Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

หัวนมบอด ให้นมลูกได้ไหม?

หัวนมบอด ให้นมลูกได้ไหม?

ผู้หญิงเราตอนที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์ ก็ไม่ได้คิดอะไรหรอกค่ะกับเรื่องหัวนมบอด แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ตั้งครรภ์ หรือใกล้ที่คลอดเมื่อไหร่ล่ะก็ ปัญหา “หัวนมบอด” จะเริ่มเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นในหัวทันที เพราะคุณแม่หลาย ๆ คนกังวลไม่น้อยเลยทีเดียวเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่วันนี้คุณแม่ได้มาเจอกับบทความนี้แล้ว คลายความกังวลได้เลยค่ะ เพราะเรามีวิธีแก้ไขมาฝาก

หัวนมบอด คืออะไร?

ทั่วไปแล้วหน้าอกของคนเราประกอบไปด้วย ส่วนของเต้านม ลานนมซึ่งจะมีลักษณะเป็นขอบสีน้ำตาล และสุดท้ายคือ หัวนม โดยถ้าส่วนของหัวนมบุ๋มหรือยุบตัวลงไป จนเหมือนไม่มีหัวนม ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “หัวนมบอด” นั่นเองค่ะ
ซึ่งหัวนมบอดสามารถเกิดได้ทั้งชายทั้งหญิงค่ะ และถ้าจะเกิดขึ้นแล้วมักพบได้ตั้งแต่ตอนแรกเกิด โดยสาเหตุที่ทำให้หัวนมบอด คือ พื้นที่บริเวณฐานของหัวนมนั้นน้อยเกินไป มีท่อน้ำนมที่สั้นกว่าปกติ รวมไปถึงการมีพังผืดบริเวณรอบ ๆ ส่งผลให้เกิดการดึงรั้งของหัวนม ทำให้หัวนมบุ๋มลงไปหรือถ้าจะโผล่ขึ้นมาสักพักก็จะบุ๋มกลับลงไปอีก

ลักษณะหัวนมบอด

หัวนมบอดมีอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ ตามความรุนแรงของการยุบของหัวนม

หัวนมบอดขั้นต้น

สำหรับขั้นต้นนี้ ลักษณะของหัวนมจะมีการยุบตัวลงไปเล็กน้อย เรายังสามารถใช้มือดึงขึ้นมาได้ หรือในบางกรณีหัวนมก็สามารถยื่นออกมาได้หากได้รับการกระตุ้น เช่น การสัมผัส การดูด หรือเมื่อเจอกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น หัวนมบอดในขั้นนี้ คุณแม่ยังสามารถให้นมลูกได้นะคะ และสามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยการหมั่นดึงหัวนมบ่อย ๆ

หัวนมบอดชั้นกลาง

เป็นลักษณะที่หัวนมบุ๋มหรือยุบตัวลงไป ซึ่งดึงขึ้นมาค่อนข้างลำบาก หรือเมื่อดึงออกมาแล้ว หัวนมสามารถอยู่ได้แค่เพียงชั่วคราว หัวนมก็จะกลับยุบตัวลงไปเหมือนเดิม ลักษณะหัวนมบอดขั้นกลางนี้ คุณแม่บางคนยังสามารถให้นมลูกได้ แต่ยกเว้นว่าคุณแม่ที่มีปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่น ปัญหาท่อน้ำนมสั้น อาจต้องใช้อุปกรณ์ที่แก้ไขหัวนมบอดเข้ามาเป็นตัวช่วยค่ะ

หัวนมบอดขั้นรุนแรง

สำหรับขั้นนี้เป็นปัญหาหัวนมบอดขั้นรุนแรง หัวนมยุบตัวถาวร แม้จะใช้วิธีการดึงก็ไม่ขึ้น สาเหตุของคุณแม่ที่หัวนมบอดขั้นรุนแรงคือ ท่อน้ำนมเกิดการรั้งตัวและขดอยู่ด้านใน ถ้าในขั้นนี้คุณแม่จะไม่สามารถให้นมลูกได้ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและให้การรักษากับคุณแม่ก่อนการผ่าตัดค่ะ

วิธีตรวจสอบหัวนมบอดด้วยตัวเอง

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณแม่หลายคนอาจเริ่มกังวลว่า เอ…เราจะหัวนมบอดไหม? ถ้าบอด…จะบอดในขั้นไหน? เรามีวิธีตรวจสอบมาฝากค่ะ
ให้คุณแม่ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้คีบหัวนมออกมา ถ้าหัวนมสามารถโผล่ขึ้นมาได้ แสดงว่าหัวนมคุณแม่ปกติค่ะ แต่ถ้าหากไม่โผล่ออกมา ซึ่งลองทำหลายครั้งแล้วหัวนมก็ยังไม่โผล่ออกมา แต่ไม่ถึงกับยุบตัวลงไปต่ำว่าเต้านม แบบนี้เรียกว่า “หัวนมแบน” แต่ถ้าหัวนมยุบตัวลงไปหรือบุ๋มลงไป แบบนี้เรียกว่า “หัวนมบอด
หัวนมบอดไม่ใช่โรคหรืออาการที่ร้ายแรงค่ะ เพราะว่าเรายังสามารถใช้อุปกรณ์ช่วยได้หรืออาศัยวิธีการทางการแพทย์เข้าไปแก้ไข คุณแม่ยังสามารถให้นมลูกได้ตามปกติค่ะ ไม่ต้องกังวลไป ปัญหาหัวนมบอดเป็นเพียงความผิดปกติจากภายนอกค่ะ ไม่ได้ส่งผลต่อปริมาณน้ำนมแต่อย่างใด

วิธีแก้ไขปัญหาหัวนมบอด

การแก้ไขปัญหาหัวนมบอดด้วยตัวเองสามารถทำได้ดังนี้ค่ะ

วิธีที่ 1 – กด – จิ้ม – ดึง

  1. ใช้นิ้วชี้ทั้งสองข้าง แตะที่ลานนมใกล้กับหัวนม
  2. กดนิ้วลงที่ลานนม จากนั้นค่อย ๆ ดึงแยกออกจากกันไปด้านข้าง แล้วปล่อยกลับ
  3. ทำซ้ำสัก 2 – 3 ครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปหัวนมก็จะเริ่มโผล่ออกมา แต่สามารถทำซ้ำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าหัวนมจะโผล่ขึ้นมา

วิธีที่ 2 – บีบ – ดึง – ปล่อย

  1. ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้ง บีบที่หัวนมเบา ๆ
  2. ค่อย ๆ ดึงหัวนมออกมา
  3. ปล่อยมือจากหัวนม ทำซ้ำสัก 2 – 3 ครั้ง

ปัญหาหัวนมบอดโดยเฉพาะหัวนมบอดในลักษณะของ 2 แบบข้างต้น คุณแม่ยังสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองและปัญหาหัวนมบอดไม่เกี่ยวกับปริมาณน้ำนมแต่อย่างใด ซึ่งคุณแม่ยังคงสามารให้นมลูกได้ตามปกติ ยกเว้นว่าถ้าคุณแม่พยายามแก้ไขปัญหาหัวนมบอดด้วยตัวเองแล้วแต่ก็ยังไม่สำเร็จ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไปนะคะ