Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปนานๆ ต้องรับมือกับปัญหาเหล่านี้ให้ได้

วันนี้จะชวนบรรดาคุณแม่ลูกอ่อนทั้งหลาย ที่ตั้งปณิธานว่าจะให้นมแม่แก่ลูกน้อยไปนานๆ มาดูวิธีรับมือกับปัญหาที่จะต้องเจอขณะให้นมแม่กันค่ะ อย่างว่าแหละค่ะ มารไม่มีบารมีไม่เกิดนะจ๊ะ อุปสรรคในเส้นทางนมแม่นั้นมี 108 อย่าง แต่ละคนก็จะเจอแต่ละปัญหาไม่เหมือนกัน แต่จะพาไปดูปัญหาเบสิคๆ กันจะได้แก้ได้ไม่จิตตกกันค่ะ

ลูกติดเต้าไม่เอาขวด แม่จะไปไหนก็ลำบาก

จริงๆ แล้วการที่ลูกติดเต้านั้น ย่อมดีกว่าการที่ลูกติดขวดนะคะ เพราะการได้ดื่มนมจากอกแม่นั้น นอกจากจะได้นมที่สดใหม่ ยังเป็นการสานสายใยรักระหว่างแม่ลูกได้ดี ตาประสานตา สัมผัสอกอุ่น คุณแม่ลองคิดดูสิคะว่าเราจะได้กอดลูกน้อยแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน อีกหน่อยเขาก็จะเติบโตจนไม่สามารถมาทำเช่นนี้ได้อีก ส่วนคุณแม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านอาจจะเผชิญปัญหาการที่ลูกติดเต้า แล้วไม่ยอมดูดขวด ก็จะเป็นกังวลว่าลูกจะไม่ยอมกินแล้วทำให้ขาดสารอาหารได้ วิธีแก้ปัญหาอย่างง่ายๆ คือในช่วงก่อนที่คุณแม่จะต้องกลับไปทำงานหลังจากลาคลอดมา 3 เดือนแล้ว อาจจะหาขวดนมเสมือนเต้านมแม่ ซึ่งก็มีหลายยี่ห้อให้เลือก ฟังก์ชั่นของขวดนั้นจะมีกลไกการทำงานที่เหมือนดื่มจากนมแม่ คือจะไม่ไหลเร็วจนเกินไป รวมถึงจุกแบบนิ่มฐานกว้างที่รองรับกับริมฝีปากลูก พอลูกกลับมาเข้าเต้าก็จะไม่เกิดความสับสนค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเกิดจากการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอนะคะ แรกๆ ก็อาจจะมีดราม่าได้ ทำใจให้สบายๆ อย่าเครียดจนเกินไป เดี๋ยวน้ำนมจะไม่ไหลนะคะ

ลูกติดขวด ไม่ดูดเต้า แล้วจะกระตุ้นให้น้ำนมไหลยังไงดี?

อันนี้ดูจะเป็นปัญหาที่อาจทำให้บางบ้านถึงกับยอมแพ้ แล้วเปลี่ยนไปให้นมผงเลยด้วยซ้ำ ก็เพราะการที่ลูกไม่ดูดเต้า ทำให้ไม่มีการกระตุ้นเต้านมทำให้สมองสั่งให้น้ำนมหยุดไหลเพราะคิดว่าหมดประโยชน์ไปโดยปริยาย เรื่องนี้อาจเกิดจากการที่บางบ้านเริ่มขวดให้ลูกเร็วเกินไปโดยเฉพาะเด็กแรกคลอดนั้น ไม่ควรให้ลูกดูดขวดก่อนที่จะเจอเต้านมแม่ ถ้าจำเป็นต้องป้อนนมผงในช่วงที่ยังดูดเต้าแม่ไม่ได้ หรือลูกยังดูดเต้าไม่เป็น ก็ควรจะป้อนด้วยช้อน หรือหลอดหยดก่อน แต่ถ้าผ่านไป 1-2 เดือนแล้ว ลูกเกิดรักขวดมากกว่าเต้าแม่จริงๆ คงต้องหาตัวช่วยแล้วล่ะค่ะ อาจลองเอาหลอดหยดดูดนมแม่แล้วหยดลงไปที่หัวนม เพื่อให้ลูกลองดูดดูว่านี่เต้าแม่ไง ดูดได้นะ หรือถ้าน้อยไปกลัวจะขาดตอน ให้ทำการต่อสายยางเล็กๆ แล้วพ่วงกับนมแม่จากภาชนะ จากนั้นทำการแปะไว้ที่หัวนมให้ลูกดูด เพราะวิธีนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าดูดแล้วนมมาเร็วขึ้นเหมือนกับขวดได้ สำหรับคุณแม่ท่านไหนที่ทำยังไงลูกก็ไม่เอาเต้าจริงๆ ก็ต้องพึ่งเครื่องปั๊มไว้นะคะ เพื่อน้ำนมจะได้ไหลอย่างต่อเนื่องมีให้ลูกกินได้ตลอด

