Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

อาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน และสิ่งที่ควรทำในเดือนแรก

อาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน และสิ่งที่ควรทำในเดือนแรก

หลังคลอดแม่ลูกอ่อนต้องดูแลตัวเองอย่างดี เพื่อที่จะได้มีแรง มีน้ำนมให้ลูกน้อยได้เติบโตอย่างแข็งแรงสมวัย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ลูกอ่อนต้องคำนึงถึงคือเรื่องของอาหารการกินค่ะ เพราะอาหารบางชนิดก็เป็นการช่วยเสริมสร้างน้ำนมได้ดี อาหารบางชนิดก็เป็นการทำให้น้ำนมหดได้ดีเช่นกัน^^ ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงอาหารที่คุณแม่ลูกอ่อนห้ามกินในแต่ละภาค พร้อมกับสิ่งที่แม่ลูกอ่อนควรทำในช่วยเดือนแรกหลังคลอดกันค่ะ

สารบัญ

อาหารที่แม่ลูกอ่อนห้ามกิน

อาหารที่คุณแม่ลูกอ่อนห้ามกิน หรือที่คนโบราณเรียกว่า “อาหารแสลง” ซึ่งเป็นความเชื่อและบอกต่อ ๆ กันมาว่า ถ้ากินอาหารเหล่านี้เข้าไปแล้วจำทำให้เกิดอาการไม่สบายตัว เลือดลมตี น้ำคาวปลาไม่ขับออกมา น้ำนมหด มีไข้ บางรายอาจเกิดอาการชักได้ ซึ่งในแต่ละภูมิภาคของไทยเราก็จะมีข้อห้ามที่แตกต่างกันไปเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนี้ค่ะ

อาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน – ภาคเหนือ

  • อาหารที่แม่ลูกอ่อนห้ามกิน ได้แก่ ไข่ ปลา แกงทุกชนิด พริก และของดอง
  • อาหารที่แม่ลูกอ่อนควรกิน ได้แก่ ข้าวกับเกลือหรือของแห้ง แคปหมู หมูปิ้ง ข้าวจี่ กล้วยน้ำว้า น้ำต้าหัวไพลอุ่น เพราะเชื่อว่าอาหารเหล่านี้จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และมีน้ำนมมาก

อาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน – ภาคใต้

  • อาหารที่แม่ลูกอ่อนห้ามกิน ได้แก่ มะละกอ ขนุน ฟักทอง หอย ปลา และเห็ด เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ตัวเย็น นอกจากนี้ยังมีหน่อไม้ หัวหอม ของดอง กล้วยหอม ข้าวเหนียว ยอดชะอม เนื้อวัว และเนื้อสัตว์ป่า เพราะจะส่งผลให้คุณแม่ปวดหัวได้
  • อาหารที่แม่ลูกอ่อนควรกิน ได้แก่ กุ้งแห้ง พริกไทย ซึ่งจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

อาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • อาหารที่แม่ลูกอ่อนห้ามกิน ได้แก่ ผักตำลึง น้ำร้อน ฟักทอง ชะอม อาหารทะเล กระถิน ปลาชะโด สัตว์ป่า ปลาหางแดง และข้าวเหนียว
  • อาหารที่แม่ลูกอ่อนควรกิน ได้แก่ ข้าวกับเกลือ

อาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน – ภาคกลาง

  • อาหารที่แม่ลูกอ่อนห้ามกิน ได้แก่ ปลามีเกล็ด อาหารทะเล ชะอม อีเก้ง เต้า ปลาไหล ปลาดุก ไม่เช่นนั้นจะทำให้เป็นไข้ได้ นอกจากนี้ยังมีไข่เป็ด ไข่ไก่ เพราะจะทำให้แผลหายช้า มีเนื้อหมูป่า ปลาบู่ ปลาไหล ปลาเกล็ดดำ ข้าวเหนียวดำ เห็ดโคน ถั่วฝักยาว ผักแว่น สะเดา มะรุม หน่อไม้ดอง แตงโม ส้มตำ และแกงบอน เป็นต้น
  • อาหารที่แม่ลูกอ่อนควรกิน ได้แก่ ปลาปิ้ง และข่าจิ้มเกลือ

ประเภทอาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน

แม่ลูกอ่อนโดยเฉพาะคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เรื่องอาหารการกินควรเพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ซึ่งวันนี้เราแบ่งเป็นประเภทให้คุณแม่ได้ทำความเข้าใจกันง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

นมวัว

คุณแม่บางท่านอาจไม่รู้มาก่อน ว่าในนมวัวจะมีสารก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ และเด็กบางคนแพ้นมวัว ถึงแม้ลูกน้อยของคุณแม่จะไม่ได้แพ้นมวัว แต่การดื่มนมวัวเป็นประจำถือเป็นการกระตุ้นให้ลูกน้อยมีอาการภูมิแพ้ได้เช่นกัน ส่งให้เด็กมีอาการของกรดไหลย้อน, อุจจาระผิดปกติ รวมถึงมีปัญหาน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ

อาหารรสจัด

อาหารรสจัดไม่ได้หมายถึงแค่อาหารที่เผ็ดจัด แต่หมายรวมถึง อาหารที่เค็มจัด หรือหวานจัดด้วย เพราะจะทำให้ลูกน้อยหงุดหงิดง่าย ร้องไห้งอแงไม่หยุด หรือหยุดยาก เพราะรสชาติของน้ำนมเปลี่ยนไป

คุณแม่ควรกินอาหารที่มีส่วนผสมของกระเทียมที่ เนื่องจากกระเทียมมีสารอัลลิซิน จะช่วยให้คุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้นและช่วยให้ลูกน้อยกินนมแม่ได้เยอะมากขึ้นค่ะ

อ้างอิงจาก: โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย

นมถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่ว

จะสังเกตได้ว่าอาหารกลุ่มนี้เป็นกลุ่มของโปรตีน ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกมีอาการแพ้ได้ อาทิ เกิดผื่นคัน, หายใจมีเสียงดัง, เป็นลมพิษ และมีอาการอื่น ๆ กับระบบทางเดินหายใจ บางรายอาจมีแก๊สในกระเพาะ หรือมีอาการท้องเสียร่วมด้วย

ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว

ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวบางชนิดมีกรดสูง ส่งผลให้ลูกน้อยเกิดอาการจุกเสียดแน่น ไม่สบายตัว และคันตามผิวหนัง แต่ถ้าคุณแม่ต้องการเพิ่มปริมาณวิตามินซีในน้ำนมสามารถทานสับปะรดหรือมะม่วงได้ค่ะ

อาหารทะเล

อาหารกลุ่มนี้ก็เป็นในกลุ่มโปรตีน และโอเมก้า 3 เป็นกลุ่มอาหารที่มีประโยชน์ต่อคุณแม่และลูกน้อย แต่อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังอาหารทะเลบางชนิดที่ปนเปื้อนสารปรอท ที่สามารถส่งไปถึงลูกน้อยได้ผ่านทางน้ำนม ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกได้

อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ

รวมถึงอาหารค้างคืน เนื่องจากคุณค่าทางโภชนาการจะมีน้อย อาทิ ซูชิ, ปลาร้า และแหนม เป็นต้น บางรายอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษตามมาได้ ขณะที่อาหารค้างคืน เมื่อนำมาอุ่นซ้ำ หรือต้ม ตุ๋น เป็นเวลานาน ๆ อาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ก็ส่งผลให้ท้องเสียได้เช่นกัน

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

ไม่ว่าจะเป็นชาหรือกาแฟ ก็ล้วนแล้วแต่มีคาเฟอีนที่สูงทั้งนั้น ซึ่งสารคาเฟอีนสามารถส่งผ่านให้ลูกได้ทางน้ำนม อาจไปรบกวนการนอนของลูกน้อย แต่ถ้าหากต้องการดื่มเครื่องดื่มหรือทานอาหารที่มีคาเฟอีนจริง แนะนำไม่ควรเกิน 1 – 2 แก้ว/วัน

