หรือนอนเป็นระยะเวลานาน เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน และอาการท้องผูก และที่สำคัญ คุณแม่ควรใช้มือประคองไว้หากคุณแม่จะไอหรือจะจามด้วยนะคะ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับแผลค่ะ

เจ็บช่องคลอด

สำหรับคุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ จะต้องมีการตัดฝีเย็บ เพื่อขยายปากช่องคลอด ซึ่งช่องคลอดจะฉีกขาด อาจทำให้รู้สึกเจ็บช่องคลอดราว ๆ 2 – 3 สัปดาห์

คัดเต้านม

เนื่องจากเต้านมจะมีการผลิตน้ำนมออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางเดียวที่จะลดอาการคัดเต้านมได้ก็คือ การให้ลูกน้อยดูด แต่เต้านมที่คัดตึงมากเกินไปก็จะส่งผลให้ลูกดูดยาก ดังนั้นก่อนการให้นมลูกหากคุณแม่รู้สึกคัดเต้านมมาก ให้คุณแม่ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น ๆ ประคบรอบเต้านม และบีบน้ำนมออกมาเล็กน้อยก่อนที่จะให้ลูกดูด

ริดสีดวงทวารและอาการท้องผูก

คุณแม่อาจมีการเจ็บระหว่างที่ถ่ายอุจจาระ หรืออาจมีอาการบวมรอบ ๆ ทวารหนัก อาการนี้เป็นสัญญาณของโรคริดสีดวงทวาร เกิดจากเส้นเลือดดำบริเวรทวารหนัก หรือลำไส้ส่วนล่างมีการโป่งพอง ซึ่งถ้าหากคุณแม่พบอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ

กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้

อาการนี้เกิดจากการที่คุณแม่เกร็งกล้ามเนื้อระหว่างการคลอด หรือมีการเจ็บครรภ์คลอดที่นานกว่าปกติ จึงส่งผลให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้ เมื่อหัวเราะ ไอ หรือจามจึงมีปัสสาวะเล็ดออกมา อาการดังกล่าวนี้จะค่อย ๆ หายไปได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์ บางรายอาจนานกว่านั้น ในระยะนี้แนะนำให้คุณแม่สวมผ้าอนามัย พร้อมกับออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยท่าฝึกกระชับช่องคลอดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้นค่ะ

รู้สึกร้อนวูบ ๆ วาบ ๆ หรือหนาวใน

อาการนี้เกิดจากระดับฮอร์โมนและการไหลเวียนของโลหิตที่เปลี่ยนไปหลังจากคลอดลูกน้อยค่ะ จึงมีบ้างที่อาจส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิในร่างกาย ทำให้คุณแม่รู้สึกร้อนวูบวาบในบางครั้งบางครั้งก็หนาวใน

น้ำคาวปลา

คุณแม่ลูกอ่อนจะมีน้ำคาวปลาไหลออกมาจากช่องคลอด เป็นของเหลวที่ประกอบไปด้วยเลือด เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอก และแบคทีเรีย โดยในระยะแรกน้ำคาวปลามีสีแดงเข้ม ลักษณะข้นคล้ายกับประจำเดือน จากนั้นจะค่อย ๆ เหลวขึ้น และมีสีเหลืองอ่อนและจางลงจนกลายเป็นสีขาวขุ่น หรือเหลืองอ่อน ซึ่งทั่วไปหลังการคลอดภายใน 2 – 4 สัปดาห์น้ำคาวปลาจะหมดไปบางรายอาจนานกว่านั้นแต่ไม่ควรเกิน 6 สัปดาห์

น้ำหนักลด

หลังคลอดในระยะแรกน้ำหนักของคุณแม่จะไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก แต่ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ที่เพิ่งคลอดน้ำหนักจะลดลงไปประมาณ 6 กิโลกรัม เนื่องจากน้ำหนักของทารก รก และน้ำคร่ำได้หายไปจากการคลอด เมื่อผ่านไปสักระยะร่างกายจะขับของเหลวส่วนเกินออกมา น้ำหนักตัวของคุณแม่จึงค่อย ๆ ลดลง

การให้นมลูกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำหนักลดลงเร็วค่ะ น้ำหนักของแม่โน้ตลดลงเยอะมาก มากกว่าช่วงก่อนท้องเสียอีก ทั้งนี้ ต้องอยูที่อาหารการกินด้วยนะคะคุณแม่ แต่หลังให้นมคุณแม่จะหิวทันที ควรหาอะไรที่กินง่ายรองท้องสักหน่อยหลังให้นม โดยเอาวางไว้ใกล้มือค่ะ

ภาวะผมร่วง

เนื่องจากระดับของฮอร์โมนที่สูงขึ้นณะตั้งครรภ์จึงทำให้ผมของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นดกขึ้นมาก แต่หลังคลอดแล้วระดับฮอร์โมนก็เปลี่ยนไปจึงทำให้ผมร่วง แต่อาการนี้จกลับสู่ภาวะปกติภายใน 5 เดือนค่ะ

ผิวแตกลาย

เป็นอาการที่ท้องแตกลายขณะตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป รอยแตกลายนี้จะยังไม่หายไปแม้หลังคลอด เพียงแต่จะจางลงเท่านั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันหรือเพื่อให้แตกน้อยที่สุด คุณแม่ควรทาครีมที่บริเวณท้องตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์นะคะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับอาการหลังคลอด ได้รู้กันอย่างนี้แล้วคุณแม่ควรเตรียมหาวิธีรับมือกันเสียแต่วันนี้นะคะ เพื่อที่ร่างกายจะได้ฟื้นตัวเร็ว และจะได้ดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ มีความสุขค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง familymildthailand.com, pobpad.com