หัวนมแตก

ปัญหานี้อาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว และไม่สบายใจที่จะให้นมแม่ต่อ เมื่อท่าดูดเต้าของลูกไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดปัญหานี้ได้ วิธีป้องกันง่ายๆ คือลองใช้ที่ครอบหัวนมแบบที่มีรูให้ลูกดูดได้ เพื่อลดการเสียดสี และหลังจากให้นมแล้ว ควรคงความชุ่มชื้นให้แก่หัวนม โดยอาจใช้นมแม่นั่นแหละทารอบหัวนม หรืออาจใช้เป็นขี้ผึ้งลาโนลินก็ได้ค่ะ

ลูกกัดหัวนม

เมื่อลูกเริ่มฟันขึ้น อาจทำให้คุณแม่เจ็บตัวได้ จะลองใช้ตัวครอบหัวนมป้องกันก็ได้นะคะ หรือถ้าลูกเริ่มจะพูดรู้เรื่องแล้ว ก็ต้องบอกให้ลูกรับรู้ถึงความเจ็บปวดของแม่ค่ะ
อุ้มลูกเข้าเต้าจนเจ็บข้อมือ
ถ้าคุณแม่อุ้มลูกแบบลงน้ำหนักไว้แต่ที่ข้อมือ เมื่อนานไปก็จะมีปัญหาในส่วนนี้ได้ แต่การเอาลูกเข้าเต้านั้นต้องอุ้มเป็นเวลานานในระยะนึงด้วย ดังนั้นควรจะหาหมอนหนุนตัวลูกเพื่อให้ตัวลูกเข้าเต้าได้พอดี หรืออาจให้ลูกนอนบนโต๊ะแล้วคุณแม่นั่งโดยให้เต้านมอยู่ในระยะพอดีกับปากลูก ก็จะทำให้คุณแม่ไม่ต้องเหนื่อย และท่านอนด้วยกันทั้งแม่ทั้งลูกก็ช่วยถนอมข้อมือคุณแม่ได้เช่นกันค่ะ

นมคัดตึงจนเต้าเป็นหนอง

อันนี้ต้องโทษที่วินัยในการปั๊มนมของคุณแม่แล้วละค่ะ ถ้าตกรอบปั๊มเมื่อไหร่ หรือลูกดูดไม่เกลี้ยงเต้าแล้วไม่รีบเคลียร์ให้หมด จะสะสมจนเกิดเป็นหนองติดเชื้อได้ ก็จะทำให้ต้องหยุดให้นมเพราะต้องรักษาตัวคุณแม่เอง แต่ถึงจะต้องหยุดช่วงให้นมแม่ไป ถ้าคุณแม่ยังมีนมสต็อคสะสมไว้พอในช่วงนี้ก็ให้ลูกกินนมแม่จากขวดไปก่อนได้ค่ะ แต่ถ้าไม่มีแม้แต่สต็อคเลยจำเป็นต้องใช้นมผงไปก่อนก็ไม่ว่ากันค่ะ ไว้หายดีแล้วค่อยกลับมาสู้กันใหม่นะคะ