Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

8 เรื่องที่แม่กังวลเรื่องน้ำนมแม่ เรื่องเต้านม แก้ไขได้

8 เรื่องที่แม่กังวลเรื่องน้ำนม เรื่องเต้านม แก้ไขได้

แม่ทุกคนเมื่อมีลูกก็อยากจะให้ลูกได้ทานนมแม่กันทั้งนั้นค่ะ ซึ่งเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มีเรื่องต้องให้กังวลกันเป็นระยะไม่ว่าจะเรื่องของน้ำนมเอง หรือเรื่องของเต้านมคุณแม่เอง โน้ตเชื่อว่าแม่ทุกคนคงเคยเจอปัญหาที่โน้ตกำลังจะพูดถึงในวันนี้กันมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ทั้งระยะก่อนให้นมและระยะระหว่างให้นม ซึ่งแต่ละปัญหามีทางแก้ค่ะ

8เรื่องที่แม่ให้นมกังวล

หัวนมบอดหรือบุ๋ม

วิธีเช็คว่าคุณแม่หัวนมบอดหรือไม่ ให้คุณแม่ใช้สองนิ้ววางที่ลานนม แล้วกดลง ถ้าหัวนมจมลงตามลานนมแทนที่หัวนมจะโผล่ขึ้นมา แบบนี้แสดงว่า “หัวนมบอด” ซึ่งมี

วิธีแก้ไข 2 วิธี

จิ้ม-กด-ดึง
ใช้นิ้วชี้สองข้างแตะที่ลานนมข้างหัวนม กดนิ้วชี้ลงดึงแยกออกด้านข้าง แล้วปล่อย ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
บีบ-ดึง-ปล่อย
ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้คีบหัวนมเบาๆ ค่อยๆ ดึงหัวนมออก 2-3 ครั้ง แล้วปล่อยหัวนมกลับ

คัดเต้านมมาก

แสดงว่าคุณแม่มีปริมาณน้ำนมมาก จึงทำให้เต้านมแข็งและเจ็บหลังคลอดจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน กว่าทารกจะทานนมได้สัมพันธ์กับนมแม่ที่ผลิตออกมา แต่การให้ทารกเข้าเต้าในขณะที่นมแข็งนั้น จะทำให้ทารกดูดได้ลำบาก

วิธีแก้ไข

บีบนมหรือปั๊มนมออกส่วนหนึ่งก่อน เพื่อให้เต้านมนิ่มลง ทารกก็จะดูดง่ายขึ้น และควรให้ลูกดูดกระตุ้นบ่อยๆ นะคะ เพื่อป้องกันปัญหาเต้านมคัดและยังเป็นการกระตุ้นการผลิตน้ำนมของคุณแม่ได้อีกด้วย

เจ็บหัวนม

คุณแม่ที่เพิ่งนมลูกคนแรกจะเป็นกันเยอะค่ะ หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ลูกคนแรก อาจต้องเช็คดูว่าลูกน้อยดูดนมถูกต้องหรือเปล่า

วิธีแก้ไข

หากลูกน้อยงับแค่หัวนม ให้คุณแม่ปรับท่าของลูกโดยการดึงคางลูกเบาๆ เพื่อให้เค้าปล่อยเต้าก่อน แล้วเปลี่ยนมาให้ลูกน้อยงับเต้าเข้าไปลึกหน่อย โดยให้ส่วนจมูกและคางของลูกสัมผัสผิวเต้านมของคุณแม่ เรียกได้ว่าถ้าลูกดูดถูกท่า เราจะเห็นลานนมแค่เพียงนิดเดียว

**หรือถ้าลูกน้อยดูดถูกท่าแล้วแต่แม่ก็ยังเจ็บอยู่ เป็นไปได้ว่าหัวนมคุณแม่จะแห้ง แบบนี้ควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดๆ และงดการถูสบู่ที่หัวนมค่ะ

หัวนมแตก

ข้อนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ เร่งปั๊มนม (ส่วนใหญ่จะเป็นระบบปั๊มมือ) ปั๊มนมผิดวิธี หัวนมแห้ง แต่ส่วนใหญ่ที่พบมักมาจากการให้ลูกดูดผิดวิธี เช่น ลูกงับแค่หัวนม ไม่ถึงลานนม

