Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิคให้ลูก “หย่านม” แบบไม่ทำให้ลูกเสียใจ

การให้ลูกได้เข้าเต้าดูดนมแม่ มันช่างเป็นอะไรที่มีความสุขและวิเศษที่สุดเท่าที่คนเป็นแม่พึงได้รับ ลูกน้อยเองก็ได้ทั้งอิ่มท้อง และความอุ่นกาย อุ่นใจ เมื่อแม่ประคองกอดไว้กับอก แต่หากเมื่อถึงคราวที่จะต้องหย่านมแม่แบบเข้าเต้าแล้ว ลูกๆ อาจจะรู้สึกเสียใจ และรู้สึกไม่ค่อยอบอุ่นเหมือนเคย เหมือนขณะที่คุณแม่อุ้ม

การหย่านม

การหย่านม คือ การที่คุณแม่เปลี่ยนวิธีการให้นมจากเดิมที่ดูดแบบเข้าเต้าเป็นการดูดนมแม่จากขวดแทนหรือไม่ก็เปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมผง เหตุเพราะความจำเป็นบางอย่างของคุณแม่ เช่น ต้องกลับไปทำงานตามปกติหลังจากการลาคลอด ข้อนี้คุณแม่สามารถที่จะปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกกินแบบขวดได้ กับอีกอย่างคือ ต้องเปลี่ยนจากนมแม่ที่ใส่ขวดมาเป็นนมผงแทน ข้อนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อลูกมีอายุมากกว่า 6 ขึ้นไปนะคะ
การทานนมแม่ให้ได้นานที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก เรียกได้ว่านานเท่าที่คุณแม่สบายใจหรือสะดวก เพราะนมแม่มีประโยชน์มากมายมหาศาลเลย ควรให้ลูกทานให้นานอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 เดือนนะคะ

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกพร้อมหย่านม

เด็กๆ ที่สามารถยืน เดิน หรือวิ่งได้บ้างแล้ว มักจะห่วงเรื่องการเล่นมากกว่าห่วงเรื่องการทานนมแม่ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีอายุราว 1-3 ขวบ เด็กกลุ่มนี้ได้รับอาหารเสริมที่มากกว่าการทานนมแม่ การทานนมแม่ไม่ได้เป็นการทานเพื่อให้อิ่มท้อง หรือทานเป็นอาหารหลักอีกต่อไป คุณแม่ส่วนใหญ่จึงตัดสินใจให้ลูกหย่านมในช่วงดังกล่าว แต่คุณแม่บางคนก็อาจจะปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกได้ทานต่อแทนการทานจากเต้า
เรามาดูกันค่ะว่ามีสัญญาณอะไรที่บ่งบอกว่าลูกพร้อมหย่านม

  • ห่วงเล่นจนลืมเข้าเต้า
  • ใช้เวลาในการเข้าเต้าน้อยลง แต่ดูดถี่ขึ้น แสดงว่าลูกดูดเพื่อไม่ให้เหงาปาก หรือดูดเพราะแค่รู้สึกว่าอยากเข้าเต้า
  • ในขณะที่เข้าเต้า หากมีอะไรมาดึงดูดความสนใจก็จะวอกแวกได้ง่าย และไม่ได้ดูดนม แค่ปากคาบไว้เฉยๆ
  • เริ่มกัดหรือดึงหัวนมเล่น
  • เข้าเต้าเพราะเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เพราะความหิว เช่น รู้สึกอบอุ่น ง่วงนอนอยากให้แม่อุ้มนอน รู้สึกกลัว หรือรู้สึกเสียใจ เป็นต้น

การเข้าเต้าเป็นการทำให้ลูกรู้สึกว่าอบอุ่น ปลอดภัย แต่การหย่าเต้าไม่ใช่ว่าลูกจะไม่เสียใจนะคะ แต่เมื่อถึงวัยก็จำเป็น ดังนั้น การเลิกเต้าควรทำแบบนุ่มนวล เพื่อไม่ให้ลูกเสียใจ ไม่ให้เค้ารู้สึกว่าขาดความรักจากคุณแม่ไปนะคะ

