Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

มาดูกันว่าคุณแม่นักปั๊มจะมีน้ำนมเพียงพอกับลูกน้อยหรือไม่

กระแสนมแม่มาแรงจริงๆ แต่ก็ต้องยอมรับถึงคุณค่าและสารอาหารที่ดีต่อร่างกายและสมองของลูกอย่างมหาศาลคุณแม่จึงควรให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเพียงพอในแต่ละวัน ซึ่งการปั๊มนมแม่บ่อยๆ จะทำให้ร่างกายสร้างน้ำนมได้เพียงพอกับความต้องการของลูก

คุณแม่ควรกำหนดปริมาณน้ำนมไว้เป็นพื้นฐานคร่าวๆ ว่าจะปั๊มให้ได้เท่าไหร่ในรอบ 24 ชั่วโมง เช่น ถ้าให้ลูกดูดนม 8 ครั้งต่อวัน ก็เท่ากับว่าลูกต้องการนมประมาณ 3 ออนซ์ต่อ 1 มื้อ ทุก 3 ชั่วโมง ปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้ก็ไม่ควรต่ำกว่ามื้อละ 3 ออนซ์ หากต้องการเก็บน้ำนมเป็นสต็อกไว้ก็ต้องปั๊มให้บ่อยขึ้นการจะปั๊มนมได้ตามเกณฑ์คือตามปริมาณการกินของลูก ร่างกายก็สร้างในปริมาณเท่านี้แค่พอให้ลูกกิน แต่จะไม่มีน้ำนมเหลือไว้เก็บสต็อก คุณแม่บางท่านก็โชคดี ที่น้ำนมไหลมาเทมาราวกับเขื่อนแตก จนเกินปริมาณที่ลูกต้องการกินในแต่ละวัน แต่ก็นับเป็นเรื่องดีเลยค่ะ

เพราะคุณแม่สามารถทำสต็อกน้ำนมสำรองไว้ให้ลูกกินได้อีกนาน แต่หากคุณแม่เห็นว่าสต็อกน้ำนมมีมากเกินไป ก็ให้ปั๊มเพียงเต้าเดี่ยวต่อครั้ง แทนที่จะปั๊มพร้อมกันทั้งสองข้าง เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้สร้างน้ำนมเพิ่มไปอีก แล้วค่อยสลับข้างกันปั๊มเอาค่ะ

น่าเสียดายที่ในสังคมเรา มีคุณแม่หลายท่านมีน้ำนมอย่างเพียงพอที่จะให้ลูกได้ดื่มกิน แต่ไม่สะดวกที่จะทำสต็อก เหตุผลจากการต้องทำงาน ต้องห่างลูก เศรษฐานะ จึงทำได้เพียงปั๊มน้ำนมส่วนเกินนี้ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

ถ้าปั๊มได้น้ำนมน้อยไปจะทำอย่างไร?

  • สำรวจดูว่าแต่ละวันปั๊มนมบ่อยแค่ไหน ซึ่งควรจะปั๊มให้ได้ทุก 3 ชั่วโมง ข้างละ 15-20 นาที วันละ 8 ครั้ง
  • รักษาระยะห่างในการปั๊มแต่ละครั้งไม่ให้ห่างกันเกิน 3 ชั่วโมง เพราะจะทำให้เต้านมเกิดอาการคัดตึง แล้วพอน้ำนมไม่ถูกปล่อยออกมา ร่างกายก็เข้าใจว่าสงสัยจะเลิกให้นมลูกแล้ว จึงหยุดการสร้างน้ำนมไปโดยปริยาย
  • ทำใจสบายๆ อย่าเครียด ก่อนปั๊มประมาณ 3-5 นาที ให้ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ สักแก้ว

ปริมาณน้ำนมที่เหมาะสมต่อลูกในแต่ละวัย

วัยแรกเกิด – อายุ 1 เดือน

ให้ปริมาณตามน้ำหนักคือ 5 ออนซ์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน โดยควรแบ่งให้เป็น 6 มื้อ เช่น ลูกหนัก 4 กิโลกรัม ก็ควรจะได้กินนม 20 ออนซ์ต่อวัน อาจขาดหรือเกินได้ไม่เกิน 4 ออนซ์ และนำนมปริมาณนั้นแบ่งออกให้ได้ 6-8 มื้อ ก็จะได้ประมาณ 3 ออนซ์ต่อมื้อนั่นเอง

วัย 1-6 เดือน

ให้ปริมาณตามน้ำหนักคือ 4 ออนซ์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน โดยควรแบ่งให้เป็น 6 มื้อ เช่น ลูกหนัก 6 กิโลกรัม ก็ควรจะได้กินนม 24 ออนซ์ต่อวัน อาจขาดหรือเกินได้ไม่เกิน 4 ออนซ์ และนำนมปริมาณนั้นแบ่งออกให้ได้ 6-8 มื้อ ก็จะได้ประมาณ 4 ออนซ์ต่อมื้อนั่นเองจะเห็นว่าพอลูกเริ่มโตขึ้น ปริมาณการให้นมในแต่ละมื้อก็จะเพิ่มขึ้น อย่าสับสนกับสูตรข้างบนที่ดูน้อยลงเมื่อเทียบกับวัยแรกเกิดนะคะ และไม่ควรให้นมลูกมากเกินไป เพราะจะส่งผลให้น้ำหนักเกินมาตรฐานได้ค่ะ

วัย 6-12 เดือน

ให้ปริมาณตามน้ำหนักคือ 3.6 ออนซ์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน สำหรับเด็กในช่วงวัยนี้จะเริ่มทานอาหารอ่อนๆ ได้แล้ว ก็จะมีเสริมเข้ามาอย่างน้อยวันละ 1 มื้อ โดยแบ่งให้มื้อนมตามวัยดังนี้

เด็ก 6-8 เดือน ควรแบ่งมื้อนมเป็น 5-6 มื้อ และอาหารเสริม 1 มื้อ
เด็ก 9-11 เดือน ควรแบ่งมื้อนมเป็น 4-5 มื้อ และอาหารเสริม 2 มื้อ
เด็ก 12 เดือน ควรแบ่งมื้อนมเป็น 4-5 มื้อ และอาหารเสริม 3 มื้อ

เช่น ลูกวัย 7 เดือน หนัก 7.5 กิโลกรัม ก็ควรจะได้กินนม 27 ออนซ์ต่อวัน อาจขาดหรือเกินได้ไม่เกิน 4 ออนซ์ อาจปัดเป็น 30 ออนซ์ แล้วแบ่งเป็น 5 มื้อๆ ละ 6 ออนซ์ แล้วให้อาหารเสริม 1 มื้อ