Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เป็นริดสีดวงตอนท้อง อันตรายไหม รับมืออย่างไร

เป็นริดสีดวงตอนท้อง อันตรายไหม รับมืออย่างไร

เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ที่มากขึ้น มดลูกมีการขยายตัวเบียดลำไส้มากขึ้นทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างไม่เป็นปกติ เริ่มตั้งแต่ระบบการย่อยอาหารตลอดไปจนถึงระบบขับถ่าย ส่งผลให้คุณแม่ท้องมีอาการท้องผูก เมื่อท้องผูกบ่อย ๆ ก็จะเกิดริดสีดวงทวารได้ บางรายอาจมีเลือดออกทั้งขณะขับถ่ายหรือหลังขับถ่าย ริดสีดวงทวารไม่ใช่โรคอะไรที่ร้ายแรงแต่ก็สร้างความรำคาญให้คุณแม่ได้ไม่น้อย

ริดสิดวงทวาร คืออะไร?

โดยธรรมชาติร่างกายของเราจะมีหลอดเลือดดำตรงบริเวณทวารหนัก ซึ่งริดสีดวงทวารนี้เกิดขึ้นเมื่อภาวะหลอดเลือดดำมีการปูดพองหรือขอดเป็นหัว และมีการปริแตกออกของผนังหลอดเลือดในขณะที่เบ่งขับถ่ายอุจจาระ เป็นเหตุให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว ซึ่งอาการดังกล่าวนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเรามีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย แต่จะไม่ได้มีอาการที่รุนแรงหรืออันตรายแต่อย่างใด มักเป็น ๆ หาย ๆ เรียกว่าเรื้อรัง สร้างความรำคาญให้มากกว่า หัวของริดสีดวงอาจพบได้หัวเดียวหรือหลายหัวก็ได้ ถ้าอาการดังกล่าวเกิดจากหลอดเลือดดำที่อยู่ตรงผิวหนังตรงปากทวารหนักจะเรียกว่า “ริดสีดวงภายนอก” ซึ่งสามารถมองเห็นจากจากภายนอก แต่ถ้าเกิดจากหลอดเลือดดำที่อยู่ภายใน เราจะเรียกว่า “ริดสีดวงถายใน” จะตรวจพบได้ก็ต้องทำการส่องกล้องตรวจลำไส้โดยตรง

เป็นริดสีดวงทวารตอนท้อง เกิดจากอะไร?

สาเหตุของริดสีดวงตอนท้องเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

ท้องผูก

คุณแม่ที่มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง ทุกครั้งที่ขับถ่ายต้องอาศัยแรงเบ่งมาก ๆ แรงเบ่งจะไปเพิ่มความดัน ส่งผลให้กลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดเจ็บ หลอดเลือดจะโป่งพองหรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย ทั้งนี้ มีงานวิจัยได้ออกมาระบุว่า 38% ของแม่ท้องมักเจอปัญหาท้องผูกขณะตั้งครรภ์

ฮอร์โมน

เมื่อคุณแม่เริ่มท้อง ฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้ปริมาณและการไหลเวียนของเลือดในร่างกายนั้นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร่างกายในส่วนล่าง แต่ระบบไหลเวียนเลือดกลับทำได้ไม่สะดวก เพราะมดลูกมีการขยายใหญ่ขึ้น ครรภ์ใหญ่ขึ้น ซึ่งไปกดทับเส้นเลือดดำตรงบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดเป็นภาวะเลือดคั่งในเส้นเลือดดำ และเกิดการบวมบริเวณทวารหนักนั่นเอง

น้ำหนักตัว

ด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นของคุณแม่ท้อง ส่งผลให้มีแรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เลือดคั่งในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้

โภชนาการที่ไม่สมดุล

คุณแม่ท้องควรได้รับโภชนาการที่ดีสมดุล หมายความว่าคุณแม่ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นผัก ผลไม้ที่มีกากใยสูง อาจต้องเลือกกินในส่วนที่มากากใยมากกว่าปกติ และดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้เพียงพอ (อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน)

นั่ง ยืน เดินนาน ๆ

อิริยาบถเหล่านี้สามารถส่งผลให้คุณแม่มีอาการท้องผูกจนเกิดอาการริดสีดวงได้ เนื่องจากเลือดจะไปรวมกันอยู่ที่ส่วนที่ต่ำที่สุดของร่างกาย จึงเกิดอาการเลือดคั่งที่บริเวณเท้าหรือบริเวณทวารหนัก

เป็นริดสีดวงทวารตอนท้อง อาการเป็นอย่างไร?

โดยทั่วไปอาการริดสีดวงตอนท้องจะมีอาการเหมือนริดสีดวงทวารทั่วไป คือ มีติ่งเนื้อสีชมพูคล้ำออกมาจากทวารหนักเมื่อมีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย ทำให้มีอาการเจ็บ ปวด บวม และคันระคายเคืองได้
ในกรณีที่เป็นมาก ๆ หลอดเลือดจะบวมมาก ก้อนเนื้อที่โผล่ออกมาก็จะใหญ่ขึ้น ซึ่งถ้าเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันขึ้น ริดสีดวงจะกลายเป็นก้อนแข็ง หรือเกิดภาวะเซลล์ตาย ส่งผลทำให้มีอาการเจ็บปวดได้
ริดสีดวงภายใน สามารถแบ่งตามระยะความรุนแรงของโรคได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1

หลอดเลือดที่โป่งพอง ยังเกิดอยู่ในทวารหนักและลำไส้ตรง ยังไม่มีหัวริดสีดวงโผล่ออกมา

ระยะที่ 2

หัวริดสีดวงโผล่ออกมาอยู่บริเวณปากทวารหนักในขณะที่ถ่ายอุจจาระ แต่หัวที่โผล่ออกมานี้สามารถกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้เอง หลังจากการขับถ่าย

ระยะที่ 3

หัวริดสีดวงที่โผล่ออกมาจะไม่สามารถกลับเข้าไปในทวารหนักเองได้ หลังการขับถ่ายเสร็จ แต่ยังสามารถใช้นิ้วดันกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้

ระยะที่ 4

หัวริดสีดวงจะกลับเข้าไปภายในทวารหนักไม่ได้ และจะค้างอยู่ภายนอกทวารหนัก แม้จะใช้นิ้วดันกลับเข้าไปแล้วก็ตาม หากเข้าสู่ระยะนี้ควรปรึกษาแพทย์ทันทีก่อนที่ริดสีดวงจะขาดเลือดและเน่าตาย ซึ่งในระยะที่ 3 – 4 สามารถรักษาหายได้ด้วยวิธีการผ่าตัด

เป็นริดสีดวงทวารตอนท้อง รับมืออย่างไร?

  • ควรนอนตะแคงซ้ายทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วงลดแรงดันภายในช่องท้อง หรือถ้าคุณแม่สามารถยกขาพาดกับเก้าอี้สัก 20 นาทีโดยประมาณ ก็จะสามารถช่วยได้อีกทางหนึ่งค่ะ
  • เลี่ยงการใช้สบู่ แป้งโรยตัว หรือผ้าที่เช็ดทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของน้ำหอม แนะนำให้ล้างก้นด้วยน้ำสะอาดหลังการขับถ่าย เช็ดให้แห้งสนิท สวมกางเกงชั้นในที่ไม่รัดเกินไป
  • ไม่ควรอั้นอุจจาระ หากปวดท้องถ่าย ควรเข้าห้องน้ำทันที เลี่ยงการเบ่งอุจจาระ
  • ออกกำลังกายเบา ๆ วันละประมาณ 15-20 นาที เพื่อช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหว (เพื่อลำเลียงอาหาร) ได้ดีขึ้น

ขณะที่คุณแม่ท้องฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนไปมากและรวดเร็ว ส่งผลต่ออารมณ์และร่างกายของคุณแม่เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นหากคุณแม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะสามารถรับมือได้เร็วเท่านั้น และที่สำคัญจะได้ไม่ส่งผลต่อจิตใจทำให้คุณแม่เกิดความกังวลมากเกินไปอีกด้วยนะคะ สำหรับคุณแม่ที่วางแผนจะคลอดแบบธรรมชาติแต่มีอาการริดสีดวงอยู่อาจจะกำลังกังวลว่าจะคลอดเองได้ไหม ติดตามได้จากที่นี่เลยค่ะ >> “เป็นริดสีดวงตอนท้อง คลอดเองได้ไหม?” (Another article)


ถ้าเป็นริดสีดวงตอนท้อง อยากคลอดเอง คลอดธรรมชาติจะทำได้ไหม? แพทย์จะพิจารณาอาการจากระยะที่เป็น ระยะไหนที่แม่ไม่สามารถคลอดเองได้ คลิกที่นี่