คุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านหลังคลอดลูกมาได้แล้ว 3 เดือน ต้องกลับไปทำหน้าที่อีกบทบาทหนึ่งแล้ว แต่บทบาทหนึ่งซึ่งเป็นอาชีพที่ลาออกไม่ได้นั่นก็คือ “หน้าที่ของแม่” นั่นเอง หลักๆ จะเป็นเรื่องของการเตรียมนมแม่ การสต๊อกนมแม่เอาไว้ให้ลูกทาน ขณะที่คุณแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่…จะมีวิธีการปั๊มนมและการเก็บสต๊อกนมอย่างไรบ้าง จะมีรายละเอียดมากน้อยแค่ไหนไปดูกันเลยค่ะ
สารบัญ
อุปกรณ์ในการปั๊มนม และเก็บนม
เครื่องปั๊มนม
มีหลายแบบให้เลือกค่ะ ทั้งแบบไฟฟ้า แบบใช้แบตเตอรี่ แบบปั๊มมือธรรมดา (Manual) หรือมือของคุณแม่เอง เลือกได้ตามถนัดเลยค่ะ
ถุงเก็บนม
สำหรับถุงเก็บน้ำนมนี้ แนะนำว่าควรเลือกถุงที่…
- มีซิปล็อค 2 ชั้น
- สามารถทนต่อความเย็นที่ติดลบได้
- มีแถบเพื่อให้คุณแม่ได้เขียนวันเวลาและปริมาณน้ำนมได้
ตู้เย็นใบเล็ก
สำหรับเก็บสต๊อกน้ำนมที่บ้าน
กระติกน้ำแข็ง
กรณีที่ต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน
เคล็ด…ไม่ลับ กับการทำสต๊อกนม
มาเริ่มกันเลยค่ะ
เริ่มปั๊มนมตั้งแต่เช้า (ถึงเช้ามากๆ)
การปั๊มนมที่บอกว่าต้องเช้าถึงเช้ามากๆ นั้น ก็คือ ประมาณ ตี 5 – 6 โมงเช้า เพราะเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่จะมีปริมาณน้ำนมเยอะมากที่สุด
ถ้าตื่นก่อนลูก
ถ้าคุณแม่ตื่นก่อนลูก ให้คุณแม่ปั๊มนมข้างขวาออกข้างหนึ่งก่อนและเหลือทิ้งไว้ที่เต้าเล็กน้อย เมื่อลูกจะดูดให้ดูดข้างซ้ายที่ยังมีเต็ม ดูดจนพอใจ แล้วค่อยมาข้างขวาที่คุณแม่ปั๊มออก ระหว่างนี้ให้คุณแม่ปั๊มนมข้างซ้ายออกต่อซัก 2-3 นาที เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนม
ถ้าลูกตื่นก่อน
ให้ลูกดูดนมข้างหนึ่งจนพอใจ ระหว่างนี้คุณแม่ก็ปั๊มนมข้างที่ลูกไม่ได้ดูด เหลือไว้เล็กน้อย แล้วย้ายกลับมาปั๊มข้างที่ลูกดูดไปแล้ว เพื่อเป็นการกระตุ้น
ลูกจองสองข้าง
ลูกบางคนชอบดูดนมแบบเต็มเต้า ถ้าเป็นอย่างนั้น ให้ลูกดูดไปก่อนเลยค่ะทั้งสองเต้า แล้วคุณแม่ค่อยมาปั๊มออกหลังจากลูกทานแล้ว เพื่อไม่ให้นมค้างเต้า และเพื่อเป็นการกระตุ้นค่ะ
สามารถปั๊มนมเก็บสต๊อกระหว่างวันได้
…ด้วยการปั๊มนมประมาณ 15-20 นาที หลังลูกดูดเสร็จในแต่ละมื้อ ทำเป็นประจำทุกวัน ร่างกายจะปรับและรับรู้ว่าต้องผลิตน้ำนมเพิ่ม ทีนี้แหละ…คุณแม่สามารถเปิดฟาร์มนมแม่ได้เลยค่ะ
ดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้มากๆ
คุณแม่ควรดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้ได้อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน หรือมากกว่านี้ยิ่งดีค่ะ รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ จะได้มีน้ำนมเพียงพอในการเลี้ยงลูกค่ะ
ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
ต้องบอกว่าหลังให้นมลูกนั้น คุณแม่จะหิวถึงหิวมาก เรียกว่าทานวัวได้ทั้งตัวเลยทีเดียว แต่…อย่าทานเนื้อวัวอย่างเดียวนะคะ เพราะร่างกายของคุณแม่ยังต้องการสารอาหารที่หลากหลายอยู่เพื่อช่วยในการผลิตน้ำที่ดีให้กับลูก คิดก่อนกินนะคะ
หากอยู่ที่ทำงาน ควรมีวินัยในการปั๊มนม
แม้คุณแม่อยู่ที่ทำงานก็สามารถปั๊มนมให้ลูกน้อยได้ แต่ต้องทำเวลาเดิมทุกๆ วัน ทุกๆ 3 ชม. เช่น เช้าให้ลูกเข้าเต้าก่อน เมื่อมาถึงที่ทำงานก็ปั๊มออกเวลา 10:00 น. / 13:00 น. / 16:00 น. เป็นต้น แล้วเก็บใส่ถุงซิปล็อคแช่ตู้เย็น และนำใส่กระติกน้ำแข็งเวลาเดินทางกลับบ้าน หากเป็นวันหยุด ควรให้ลูกเข้าเต้านะคะ เพื่อเป็นการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง และสานใยรักระหว่างแม่กับลูกค่ะ
ว่าด้วยเรื่องปริมาณของนมแม่ แรกๆ อาจจะยังมาน้อย ยิ่งเป็นส่วนของ “น้ำนมเหลือง (Colostrum)” ด้วยแล้วล่ะก็…วันแรกๆ มาไม่มี 1 cc หรือประมาณ 1-2 หยดเองค่ะ แต่หากคุณแม่ปั๊มบ่อยๆ ขยัน มีวินัยในการปั๊ม รับรองน้ำนมจะผลิตเยอะขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วจนลูกทานแทบไม่ทันกันเลยทีเดียว ที่สำคัญ อย่างกังวลหรือเครียดนะคะ เพราะน้ำนมจะลดลงค่ะ
“ไม่มีอะไรที่ง่ายเกินไป ไม่มีอะไรยากเกินไป หากตั้งใจและลงมือทำ” เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านค่ะ