อาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน และสิ่งที่ควรทำในเดือนแรก
หลังคลอดแม่ลูกอ่อนต้องดูแลตัวเองอย่างดี เพื่อที่จะได้มีแรง มีน้ำนมให้ลูกน้อยได้เติบโตอย่างแข็งแรงสมวัย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ลูกอ่อนต้องคำนึงถึงคือเรื่องของอาหารการกินค่ะ เพราะอาหารบางชนิดก็เป็นการช่วยเสริมสร้างน้ำนมได้ดี อาหารบางชนิดก็เป็นการทำให้น้ำนมหดได้ดีเช่นกัน^^ ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงอาหารที่คุณแม่ลูกอ่อนห้ามกินในแต่ละภาค พร้อมกับสิ่งที่แม่ลูกอ่อนควรทำในช่วยเดือนแรกหลังคลอดกันค่ะ
อาหารที่แม่ลูกอ่อนห้ามกิน
อาหารที่คุณแม่ลูกอ่อนห้ามกิน หรือที่คนโบราณเรียกว่า “อาหารแสลง” ซึ่งเป็นความเชื่อและบอกต่อ ๆ กันมาว่า ถ้ากินอาหารเหล่านี้เข้าไปแล้วจำทำให้เกิดอาการไม่สบายตัว เลือดลมตี น้ำคาวปลาไม่ขับออกมา น้ำนมหด มีไข้ บางรายอาจเกิดอาการชักได้ ซึ่งในแต่ละภูมิภาคของไทยเราก็จะมีข้อห้ามที่แตกต่างกันไปเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนี้ค่ะ
อาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน – ภาคเหนือ
- อาหารที่แม่ลูกอ่อนห้ามกิน ได้แก่ ไข่ ปลา แกงทุกชนิด พริก และของดอง
- อาหารที่แม่ลูกอ่อนควรกิน ได้แก่ ข้าวกับเกลือหรือของแห้ง แคปหมู หมูปิ้ง ข้าวจี่ กล้วยน้ำว้า น้ำต้าหัวไพลอุ่น เพราะเชื่อว่าอาหารเหล่านี้จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และมีน้ำนมมาก
อาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน – ภาคใต้
- อาหารที่แม่ลูกอ่อนห้ามกิน ได้แก่ มะละกอ ขนุน ฟักทอง หอย ปลา และเห็ด เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ตัวเย็น นอกจากนี้ยังมีหน่อไม้ หัวหอม ของดอง กล้วยหอม ข้าวเหนียว ยอดชะอม เนื้อวัว และเนื้อสัตว์ป่า เพราะจะส่งผลให้คุณแม่ปวดหัวได้
- อาหารที่แม่ลูกอ่อนควรกิน ได้แก่ กุ้งแห้ง พริกไทย ซึ่งจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว
อาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- อาหารที่แม่ลูกอ่อนห้ามกิน ได้แก่ ผักตำลึง น้ำร้อน ฟักทอง ชะอม อาหารทะเล กระถิน ปลาชะโด สัตว์ป่า ปลาหางแดง และข้าวเหนียว
- อาหารที่แม่ลูกอ่อนควรกิน ได้แก่ ข้าวกับเกลือ
อาหารแม่ลูกอ่อนห้ามกิน – ภาคกลาง
- อาหารที่แม่ลูกอ่อนห้ามกิน ได้แก่ ปลามีเกล็ด อาหารทะเล ชะอม อีเก้ง เต้า ปลาไหล ปลาดุก ไม่เช่นนั้นจะทำให้เป็นไข้ได้ นอกจากนี้ยังมีไข่เป็ด ไข่ไก่ เพราะจะทำให้แผลหายช้า มีเนื้อหมูป่า ปลาบู่ ปลาไหล ปลาเกล็ดดำ ข้าวเหนียวดำ เห็ดโคน ถั่วฝักยาว ผักแว่น สะเดา มะรุม หน่อไม้ดอง แตงโม ส้มตำ และแกงบอน เป็นต้น
- อาหารที่แม่ลูกอ่อนควรกิน ได้แก่ ปลาปิ้ง และข่าจิ้มเกลือ
สิ่งที่แม่ลูกอ่อนควรทำในเดือนแรก
พักผ่อนให้เพียงพอ
เพราะหลังคลอดคุณแม่ต้องดูแลทั้งตัวเองและลูกน้อย เรียกได้ว่าอย่างหนักเลย ไม่จะเป็นเรื่องของแผลผ่าคลอด หรือเรื่องอาหาร รวมถึงเรื่องของการนอนน้อย เนื่องจากต้องให้นมลูกทุก ๆ 3 ชั่วโมง ดังนั้น หากพอมีเวลาที่งีบได้ ควรงีบค่ะ
เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ
คุณแม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อและฝีเย็บหายเร็ว ไม่ต้องกังวลเรื่องแผลแตก ให้ทำอย่างช้า ๆ เนื่องจากบางครั้งหากคุณแม่ลุกเร็วเกินไปอาจมีอาการเวียนศีรษะได้ เมื่อลุกแล้วควรหยุดนิ่งซักพักหนึ่งก่อน แล้วค่อยเดินต่อค่ะ
ออกกำลังกายเบา ๆ
หรือจะเรียกว่ายืดเส้นยืดสายก็ได้ค่ะ ไม่ต้องหนักมาก แต่ทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติเหมือนก่อนท้องได้อย่างเร็วที่สุด ส่วนคุณแม่บางรายที่ผ่าคลอด ควรรอให้ครบซัก 20 หรือ 3 สัปดาห์ขึ้นไปเสียก่อนนะคะ ถึงเริ่มออกกำลังกายเบา ๆ ได้
หมั่นทำความสะอาดแผลผ่าคลอด
ด้วยน้ำอุ่น และสบู่ ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด หลังจากนั้นให้ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง ซึ่งจะทำให้แผลสมานกันได้เร็ว
กินธาตุเหล็กตามแพทย์สั่ง
ยาที่คุณแม่ควรกินต่อก็คือ ธาตุเหล็ก เนื่องจากคุณแม่ต้องเสียเลือดในขณะคลอด ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์นะคะ
กินอาหารที่ย่อยง่าย
กินอาหารที่ย่อยง่าย เป็นมิตรกับกระเพาะ รสไม่จัด แต่ควรมีกากใยอาหารสูงซักหน่อย เพื่อลดอาการท้องผูก เลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง และไขมัน
ครบ 1 เดือนค่อยมีเพศสัมพันธ์
ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลต่อแผลเย็บได้
พบแพทย์หากมีอาการผิดปกติ
คุณแม่ควรไปหาแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ซึ่งถ้าพบอาการผิดปกติก่อนวันนัด เช่น มีไข้ เต้านมอักเสบเป็นไตแข็ง หรือเจ็บแผลตรงฝีเย็บมากผิดปกติ แผลบวมแดงหรือมีหนอง น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น มีเลือดออกทางช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด และปวดท้อง ควรไปพบแพทย์ทันที
การดูแลร่างกายของคุณแม่ลูกอ่อนเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ เรื่องความสะอาด และเรื่องของอาหาร เพราะคุณแม่ลูกอ่อนต้องให้นมลูกน้อย ดังนั้น ก่อนจะกินอาหารอะไรหากไม่แน่ใจว่าจะส่งต่อน้ำนม ทำให้น้ำนมหดหรือไม่ แบบนี้อาจเลี่ยงไปก่อนก็จะดีค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง rcpsycht.org