วิธีแก้ไข

หากเกิดจากลูกดูดผิดวิธี ให้เช็คท่าที่ลูกดูดให้ถูกต้องทุกครั้ง โดยให้ลูกงับเต้าถึงลานนม คุณแม่อาจสลับข้างกันดูด และเมื่อลูกหิวน้อยลง ลูกก็จะดูดได้นิ่มนวลขึ้น

ท่อน้ำนมอุดตัน

ต่อมที่ผลิตท่อน้ำนมนั้นแบ่งออกเป็นกระเปาะ แต่ละกระเปาะจะลำเลียงน้ำนมมายังหัวนม หากมีกระเปาะใดกระเปาะหนึ่งไม่สามารถลำเลียงน้ำนมออกมาได้ อาจเพราะลูกดูดไม่ถูกวิธีก็ทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้ จะเกิดเป็นก้อนนุ่มในเต้านม

วิธีแก้ไข

  • ใช้ขนหนูอุ่นๆ ประคบรอบเต้านม เพื่อให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
  • ให้ลูกดูข้างที่อุดตันบ่อยขึ้น

เต้านมอักเสบ

เหตุเพราะท่อน้ำนมอุดตันแล้วไม่ได้รับการรักษา ส่วนใหญ่คุณแม่จะมี 2 อาการจากนี้เป็นอย่างน้อย

  • เต้านมร้อน ไวต่อการกระตุ้น และรู้สึกเจ็บ
  • มีปื้นแดงบริเวณผิว และเจ็บเมื่อสัมผัส
  • รู้สึกเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่
  • มีไข้สูง

วิธีแก้ไข

  • ตรวจสอบท่ากินนมของลูกว่าถูกต้องหรือไม่ โดยคุณหมอสูตินรีเวช
  • ยังคงให้ลูกเข้าเต้าต่อไป
    ใช้ผ้าขนหนูอุ่นๆ ประคบรอบเต้านม อาบน้ำอุ่น หรือแช่น้ำอุ่นก็จะทำให้อาการดีขึ้น
  • พักผ่อนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • หากภายใน 12-24 ชม. อาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอ
  • ไม่ควรหยุดให้นมเอง เพราะอาจทำให้กลายเป็นฝีเต้านมได้

เชื้อราในปากลูก

สาเหตุการเจ็บเต้านม อาจมาจากเชื้อราในปากของลูกก็ได้ค่ะ หากเชื้อรานั้นรามไปที่หน้าอกของคุณแม่ คุณแม่จะมีอาการคันไม่หยุด แสบ ปวดระบม บางครั้งอาจพบเป็นผื่นแดง

วิธีแก้ไข

  • คุณหมอจะให้ยาต้านเชื้อราสำหรับทาบริเวณหัวนมของคุณแม่และในปากของลูกน้อย
  • คุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังให้นมลูกทุกครั้ง
  • หากภายใน 7 วัน อาการยังไม่ดีขึ้น ควรกลับไปปรึกษาคุณหมอค่ะ

ลูกหลับคาเต้า

เพราะการหลับคนเต้านั้น เด็กบางคนยังกินไม่อิ่มนะคะ เพียงแต่ความหิวของเค้ามันน้อยลง บวกกับความอบอุ่นจากคุณแม่จึงทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลายนั่นเอง ที่สำคัญ นมที่ค้างในปากอาจเป็นเหตุให้เกิดเชื้อราในปากลูกได้อีกด้วยค่ะ

วิธีแก้ไข

เมื่อคุณแม่สังเกตเห็นแล้วว่าลูกน้อยมีอาการเคลิ้มๆ หรือดูดนมน้อยลง ให้คุณแม่ร้องเพลง ชวนคุย หรือสะกิดใต้เท้าเค้าเบาๆ แล้วสลับมาดูดอีกข้างหนึ่งแทน ซึ่งเมื่อโตขึ้นเค้าจะตื่นได้นานขึ้นเองค่ะ คุณแม่ไม่ต้องกังวล

คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ควรกังวลนะคะ เพราะจะมีผลกระทบทำให้น้ำนมน้อยลง หรือหากมีปัญหาที่ไม่แน่ใจหรือคิดไม่ตก ควรปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุดค่ะ

อ้างอิง
honestdocs.co
rakluke.com