แอลกอฮอล์

ข้อนี้ยิ่งเป็นอะไรที่คุณแม่ไม่ควรข้องแวะด้วยเลยค่ะ เพราะแม้ว่าจิบเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้เลยทีเดียว เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ส่งผลต่อพัฒนาการด้านสมองของลูกน้อยและสุขภาพของคุณแม่ค่ะ

สิ่งที่แม่ลูกอ่อนควรทำในเดือนแรก

พักผ่อนให้เพียงพอ

เพราะหลังคลอดคุณแม่ต้องดูแลทั้งตัวเองและลูกน้อย เรียกได้ว่าอย่างหนักเลย ไม่จะเป็นเรื่องของแผลผ่าคลอด หรือเรื่องอาหาร รวมถึงเรื่องของการนอนน้อย เนื่องจากต้องให้นมลูกทุก ๆ 3 ชั่วโมง ดังนั้น หากพอมีเวลาที่งีบได้ ควรงีบค่ะ

เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ

คุณแม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อและฝีเย็บหายเร็ว ไม่ต้องกังวลเรื่องแผลแตก ให้ทำอย่างช้า ๆ เนื่องจากบางครั้งหากคุณแม่ลุกเร็วเกินไปอาจมีอาการเวียนศีรษะได้ เมื่อลุกแล้วควรหยุดนิ่งซักพักหนึ่งก่อน แล้วค่อยเดินต่อค่ะ

ออกกำลังกายเบา ๆ

หรือจะเรียกว่ายืดเส้นยืดสายก็ได้ค่ะ ไม่ต้องหนักมาก แต่ทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติเหมือนก่อนท้องได้อย่างเร็วที่สุด ส่วนคุณแม่บางรายที่ผ่าคลอด ควรรอให้ครบซัก 20 หรือ 3 สัปดาห์ขึ้นไปเสียก่อนนะคะ ถึงเริ่มออกกำลังกายเบา ๆ ได้

หมั่นทำความสะอาดแผลผ่าคลอด

ด้วยน้ำอุ่น และสบู่ ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด หลังจากนั้นให้ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง ซึ่งจะทำให้แผลสมานกันได้เร็ว

กินธาตุเหล็กตามแพทย์สั่ง

ยาที่คุณแม่ควรกินต่อก็คือ ธาตุเหล็ก เนื่องจากคุณแม่ต้องเสียเลือดในขณะคลอด ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์นะคะ

กินอาหารที่ย่อยง่าย

กินอาหารที่ย่อยง่าย เป็นมิตรกับกระเพาะ รสไม่จัด แต่ควรมีกากใยอาหารสูงซักหน่อย เพื่อลดอาการท้องผูก เลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง และไขมัน

ครบ 1 เดือนค่อยมีเพศสัมพันธ์

ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลต่อแผลเย็บได้

พบแพทย์หากมีอาการผิดปกติ

คุณแม่ควรไปหาแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ซึ่งถ้าพบอาการผิดปกติก่อนวันนัด เช่น มีไข้ เต้านมอักเสบเป็นไตแข็ง หรือเจ็บแผลตรงฝีเย็บมากผิดปกติ แผลบวมแดงหรือมีหนอง น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น มีเลือดออกทางช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด และปวดท้อง ควรไปพบแพทย์ทันที
การดูแลร่างกายของคุณแม่ลูกอ่อนเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ เรื่องความสะอาด และเรื่องของอาหาร เพราะคุณแม่ลูกอ่อนต้องให้นมลูกน้อย ดังนั้น ก่อนจะกินอาหารอะไรหากไม่แน่ใจว่าจะส่งต่อน้ำนม ทำให้น้ำนมหดหรือไม่ แบบนี้อาจเลี่ยงไปก่อนก็จะดีค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง rcpsycht.org