เทคนิคการหย่านม “แบบไม่ทำให้ลูกเสียใจ

ลดเวลาการเข้าเต้าให้สั้นลง

ในช่วงแรกของการทานนมให้เข้าเต้าคุณแม่ก่อน แล้วครึ่งหลังค่อยเปลี่ยนมาเป็นนมแม่หรือนมผสมจากขวดต่อ จนกว่าลูกจะอิ่ม วิธีนี้จะทำให้ลูกไม่ต่อต้านหรือไม่ทำให้เค้ารู้สึกว่าขวดจะมาแทนที่เต้า ที่สำคัญ ถือเป็นการค่อยๆ ฝึกเค้าให้คุ้นชินกับการใช้ขวดอีกด้วยค่ะ

ให้ลูกคุ้นชินกับการดูดจากขวด

เมื่อลูกเริ่มคุ้นชินกับการทานนมจากขวด (ทั้งนมแม่และนมผสม) ให้คุณแม่ค่อยๆ ลดมื้อของการเข้าเต้าลง เช่น จากเดิมเข้าเต้าทุกมื้อ อาจลดลงเป็น ดูดขวด 1 มื้อ ส่วนที่เหลือเป็นเข้าเต้า แล้วค่อยเพิ่มเป็นดูดขวด 2 มื้อ ที่เหลือเข้าเต้า ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆจนครบทุกมื้อ

หากลูกยังไม่พร้อมกับการดูดขวดมากนัก

ให้เอาลูกเข้าเต้าสลับกับการดูดขวดไปก่อน ค่อยๆ ฝึกให้เค้าคุ้นชินอีกหน่อย โดยทำสลับไปอย่างนี้ประมาณ 1 อาทิตย์ แล้วค่อยเพิ่มการทานนมจากขวดอีก 1 มื้อ แทนการเข้าเต้า

ลูกยังได้กลิ่นตัวและกลิ่นน้ำนมจากคุณแม่

สิ่งนี้อาจทำให้ลูกหย่านมได้ยาก และจะเรียกร้องหาแต่คุณแม่ ดังนั้น ในเวลาทานนมจากขวด ควรให้คนอื่นๆ เช่น คุณพ่อ คุณย่า คุณยาย หรือพี่เลี้ยง เป็นคนให้นมแทน ส่วนคุณแม่ควรหลบไม่ให้ลูกเห็น เพราะเมื่อเค้าไม่เห็นคุณแม่ (ซึ่งเค้าอาจจะร้องงอแงนิดหน่อย) เค้าจะเริ่มรู้แล้วว่าไม่ได้เข้าเต้าแน่ เค้าจะยอมทานจากขวดค่ะ

หย่านมแบบเข้าเต้าในมื้อดึก

เพราะความเคยชินที่เมื่อถึงเวลากลางดึก ลูกต้องตื่นมาเข้าเต้าคุณแม่ แต่หากต้องการหย่านมแบบเข้าเต้าในมื้อดึก ลูกอาจตื่นมาร้องไห้ ให้คุณพ่อหรือคนที่ลูกคุ้นเคยช่วยปลอบหรือกอดเค้าไว้จนเค้าหลับ เพราะอย่างน้อยเค้าก็จะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย

หากลูกต่อต้าน

คุณแม่ไม่ควรดุลูกหรือบังคับให้เค้าทานจากขวดนะคะ เพราะยิ่งจะทำให้เค้าต่อต้าน และพาลไม่ทานนมจากขวดไปเลย คุณแม่ควรหยุดการให้จากขวดสักพักประมาณ 1 อาทิตย์ แล้วค่อยมาฝึกกันใหม่

เติมเต็มความรัก ความอบอุ่น

การแสดงความรัก การกอดลูกบ่อยๆ การเล่น กับลูกจะทำให้ลูกไม่รู้สึกว่าเค้าขาดความรักคุณแม่ ซึ่งเหล่านี้สามารถทดแทนความรู้สึกลูกได้ค่ะ

การหย่านมแบบเข้าเต้าต้องใช้เวลาและความอดทนอยู่พอสมควร เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนนะคะ