Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

น้ำนมแม่…ผลิตมาได้อย่างไร?

น้ำนมแม่…ผลิตมาได้อย่างไร?

การันตีได้เลยว่าทุกคนทราบกันดีว่า “น้ำนมแม่” นั้นมีประโยชน์มหาศาล เราทราบกันดีว่าอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไปนั้นบางอย่าง บางส่วนจะถูกส่งต่อถึงลูกผ่านมายังน้ำนมแม่ แต่…เราเคยฉุกคิดกันไหมคะว่า “กระบวนการผลิตน้ำนมของแม่เกิดมาได้อย่างไร?” กว่าจะกลั่นออกมาให้ลูกกิน วันนี้เราจะไปดูกันค่ะ

กระบวนการผลิตน้ำนมแม่

กระบวนการผลิตน้ำนมแม่นั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงด้วยกัน โดยน้ำนมจะเริ่มสร้างตั้งแต่ระยะที่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงระยะหลังคลอด เรามาดูกันทีละช่วงเลยค่ะ

ช่วง Lactogenesis I

ช่วงที่ 1 นี้เป็นช่วงที่นมแม่เริ่มสร้างฮอร์โมน โดยจะเริ่มตั้งแต่ระยะการตั้งครรภ์ประมาณ 16-22 สัปดาห์ไปจนถึงวันแรกหลังการคลอด ร่างกายคุณแม่จะเริ่มผลิต “หัวน้ำนม หรือ Colostrum” แต่ในปริมาณที่น้อยนิด

ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของระยะตั้งครรภ์นี้ น้ำนมจะถูกสร้างจากการกระตุ้นของฮอร์โมน Estrogen, Progesterone, Prolactin, HPL และยังมีฮอร์โมนอื่นๆ ร่วมด้วย ในระยะนี้เต้านมของคุณแม่จะมีท่อนมงอกและแตกแขนงที่ตรงส่วนปลายท่อ ซึ่งจะกลายเป็นต่อมน้ำนมมารวมกัน

ต่อมาในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 ฮอร์โมน HPL จะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำนมช่วงแรกแต่ยังไม่มีน้ำนมไหลออกมา จนกระทั่งช่วงของการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 ต่อมน้ำนมและขนาดเต้านมของคุณแม่เริ่มขยายขนาดมากขึ้น หากช่วงนี้จะมีน้ำนมที่ไหลออกมาบ้างในปริมาณที่เล็กน้อยก็ไม่ต้องตกใจนะคะ เป็นเรื่องปกติ

ช่วง Lactogenesis II

หรือ “ช่วงน้ำนมหลังคลอด” น้ำนมส่วนนี้จะเกิดขึ้นหลังการคลอดประมาณ 30-40 ชม.โดยฮอร์โมน Prolactin จะทำหน้าที่กระตุ้นให้มีการผลิตน้ำนมมากขึ้นภายใน 2-3 วันหลังคลอด

คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าเต้านมนั้นตึงมากขึ้น นั่นก็เป็นเพราะว่าเต้านมมีการผลิตน้ำนมมากขึ้นและมีการไหลเวียนของเลือดในเต้านมมากขึ้น จึงทำให้คุณแม่ส่วนใหญ่รู้สึกว่า “น้ำนมมาแล้ว” หลังจากคลอดแล้ว 2-3 วัน และหลังจากนั้นประมาณ 3-4 วัน น้ำนมจะผลิตได้มากหรือน้อยอย่างต่อเนื่อง ก็ขึ้นอยู่กับการดูดของทารกและการนำน้ำนมออกมาจากเต้าแล้วล่ะค่ะ

**ใน 2 ช่วงแรก กระบวนการการผลิตของน้ำนมจะเกิดขึ้นจากการกระตุ้นของฮอร์โมนนะคะ โดยไม่ว่าลูกจะดูดหรือไม่ก็ตาม ร่างกายก็จะยังคงผลิตน้ำนมได้เองโดยธรรมชาติค่ะ**

ช่วง Galactopoiesis

ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะช่วงนี้น้ำนมไม่ผลิตออกมาจากการกระตุ้นของฮอร์โมนอย่างเดียวแล้วค่ะ แต่…สำคัญตรงที่ว่าคุณแม่ต้องกระตุ้นการผลิตน้ำนมโดยการดูดของลูก การบีบนมออกมาด้วยมือหรือจะเครื่องปั๊มนมก็ได้ค่ะ

เพราะฉะนั้นแล้ว ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอดจึงสำคัญมาก เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะประสบความสำเร็จอย่างง่ายดายหรือยากลำบากจะอยู่ที่ช่วงนี้ค่ะ ยิ่งถ้าคุณแม่สามารถนำน้ำนมออกมาได้มากเท่าไหร่ ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมได้มากเท่านั้น

ซึ่งหากคุณแม่รู้สึกว่าน้ำนมนั้นยังน้อยอยู่ ยิ่งต้องให้ลูกดูดกระตุ้นบ่อยขึ้นนะคะ ไม่ใช่การให้นมผงเสริม เพราะจะเป็นการแทรกแซงกลไกธรรมชาติของกระบวนการการผลิตน้ำนม แถมเป็นการซ้ำเติมให้นมแม่ยิ่งมาช้าและน้อยลงกว่าเดิม

ทั้งนี้ วิธีที่จะเร่งให้น้ำนมมาเร็วและเยอะก็คือ คุณแม่ต้องมีวินัย พยายามนำน้ำนมออกมาจากร่างกายให้ได้มากที่สุด ด้วยการให้ลูกดูดอย่างถูกวิธีบ่อยๆ

แต่ด้วยความที่ใน 2-3 วันแรก ทารกจะนอนหลับเป็นส่วนใหญ่ คุณแม่เองก็อาจเพลียจากการคลอด การมีเครื่องปั๊มนมก็จะเป็นตัวช่วยในการนำน้ำนมออกมาจากร่างกายได้อย่างดีเลยค่ะ เพราะถ้ารอให้ลูกดูดอย่างเดียวน้ำนมอาจผลิตได้น้อย

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ คุณแม่บางท่านอยากให้มีน้ำนมออกเยอะๆ ใช้เครื่องปั๊มมือ เร่งบีบและใช้แรงเยอะ สิ่งนี้อาจทำให้คุณแม่เจ็บเต้านมหรือหัวนมแตกได้ เมื่อถึงเวลาที่ลูกจะดูดกลับดูดไม่ได้เพราะเต้านมของคุณแม่เจ็บซะก่อนแล้ว

ได้รู้กันแบบนี้แล้วว่าน้ำนมนั้นมีกระบวนการผลิตอย่างไร และการที่จะกระตุ้นให้มีน้ำนมมากๆ อย่างถูกวิธีต้องทำอย่างไร คุณแม่ก็ใจเย็นๆ พักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ กระตุ้นการผลิตน้ำนมอย่างค่อยเป็นค่อยไปนะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