Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิคการเลือกกุมารแพทย์ที่ดูแลลูก และเน้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจเพลินอยู่กับการช้อปข้าวของเครื่องใช้ให้ลูก และคิดอยู่กับเรื่องการคลอดจนลืมคิดไปว่า หลังจากที่คุณแม่คลอดน้องแล้ว ผู้ที่จะรับช่วงดูแลน้องต่อคือ กุมารแพทย์ ไม่ใช่สูติแพทย์ท่านเดิมแล้ว คำถามคือ

ทำไมต้องซีเรียสในการเลือกกุมารแพทย์ขนาดนั้น?

…ก็เพราะว่า เด็กทารกควรได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่าจริงจัง ซึ่งบางครั้งการให้นมของคุณแม่อุปสรรคมากมาย อาทิ หัวนมบอด ท่อนมอุดตัน หัวนมแตก น้ำนมไหลไม่เท่ากัน ลูกกินได้แต่หัวน้ำนมจึงทำให้ลูกหิวเร็ว ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ที่คุณแม่ต้องเจอ หากได้รับคำแนะนำแบบไม่ถูกวิธี อาจกลายเป็นต้องให้นมผสมกับลูกควบคู่ไปกับการให้นมแม่ก็เป็นได้ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจมีทางออกที่ดีกว่านั้น อ้อ…ถ้าคุณแม่ไม่ได้ระบุกุมารแพทย์ไว้ล่วงหน้า ทางโรงพยาบาลก็จะรันคุณหมอตามคิวนะคะ

แล้วเทคนิคในการเลือกกุมารแพทย์ที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

สารบัญ

เทคนิคการเลือกกุมารแพทย์

ก่อนอื่นต้องย้ำกันอีกซักนิดนะคะ ว่ากุมารแพทย์ที่คุณแม่จะเลือกเพื่อเป็นคุณหมอประจำตัวลูกนั้น ควรเน้นกุมารแพทย์ที่มีการสนับสนุนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง ถึงแม้กุมารแพทย์ส่วนใหญ่จะพูดตรงกันว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็จะเป็นในลักษณะที่ไม่มีปัญหาในเรื่องของน้ำนม แต่หากเกิดปัญหาขึ้นเมื่อไหร่ ส่วนใหญ่ก็แนะนำให้หย่านม และให้เป็นนมผสมช่วย ทีนี้เรามาดูกันค่ะว่า เทคนิคที่จะใช้ในการพิจารณาเลือกกุมารแพทย์นั้นมีอะไรบ้าง

เราจะไม่เลือกกุมารแพทย์ที่ปฏิบัติดังนี้ค่ะ

แพทย์ให้ตัวอย่างนมผสมที่แจกฟรีกับคุณแม่

นับเป็นสุดยอดทางการตลาดอีกอย่างหนึ่งโดยผ่านทางกุมารแพทย์ เพราะดูมีความน่าเชื่อถือที่สุด แต่หากแพทย์ท่านนั้นมีการส่งต่อตัวอย่างนมผสมพร้อมทั้งเอกสารแนะนำคุณสมบัติของนมสมยี่ห้อนั้นโดยบอกว่านมผสมของเค้าไม่ต่างจากนมแม่ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

แพทย์ท่านนั้นบอกว่า “นมผสมกับนมแม่ก็เหมือนกัน

จริงอยู่ที่ไม่ว่าทารกจะกินนมแม่หรือนมผสม ต่างก็เติบโตได้เหมือนกัน แต่…นมผสมก็ต่างกับนมแม่อยู่ดี เพราะส่วนประกอบหลายชนิดที่มีในนมแม่ แต่ไม่มีในนมผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิคุ้มกันและเซลล์ที่ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อโรคในทารก

แพทย์แนะนำนมผสมยี่ห้อ XXX ให้กับคุณแม่

แม้ในปัจจุบันก็ยังไม่มีการพิสูจน์และยืนยันได้ว่า “นมผสมยี่ห้อใดดีที่สุด” นมผสมยี่ห้อที่ดีที่สุด หรือแพงที่สุดก็ยังมีความเสี่ยงของทารกไม่ต่างจากนมผสมยี่ห้ออื่นที่ราคาถูกกว่า ซึ่งความนิยมของนมผสมแต่ละยี่ห้อนั้น เป็นผลพวงมาจากการตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งสิ้น

แพทย์แนะนำให้คุณแม่พักก่อน ไม่ต้องให้ลูกรีบมาดูดนม

แม้จะไม่จำเป็นจริงๆ แต่การให้ลูกมาดูดนมแม่ทันทีหลังคลอดนั้น จะเป็นประโยชน์อยากมากในการช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นได้ด้วยดี ทารกจะมีการตื่นตัวและตอบสนองต่อแรงกระตุ้นในการดูดนมแม่อย่างเต็มที่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด การดูดนมแม่จะทำให้มดลูกบีบตัว และยังช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน Oxytocin (ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน) ส่งผลให้คุณแม่ผูกพันกับลูกน้อย และน้ำนมจะมาเร็ว

แพทย์แนะนำให้ลูกดูดขวดเร็วๆ เพื่อจะได้ไม่ปฏิเสธขวดภายหลัง

เพราะการดูดนมจากขวดนั้นง่ายกว่า และน้ำนมไหลได้สม่ำเสมอกว่า หากทารกได้ดูดเพียงครั้งหรือสองครั้ง ทารกก็จะปฏิเสธการดูดนมแม่แล้วค่ะ เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่า

แพทย์แนะนำให้หยุดให้นมแม่ เนื่องจากแม่หรือลูกไม่สบาย

ความจริงจะมีน้อยกรณีมากที่จะหยุดให้นมแม่เนื่องจากคุณแม่หรือลูกไม่สบาย เพราะแพทย์สามารถเลือกใช้ยาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้นมแม่ได้

แพทย์แปลกใจว่าทำไมลูก 6 เดือนแล้วแต่ยังให้นมแม่อยู่

แพทย์จำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนให้ทารกกินนมแม่จนอายุครบ 1 ปี หรือนานกว่า ดังนั้น การที่แพทย์ไม่เห็นด้วยกับการให้นมแม่ แม้ลูกอายุ 6 เดือนนั้น ดูจะไม่มีตรรกะอะไรมาสนับสนุน

แพทย์บอกว่าหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว นมแม่ไม่มีประโยชน์

ไม่ว่าจะเวลาจะเนิ่นนามเท่าไหร่ นมแม่ก็ยังเป็นนมแม่ที่มี ไขมัน โปรตีน พลังงาน วิตามิน และภูมิคุ้มกัน แอนติบอดี้ที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคให้กับลูกได้ตลอดเวลา ภูมิคุ้มกันบางอย่างมีมากกว่าช่วงแรกด้วยซ้ำ

แพทย์แนะนำว่า “ไม่ควรให้ลูกหลับคาอกแม่

การที่ลูกหลับได้เองโดยที่ไม่ต้องดูดนมแม่ก็เป็นเรื่องดีค่ะ แม่เหนื่อยน้อยหน่อย แต่การที่ลูกหลับคาอกก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด กลับดีเสียด้วยซ้ำ ลูกก็อบอุ่น แม่ก็อบอุ่น

แพทย์แนะนำให้คุณแม่กลับบ้านก่อน แล้วให้ลูกอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาล

หากทารกแรกคลอดยังไม่แข็งแรงพอ แพทย์ที่สนับสนุนการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างจริงจังจะแนะนำให้ลูกกินนมแม่ จะช่วยเหลือในการให้ลูกได้ดูดนมแม่ก่อน เพราะนมแม่จะทำให้ลูกแข็งแรงเร็วขึ้น

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นอะไรที่ดีที่สุดแล้วค่ะ แล้วยิ่งถ้าหากเราได้กุมารแพทย์ที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง พร้อมให้คำแนะนำปรึกษา การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

อ้างอิง breastfeedingthai.com